ผ่อนคลาย'ร้านอาหาร'นั่งกินในร้านได้ถึง 3 ทุ่ม

ผ่อนคลาย'ร้านอาหาร'นั่งกินในร้านได้ถึง 3 ทุ่ม

ยอดติดโควิด19รายใหม่ยังพุ่ง นายกฯสั่งการลดผลกระทบสังคม-เศรษฐกิจสอดคล้องการระบาด พิจารณาปรับระดับสีจังหวัด ผ่อนคลายร้านอาหาร พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด นั่งกินในร้านได้ 25% ถึง 3 ทุ่ม

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 14 พ.ค.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวัน ว่า สถานการณ์โควิด19 รายใหม่ 2,256 ราย ในนี้มีจำนวนหนึ่งเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำ 183 ราย โดยเป็นติดเชื้อในประเทศ 2,068 ราย และมาจากต่างประเทศ 5 ราย รวมสะสม 96,050 ราย ทำให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 94 แล้ว
ส่วนการติดเชื้อสะสมระลอกใหม่( 1เม.ย.-14 พ.ค.64) สะสม 67,187 ราย ซึ่งตัวเลข 6 หมื่นขึ้นมาภายในไม่กี่วัน ส่วนการหายป่วยแล้ว 34,890 ราย ยังรักษาตัว 33,186 ราย อยู่ใน รพ.จำนวน 20,669 ราย และ รพ.สนาม 12,517 ราย ในจำนวนนี้อาการหนัก 1,203 ราย โดยมีคนใส่เครื่องช่วยหายใจ 408 ราย ส่วนเสียชีวิตเพิ่มเติม 30 คน ขณะที่ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนขณะนี้ฉีดแล้ว 2,124,732 โดส เป็นเข็มที่ 1 ฉีดสะสม 1,416,432 ราย และเข็มที่ 2 ฉีดสะสม 708,300 ราย(ข้อมูล 28 ก.พ.-13 พ.ค.64)
สำหรับผู้เสียชีวิต 30 คน อยู่ในกรุงเทพฯ 11 คน ราชบุรี 4 คน ปทุมธานี และสระแก้วจังหวัดละ 2 คน และที่เหลือจังหวัดละ 1 คน มีสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สุโขทัย มหาสารคาม เชียงราย สุพรรณบุรี นนทบุรี ร้อยเอ็ด พัทลุง และสุราษฎร์ธานี โดยมีโรคประจำตัว ทั้งความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไตเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคตับ โรคปอดเรื้อรัง มะเร็ง อ้วน และพบเป็นผู้ป่วยติดเตียง และยังพบว่าปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาจากคนในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ ที่สำคัญมีไปร่วมงานเลี้ยง และมีอาชีพเสี่ยง เป็นคนขับแท็กซี่อีก 2 คน ซึ่งที่ประชุมศปก.ศบค. ได้ให้ทางกรมควบคุมโรค ได้ทำสถิติความเสี่ยงต่างๆ เพื่อจัดลำดับของผู้ที่มีความสำคัญในการเข้ารับวัคซีน ซึ่งอาชีพของคนขับรถสาธารณะก็จะอยู่ในนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เสียชีวิตเป็นผู้ชาย 16 และหญิง 4 คน ขณะที่อายุค่ามัธยฐานของอายุ 63 ปี (15-85ปี)
นอกจากนี้ ตัวเลขการเข้าแอดมิทจนเสียชีวิต พบตัวเลขนานขึ้นมากกว่า 2 สัปดาห์ ดังนั้น อัตราครองเตียงจากเดิมประมาณครึ่งเดือน หรือ 14 วันของคนอาการไม่มากก็ออกไปได้ แต่พออาการหนักขึ้นมา จนกระทั่งต้องใส่ท่อช่วยหายใจและรายที่เสียชีวิต เมื่อไปดูข้อมูลสะสมพบว่า ใช้เวลานอนรพ.ยาวนานเดือนกว่าๆ จึงต้องมีการเตรียมพร้อมหาเตียงเพิ่มเติม

