'เฟทโก้' เชื่อเฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ยเร็ว หากขึ้นกระทบหุ้นไทยน้อย

'เฟทโก้' เชื่อเฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ยเร็ว หากขึ้นกระทบหุ้นไทยน้อย

“เงินเฟ้อสหรัฐ”เม.ย.พุ่ง 4.2% สูงเกินคาด ทุบตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งหนัก ผวาเฟดขึ้นดอกเบี้ย-ดึงเงินคิวอีกลับก่อนกำหนด ขณะที่หุ้นไทยเจอปัจจัยภายใน“ฟอร์ซเซล”ถล่มซ้ำ เฟทโก้ เชื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้เร็ว หากขึ้นจริงคาดผลระทบหุ้นไทยไม่มาก

เมื่อวันที่12 พ.ค.ตามเวลาท้องถิ่น สหรัฐอเมริกา เปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อเดือนเม.ย.สูงขึ้น 4.2% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ 3.6% และเป็นระดับเงินเฟ้อสูงสุดตั้งแต่ปี 2551 ก่อนเกิดวิกฤติการเงินโลกได้ไม่นาน เป็นปัจจัยลบที่ส่งผลให้ดัชนีหุ้นสหรัฐและดัชนีหุ้นทั่วโลกลดลงอย่างรุนแรง รวมถึงสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำก็ร่วงหนัก เนื่องจากเกรงว่า ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อเร็วกว่าที่คาดและดึงเงินคิวอี กลับ โดยเงินคิวอีและดอกเบี้ยสหรัฐที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้หุ้นขึ้นมาตลอด 1 ปีที่ผ่านมา

แม้ว่านายริชาร์ด แคลริดา รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะบอกว่า ตัวเลขจ้างงานของสหรัฐที่ขยายตัวน้อยกว่าคาดและอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเดือนเม.ย. ไม่ได้ทำให้เฟดมีแผนที่จะเปลี่ยนแปลงแนวทางการสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโตเพิ่มขึ้น พร้อมระบุว่า เฟดจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนที่จะพิจารณาเรื่องการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินก็ตาม

ตลาดหุ้นเอเชียวานนี้(13พ.ค.)แดงทั้งหมด โดยตลาดโตเกียวร่วงลงกว่า 2% ฮ่องกงที่ผูกค่าเงินกับสหรัฐปิดลบ 1.8% ตลาดโซล เวลลิงตัน และไทเป ซึ่งสะเทือนเพราะมาตรการคุมไวรัสชุดใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว ปิดลบกว่า 1% ส่วนตลาดซิดนีย์ เซี่ยงไฮ้ และกรุงเทพฯก็เจ็บหนัก ตลาดลอนดอน ปารีส และแฟรงค์เฟิร์ตเปิดตลาดมาก็ร่วงลงแรงเช่นกัน

หุ้นไทยดิ่งลึกสุด 70 จุด

ความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ลดลงตั้งแต่เปิดตลาด โดยเฉพาะช่วงบ่าย ดิ่งลึกสุดของวันถึง 70.83 จุด ก่อนจะรีบาวด์ขึ้นมาท้ายตลาดปิดที่ 1,548.13 จุด ลดลง 23.72 จุด หรือ 1.51% มูลค่าการซื้อขาย 143,714.02 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 2,458.07 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ขายสุทธิ 1,797.75 ล้านบาท สถาบันขายสุทธิ 286.29 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 4,542.11 ล้านบาท ด้านตลาดตราสารหนี้ไทย นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิิ 2,693 ล้านบาท จากวันก่อนหน้าที่ซื้อสุทธิ 6,709 ล้านบาท

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ดัชนีหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงแรงวันนี้ ก็เป็นไปทิศทางเดียวกับตลาดทั่วโลกที่ปรับตัวลดลง ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นสหรัฐ ตลาดหุ้นยุโรป ตลาดหุ้นเอเชีย จากความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นแรง ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ช้า ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกและการส่งออกของไทย รวมถึงประกอบกับผู้ติดเชื้อโควิด-19ที่ตัวเลขยังอยู่ระดับสูง ทำให้ไทยได้รับผลระทบมาก

