'ผู้แทนพิเศษยูเอ็น'พบ'นายกฯ' ร่วมหาทางออกอย่างสันติใน'เมียนมา'

'ผู้แทนพิเศษยูเอ็น'พบ'นายกฯ' ร่วมหาทางออกอย่างสันติใน'เมียนมา'

"ผู้แทนพิเศษเลขาฯ ยูเอ็น" เข้าพบ "นายกฯ" หารือถึงสถานการณ์ใน "เมียนมา" หวัง ไทย หนุน แสวงหาความร่วมมือ "กองทัพเมียนมา" หาทางออกอย่างสันติ พร้อมช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับเผชิญอันตราย

ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางคริสทีเนอ ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ (Mrs. Christine Schraner Burgener) ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมา เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย โดยภายหลังการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่หารือกับผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมาอีกครั้งหลังจากเคยพบปะกันเมื่อครั้งนางคริสทีเนอดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตแห่งสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ซึ่งการกลับมาไทยครั้งนี้ในฐานะผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมา สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการทำงานของนางคริสทีเนอจนได้รับความไว้วางใจจากสหประชาชาติให้ดูแลในเรื่องสถานการณ์ในเมียนมา โดยประเด็นนี้ได้รับความสนใจจากอาเซียนและประชาคมโลก ซึ่งการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนเมษายน ไทยให้ความสำคัญกับแนวทาง D4D ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอต่อที่ประชุม และพร้อมสนับสนุนฉันทามติ 5 ข้อ (Five-Point Consensus) ของอาเซียน ทั้งนี้ ไทยได้ติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด มุ่งหวังให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมา หวังว่าผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมาจะได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากการเยือนครั้งนี้ รัฐบาลพร้อมรับฟัง และแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์

162097470232

ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเรื่องเมียนมารู้สึกยินดีที่ได้กลับมาเยือนไทยและหารือกับนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง พร้อมกล่าวว่า การมาเยือนไทยและภูมิภาคอาเซียนครั้งนี้ เพื่อหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องถึงสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา โดยจากการหารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมาที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย จึงประสงค์ที่จะสานต่อกระบวนการเจรจาดังกล่าวต่อไปเพื่อนำความสงบสุขกับมาสู่เมียนมาอีกครั้ง หวังว่าไทยจะสนับสนุนกระบวนการดังกล่าว และแสวงหาความร่วมมือกับกองทัพเมียนมาในการหาทางออกอย่างสันติ

ทั้งสองฝ่ายยังหารือถึงการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าไทยดำเนินการทุกวิถีทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้สถานการณ์ในเมียนมาคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ตลอดจนให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมาและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งไทยมีประสบการณ์ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เพื่อนบ้านมายาวนาน มีการติดตามสถานการณ์ตามแนวชายแดนอย่างใกล้ชิดและเตรียมการวางแผนรับมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังยืนยันว่าจะไม่มีการส่งผู้หนีภัยกลับไปเมียนมาหากต้องเผชิญกับอันตราย โดยมีการตั้งศูนย์เพื่อรองรับผู้หนีภัยหลายแห่งตามแนวชายแดน รวมทั้งให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ที่บาดเจ็บ

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีได้ให้กำลังใจผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติฯ สำหรับภารกิจเดินทางเยือนไทยและภูมิภาคครั้งนี้ พร้อมหวังว่าผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติฯ จะช่วยสร้างความเข้าใจต่อประชาคมโลกถึงสถานการณ์ในภูมิภาค