โฆษณาพ้นติดลบ 4 เดือนโต 3% เม.ย.แบรนด์เทงบสะพัด 9,400 ล้าน โต 30%

โฆษณาพ้นติดลบ 4 เดือนโต 3%  เม.ย.แบรนด์เทงบสะพัด 9,400 ล้าน โต 30%

ไฮซีซั่นค้าขายสินค้า ปลุกตลาดคึกคัก แบรนด์เทเงินใช้จ่ายโฆษณาเพิ่ม 30% ฟื้นอุตสาหกรรมโฆษณา4 เดือนกลับสู่แดนบวก 3% ด้าน 10 แบรนด์ใหญ่ยูนิลีเวอร์, เนสท์เล่, พีแอนด์จี, โคคา-โคล่า, โตโยต้า, อีซูซุ ทุ่มเงินเพิ่มยกแผง

เม.ย. ไฮซีซั่นของการจับจ่ายใช้สอย แบรนด์สินค้าใช้จ่ายเงินโฆษณาสะพัดกว่า 9,400 ล้านบาท เติบโต 30% ดึงอุตสาหกรรม 4 เดือนพ้นติดลบ ฟื้นตัวสู่แดนบวก 3% อาหารและเครื่องดื่ม เทเงินโต 29% ท่องเที่ยว ภาครัฐ บันเทิง ชะลอหนัก

นีลเส็น เปิดเผยภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณา 4 เดือนแรก มีการเติบโต 3% เม็ดเงินสะพัด  36,162 ล้านบาท ถือเป็นสัญญาณบวกที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเดือนเม.ย.แบรนด์สินค้าและบริการใช้จ่ายเงินเพื่อสื่อสารแคมเปญการตลาดอย่างคึกคักมากถึง 9,432 ล้านบาท เติบโตถึง 30% ยอดการใช้เงินดังกล่าวกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้อุตสาหกรรมขยายตัวสู่แดนบวกได้ จาก 3 เดือนแรกอยู่ในภาวะติดลบ 4%  

ทั้งนี้ หากแยกตามประเภทสื่อ เดือนเม.ย. ทีวีทั้งทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวีโกยเงินสะพัด 5,637 ล้านบาท เติบโต 34%  เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน สื่ออินเตอร์เน็ต 1,900 ล้านบาท เติบโต 20% สื่อโฆษณานอกบ้านและสื่อเคลื่อนที่ 922 เติบโต 10% สื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์ 380 ล้านบาท ทรงตัว สื่อสิ่งพิมพ์ 239 ล้านบาท หดตัว 11% และเป็นเพียงสื่อเดียวที่ยัง “ติดลบ” วิทยุ 283 ล้านบาท เติบโต 3% สื่อในห้าง 71 ล้านบาท เติบโต 65%

ส่วนภาพรวม 4 เดือนแรก ทีวีครองเม็ดเงินโฆษณาสูงสุดสัดส่วน 59% มูลค่าสะพัด 21,339 ล้านบาท เติบโต 3% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน สื่ออินเตอร์เน็ต 7,600 ล้านบาท เติบโต 20%  สื่อนอกบ้านและสื่อเคลื่อนที่ 3,371 ล้านบาท ติดลบ 13% สื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์ 1,581 ล้านบาท เติบโต 11% สื่อสิ่งพิมพ์ 1,022 ล้านบาท ติดลบ 15% วิทยุ 1,019 ล้านบาท ติดลบ 17% สื่อในห้าง 230 ล้านบาท ติดลบ 5% 

สถานการณ์ดังกล่าว สะท้อนเงินโฆษณาในสื่อบางประเภทเริ่มมีการฟื้นตัวได้เล็กน้อย เช่น ทีวี สื่อในโรงภาพยนตร์ เพราะหากเทียบกับไตรมาส 1 สื่อทุกประเภทอยู่ในภาวะ “ติดลบ” ยกเว้นสื่ออินเตอร์เน็ตที่เติบโตต่อเนื่อง 

สำหรับสินค้าและบริการที่มีการใช้จ่ายเงินสูงสุด 5 อันดับแรก ช่วยคืนชีพให้อุตสาหกรรมโฆษณาช่วง 4 เดือน ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมูลค่า 6,598 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลและเครื่องสำอาง 5,244 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% กลุ่มมีเดียและการตลาดซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจการขายตรงมูลค่า 3,888 ล้านบาท หดตัว 2% กลุ่มยานยนต์  2,408 ล้านบาท หดตัว 1% และกลุ่มเวชภัณฑ์ยา มูลค่า1,917 ล้านบาท หดตัว 3%   

    ขณะที่กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าใช้เงินในอัตราเติบโตสูงสุด 46% แต่เม็ดเงินรวม 1,173 ล้านบาท ส่วนอีกกลุ่มที่น่าสนใจคือสินค้าในครัวเรือนมูลค่า 1,379 ล้านบาท เติบโต 16% เห็นได้จากหลายแบรนด์โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม แบรนด์คอมฟอร์ท, ดาวน์นี่, ไฮยีนส์, แวนิช ออกซี่แอคชั่นและผงซักฟอกเปาฯ ปล่อยโฆษณาทางทีวีกันอย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นกลับมาใช้จ่ายเงินโฆษณา ได้แก่ อุตสาหกรรมบันเทิง 63 ล้านบาท หดตัว 69% ท่องเที่ยว 411 ล้านบาท หดตัว 63% ภาครัฐ 826 ล้านบาท หดตัว 32% และการเงิน 1,277 ล้านบาท หดตัว 23% เป็นต้น 

    อย่างไรก็ตาม 3 ยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุด คือบริษัท ยูนิลีเวอร์(ไทย) โฮลดิ้งส์ จำกัด มูลค่า 1,681 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามด้วยบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด มูลค่า 1,133 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84% และบริษัท พร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (ประเทศไทย) จำกัดหรือพีแอนด์จี มูลค่า 810 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ทั้งนี้ เฉพาะเดือนเม.ย.บริษัทสินค้าอุปโภครายใหญ่ รวมถึงยานยนต์จำนวน 10 บริษัทแรก ใช้เงินโฆษณาเพิ่มยกแผง เช่น ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้งกว่า 496 ล้านบาท, เนสท์เล่(ไทย)กว่า 244 ล้านบาท พีแอนด์จีกว่า 196 ล้านบาท, แมส มาร์เก็ตติ้ง(ยาสีฟันเทพไทย)กว่า  156 ล้านบาท, โคคา-โคล่า ประเทศไทยกว่า 142 ล้านบาท, คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย)กว่าา 121 ล้านบาท, อายิโนะโมะโต๊ะกว่า 113 ล้านบาท, ที่ติดโผท็อป 10 คือ Reckitt Benckiser Group (เดทตอล ดูเร็กซ์  สกอลล์  เคลียราซิล )กว่า 111 ล้านบาท, โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยกว่า 110 ล้านบาท และตรีเพชรอีซูซุ เซลส์กว่า 108 ล้านบาท