สำหรับทิศทางเม็ดเงินต่างชาติจะผันผวนมาก ไหลออกไหลเข้าตามปัจจัยที่เข้ามากระทบรายวัน นักลงทุนจะต้องติดตามข่าว เวลาที่มีความผันผวนก็มีโอกาสในการลงทุน เพราะราคาหุ้นที่ลงมาเป็นราคาที่น่าสนใจในการลงทุนแต่ต้องศึกษาข้อมูลก่อนพิจารณาการลงทุน

เฟทโก้เชื่อเฟดขึ้นดบ.กระทบน้อย 

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) กล่าวว่า นักลงทุนกังวลอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐปรับตัวเพิ่มสูงเกิดคาด ทำให้จากเดิมคาดว่าเงินเฟ้อของสหรัฐที่ปรับเพิ่มขึ้นจะใช้เวลานานขึ้น จากเดิมที่คาดว่าจะสูงไม่กี่เดือน ทำให้เฟดอาจส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ และอาจถอนคิวอีเร็วกว่าคาด ทำให้เกิดแรงขายหุ้นออกมาจำนวนมาก ซึ่งตลาดหุ้นไทยก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวไปด้วย

“ผมมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเร็ว แต่นักลงทุนกังวล”

สำหรับอีกปัจจัยหนึ่ง คือ ที่ผ่านมาตลาดหุ้นต่างประเทศปรับตัวขึ้นแรงทำจุดสูงสุดใหม่ พอมีปัจจัยลบเข้ามากระทบก็เป็นเหตุผลทำให้ตลาดหุ้นต่างประเทศปรับตัวลงมา แต่ตลาดหุ้นไทยไม่ใช่ เพราะที่ผ่านมาดัชนีหุ้นไทยเพิ่งกลับมาแตะช่วงก่อนโควิด-19 ที่ 1,580 จุด ซึ่งขณะนี้ก็ปรับตัวลดลงมาอีก ดังนั้นตลาดหุ้นไทยถือว่า Underperform เมื่อเทียบตลาดหุ้นต่างประเทศมาก

ทั้งนี้หากเฟดขึ้นดอกเบี้ย เชื่อว่าจะไม่กระทบกับตลาดหุ้นไทยมาก เพราะช่วงที่เฟดทำคิวอีรอบนี้เงินไม่ได้ไหลเข้ามาตลาดหุ้นไทย แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เม็ดเงินต่างชาติไหลออกราว 6 แสนล้านบาท ดัชนีที่ปรับตัวลงมาสามารถเข้าลงทุนได้ เพราะดัชนียังต่ำกว่าก่อนที่เกิดโควิด-19 ระบาด และเชื่อว่าหากครึ่งปีหลังฉีดวัคซีนตามแผน ก็จะทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น

‘ฟอร์ซเซล​’กระหน่ำซ้ำ

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า การปรับฐานลงอย่างรวดเร็วผิดปกติคาดว่าเป็นผลจากการบังคับขาย (Force Sell) ของบัญชีมาร์จิ้น อย่างไรก็ดี การปรับลงของดัชนีหุ้นมากผิดปกติเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นทั่วโลก โดยหลักมาจากแรงขายเพราะกังวลภาวะเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า ภายหลังสหรัฐประกาศตัวเลขเงินเฟ้อออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ ขณะที่ในประเทศมีปัจจัยเฉพาะตัวจากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 4,887 ราย พุ่งขึ้นกว่าเท่าตัว 

“ ดัชนีปรับลงเร็วเกินไป ซึ่งในภาวะตลาดขาลงนักลงทุนส่วนหนึ่งจะถูกบังคับขายเพื่อปิดสถานะ แต่ภายหลังการปรับลงทำจุดต่ำสุดบริเวณ 1,500 จุด ก็มีแรงซื้อคืนทันที เพราะยังไม่มีปัจจัยเชิงลบใหม่ๆ เข้ามากระทบ”

หวั่น‘ต่างชาติ’ขายหุ้นทั้งพ.ค.

สำหรับกระแสเงินลงทุนของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ คาดว่าจะไหลออกต่อเนื่องตลอดทั้งเดือน พ.ค. ภายหลังดัชนีหุ้นโลก MSCI ปรับลดการลงทุนในตลาดหุ้นไทยราว 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งความกังวลภาวะเงินเฟ้อส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับขึ้น และส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ซึ่งคาดว่าจะกดดันการลงทุนในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องจนกว่าจะถึงการประชุมเฟดในวันที่ 15-16 มิ.ย.นี้

ทั้งนี้ ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยเดือน พ.ค.มีความเสี่ยงปรับลงทดสอบแนวรับ 1,480-1,500 จุด และแนวต้านที่ 1,570-1,590 จุด แต่เชื่อว่าในเดือน มิ.ย.ดัชนีหุ้นมีโอกาสฟื้นตัวกลับมาให้ผลตอบ แทนเป็นบวก ตามสถิติย้อนหลังที่ตลาดหุ้นเดือน มิ.ย.มีโอกาสปรับตัวขึ้น หากตลาดหุ้นเดือน พ.ค.ให้ผลตอบแทนเป็นลบ รวมถึงคาดว่าเฟดจะยังส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง

คงเป้าดัชนีสิ้นปี 64 แตะ1,680จุด

นายณัฐพล กล่าวว่า สำหรับกรอบดัชนีระยะ 3 เดือนข้างหน้ามีแนวรับที่ 1,420 จุด และแนวต้านที่ 1,650 จุด ตามเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน โดยฝ่ายวิจัยยังคงเป้าหมายดัชนีปี 2564 ที่ 1,680 จุด ตามทิศทางเศรษฐกิจที่มีโอกาสฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่การลงทุนแนะนำกลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจและราคาหุ้นมีโอกาสปรับขึ้นในเดือน มิ.ย. ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มไฟแนนซ์ กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มพลังงาน 

ด้านนายกัมพล จันทวิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยไตรมาส 2 มีความเสี่ยงปรับตัวลงต่อเนื่อง แต่คาดว่าจะไม่หลุดแนวรับ 1,450 จุดจากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่ปรับขึ้น ความกังวลเฟดกลับมาขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และการดูดสภาพคล่องออกจากระบบ แต่มองว่าในช่วงที่ตลาดปรับฐานเป็นโอกาสเข้าซื้อหุ้นเพื่อรับเศรษฐกิจกลับมาเติบโตในช่วงครึ่งหลัง

‘กสิกรไทย’ชี้ปรับฐานช่วงสั้น

นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้น 2 วันที่ผ่านมา (12-13 พ.ค.) ปรับตัวลงทั่วโลกไม่เฉพาะตลาดหุ้นไทย เพราะเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นกระทบอัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E Ratio) ของตลาดหุ้นให้ถูกดาวน์เกรดลง จากระดับมากกว่า 20 เท่า เหลือ 17-18 เท่า ส่งผลให้หุ้นในตลาดถูกเทขายออกมา โดยประเมินแนวรับของดัชนีระยะสั้นที่ 1,470-1,535 จุด แต่คงกรอบรายเดือน พ.ค.ที่ 1,535-1,620 จุด

อย่างไรก็ดีชี้ว่าเงินเฟ้อไม่ใช่ตัวกำหนดทิศทางของตลาดหุ้นที่แท้จริง โดยความเสี่ยงปรับฐานของตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลกในระยะยาวจะเกิดขึ้นต่อเมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่แท้จริงกลับทิศมาติดลบน้อยลง รวมถึงดัชนีค่าเงินดอลลาร์จะต้องกลับทิศกลับมาเป็นแข็งค่าด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันยังไม่เกิดขึ้น