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการผ่อนคลายการป้องกัน ควบคุมโรคโควิด19 มีการนำเสนอจากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในเรื่องพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งนายกรัฐมนตรีในฐานะผอ.ศบค.ได้สั่งการไปบางจังหวัด บางผู้ประกอบการ บางพื้นที่ผ่อนคลายได้โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยโดยเฉพาะร้านอาหารที่เป็นปัจจัย 4 โดยคำนึงถึงการลดผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสอดคล้องกับการระบาดปัจจุบัน จึงเกิดการปรับระดับสีของพื้นที่ พิจารณาจากเกณฑ์ ต้องเกิดขึ้น 5 ข้อ ดังนี้
1.ลักษณะการระบาดในชุมชน โดยพิจารณาจากจำนวนและความต่อเนื่อง
- พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มีผุ้ป่วยมากกว่า 100 รายต่อวันอย่างน้อย 1 วัน ใน 1 สัปดาห์ หรือเฉลี่ยใน 1 สัปดาห์มากกว่า 50 รายต่อวัน
- พื้นที่ควบคุมสูงสุด มีผู้ป่วยเฉลี่ยใน 1 สัปดาห์ 20-50 รายต่อวัน
- พื้นที่ควบคุม มีผู้ป่วยเฉลี่ยใน 1 สัปดาห์ น้อยกว่า 20 รายต่อวัน
- พื้นที่เฝ้าระวังสูง มีผู้ป่วยเฉลี่ย 1 สัปดาห์น้อยกว่า 10 รายต่อวัน
- พื้นที่เฝ้าระวังพื้นที่ไม่มีผู้ป่วยอย่างน้อย 1 สัปดาห์
2.จังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับพื้นที่ที่พบการระบาดต่อเนื่อง และเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ 3.จังหวัดที่มีการระบาดในกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสแพร่เชื้อได้ง่าย
4. จังหวัดที่ติดกับชายแดน หรือเคยมีผู้เดินทางเข้าในพื้นที่ติดเชื้อ 5.สัดส่วนการได้รับวัคซีนของประชากรในพื้นที่ (ปรับลดระดับกรณีได้รับวัคซีนมาก) ทั้ง 5 ข้อนำมาพิจารณา และเมื่อพิจารณาเสร็จแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้างก็จะแบ่งออกเป็น 3 พื้นที่ คือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุม

ผ่อนคลายร้านอาหาร

กรณีพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จะมีการเปลี่ยนแปลงโดยร้านอาหารสามารถให้บริโภคในร้านได้ แต่ต้องนั่งได้ไม่เกิน 25% และเปิดไม่เกิน 21.00 น. สั่งกลับบ้านได้ไม่เกิน 23.00 น. เท่ากับว่าโต๊ะ 4 คนนั่งได้ 1 คน โดยยังงดจำหน่ายและดื่มสุราในร้าน

พื้นที่ควบคุมสูงสุดก็บริโภคในร้านได้ไม่เกิน 23.00น. และงดจำหน่ายและดื่มสุราในร้าน
พื้นที่ควบคุม บริโภคในร้านได้ตามปกติ แต่ยังงดการจำหน่ายและงดดื่มสุรา เช่นเดิม

ส่วนการใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ยังขอให้งดไปก่อน ยกเว้นมาขอบางเรื่อง เช่น มาสอบ มาจับสลาก ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดให้ใช้อาคารสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอนได้แต่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ขณะที่พื้นที่ควบคุมให้ใช้อาคารสถานที่ได้ตามมาตรการกำหนด
"จังหวัดไหนจะอยู่พื้นที่ไหน ยังต้องพิจารณาหารือและต้องนำเสนอท่านนายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค. โดยจะแจ้งรายละเอียดในวันที่ 15 พ.ค. 2564"นพ.ทวีศิลป์กล่าว