แนะซื้อจังหวะหุ้นปรับฐาน

นายสมิทธิ์ พนมยงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด หรือ GULF กล่าวว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกและหุ้นไทย ปรับตัวขึ้นแรงได้ในช่วงโควิด-19รอบนี้ เนื่องจากธนาคารกลางต่างๆในการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบมากกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19และเงินเข้าไปถึงการใช้จ่ายระดับครัวเรือน ทำให้มีความกังวลเงินเฟ้อสหรัฐพุ่ง ส่วนตัวมองว่าเงินเฟ้อรอบนี้ ยังกระทบหุ้นไทยระยะสั้นถึงกลางเท่านั้น หากตลาดปรับฐานรอบนี้น่าลงทุนทั้งหุ้นต่างประเทศและหุ้นไทย 

นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง จำกัด กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2 ปี 2564 มีความเสี่ยงปรับฐานต่อเนื่องท่ามกลางความกังวลเงินเฟ้อ อีกทั้งเป็นการขายทำกำไรหลังจากที่ดัชนีหุ้นปรับขึ้นตอบรับปัจจัยบวกมามากแล้ว โดยคาดว่าดัชนีหุ้นไทยจะปรับฐานลงราว 7-10% หรือที่แนวรับบริเวณ 1,460-1,488 จุด และมีแนวต้านสำคัญที่ 1,600 จุด

“แต่ในมุมมองของกองทุน การปรับฐานลงเป็นโอกาสซื้อเพื่อรับผลตอบแทนในอนาคต จากภาพใหญ่ที่เศรษฐกิจทั่วโลกทยอยฟื้นตัว แม้ว่าตลาดหุ้นไทยจะเผชิญโควิด-19 ระลอก 3 แต่เชื่อว่าภายหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะเป็นแรงหนุนต่อเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่า ณ สิ้นปี 2564 ดัชนีหุ้นมีโอกาสปรับขึ้นเหนือ 1,600 จุด”

"ซีไอเอ็บี"เชื่อเฟดไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า กว่าจะเห็นสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยได้ คงไม่ใช่ปีนี้ เพราะก่อนจะมีการขึ้นดอกเบี้ย อาจเห็นเฟดถอนคิวอี ที่อยู่ในระบบ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ออกก่อน เพราะปัจจุบันสภาพคล่องยังล้นระบบ ซึ่งคาดว่าจะเห็นการถอนคิวอีราวปลายปีนี้ และเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ปีหน้า ซึ่งเร็วกว่าที่นักลงทุนคาดในปี 2566 ทำให้อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนกังวลได้

“ผลกระทบค่าเงิน และเงินทุนไหลออกเชื่อว่าไม่ได้รุนแรง และไม่ได้มีนัยสำคัญ เพราะเงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อย ขณะที่เงินทุนไหลออกก็ยังไม่เห็นภาพนั้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะก่อนหน้านี้ตลาดก็ปรับตัวรับข่าวนี้ไปแล้ว”

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี กล่าวว่า แม้จะเห็นเงินเฟ้อปรับขึ้น แต่ดีมานด์โดยรวมยังไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ขณที่ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐก็ไม่ได้อยู่ในระดับที่ดีมาก ดังนั้นเชื่อว่า เฟดคงไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยในเร็วนี้ แต่ในด้านผลกระทบ คาดว่า อาจหนุนให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ส่งผ่านมาสู่เงินเฟ้อไทยให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่คงไม่เกิน 1.5% ปีนี้ 

บาทอ่อนตามภูมิภาค

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า เงินบาทปิดตลาดวานนี้ที่ระดับ 31.35 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากระดับเปิดตลาดที่ 31.30 บาทต่อดอลลาร์ และปิดตลาดในวันก่อนหน้าที่ 31.23 บาทต่อดอลลาร์ โดยการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงสอดคล้องกับสถานการณ์ของสกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่ ขณะที่เงินดอลลาร์มีแรงหนุน จากความกังวลเกี่ยวกับสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด ที่อาจจะมาเร็วเพื่อสกัดแรงกดดันเงินเฟ้อ นอกจากนี้เงินบาทที่อ่อนค่ายังสอดคล้องกับแรงขายยสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 31.20-31.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามน่าจะอยู่ที่สถานการณ์โควิด-19ทั้งไทยและต่างประเทศ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สำคัญ ได้แก่ ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนพ.ค.