AWC ไตรมาส1/64ขาดทุน 594 ล้าน พิษโควิดฉุดรายได้ร่วงหนัก

AWC ไตรมาส1/64ขาดทุน 594 ล้าน พิษโควิดฉุดรายได้ร่วงหนัก

AWC ไตรมาส1/64ขาดทุน594 ล้าน จากช่วงเดียวกันปีก่อนกำไร 264 ล้านบาท เหตุ โควิดระบาดกระทบธุรกิจกดดันรายได้ลด 56%


บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน)หรือ AWC แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส1ปี2564 ขาดทุนสุทธิ 594 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่กำไรสุทธิ 264.51 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจโรงแรมและการบริหาร ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ และธุรกจิอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า ได้รับผลกระทบจากการให้ส่วนลดค่าเช่ากับผู้เช่าพื้นที่ เพื่อช่วยให้คู่ค้าของบริษัทสามารถผ่านวิกฤติครั้งนี้ ทำให้รายได้รวมปรับตัวลดลง56%อยู่ที่ 1,109 ล้านบาท

ทั้งนี้AWC ได้เตรียมความพร้อมด้านทรัพยากร และเสริมความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ภายในองค์กร โดยพร้อมสนับสนุนแผนการดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูธุรกิจให้กลับมาสู่สภาวะปกติและเติบโตอย่างต่อเนื่องภายหลังจากที่เราสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาด้วยการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมอย่างทั่วถึง


นอกจากนี้ ทรัพย์สินที่ดำเนินการปกติของบริษัทเป็นทรัพย์สินที่มีคุณภาพ ในกลุ่มธุรกิจโรงแรมมี RGI Index ที่
สูง โดยภาพรวมของธุรกิจโรงแรมมี RGI Index เท่ากับ 124.4 โรงแรม ภูเก็ต แมริออท รีสอร์ท แอนด์ สปา, ในยางบีช และ
โรงแรม เลอ เมอริเดียน กรุงเทพ มีค่า RGI Index ที่สูงที่สุด เท่ากับ 363.4 และ 324.3 ตามลำดับ บริษัทเชื่อมั่นในความ
ร่วมมือกับพันธมิตรเครือข่ายโรงแรมระดับโลกที่พร้อมนำนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาพักและใช้บริการในโรงแรมของกลุ่ม
AWC เมื่อสถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติ


ในส่วนของธุรกิจศูนย์การค้าของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ดี คาดว่าอัตราการเช่าพื้นที่จะกลับมาอยู่ในระดับดำเนินงานปกติ และสำหรับธุรกิจอาคารสำนักงานของบริษัทเป็นอาคารเกรด A ในย่านธุรกิจ (CBD) ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีผลการดำเนินงานที่ดี บริษัทยังมี 4 โครงการที่ได้เปิดดำเนินการเพิ่มเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา โดยจัดเป็นสินทรัพย์ที่อยู่ในช่วงดำเนินงานเริ่มต้นของบริษัทประกอบด้วย โรงแรมมีเลีย เกาะสมุย, เรือสิริมหรรณพ, โครงการลาซาล อเวนิว เฟส 2 และโรงแรมบันยันทรี กระบี่ โดยทั้ง 4 โครงการดังกล่าว ได้เริ่มสร้างกระแสเงินสดให้กับบริษัท และยังสามารถสร้างผลประกอบการได้สูงกว่าตลาด ดังเช่น โรงแรมบันยันทรี กระบี่ ที่มี RGI Index สูงถึง 213.5


ในด้านการบริหารงาน บริษัทมีการปรับโครงสร้างองค์กรควบคู่กับการควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด (Cost Control and Efficiency Initiatives) เพื่อให้การใช้จ่ายมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยในไตรมาส 1/2564 บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจากธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ที่ร้อยละ 39.5และร้อยละ 26.5เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรวมลดลงร้อยละ 30.3เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรวมแล้วทำให้โครงสร้างค่าใช้จ่ายมีประสิทธิภาพขึ้น และจะทำให้อัตราส่วนอิบิทดาต่อรายได้ (EBITDA Margin) สูงขึ้น


บริษัทยังได้เล็งเห็นถึงโอกาสของทรัพย์สินคุณภาพที่ดำเนินงานในปัจจุบัน รวมทั้งโครงการในอนาคตที่ได้ทำสัญญาจะซื้อทรัพย์สินเข้ามาสร้างกระแสเงินสด โดยโครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาอีกหลายโครงการที่สามารถเพิ่มการเติบโตให้แก่บริษัทได้อย่างยั่งยืนในอนาคต สำหรับแผนการเติบโตในระยะยาว บริษัทยังเล็งเห็นโอกาสการลงทุนทั้งจากสัญญาให้สิทธิ (ROFO/ROFR) ของ TCC และบุคคลภายนอก ที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับ AWC ในอนาคต


บริษัทเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถือได้ว่ายังมีศักยภาพที่แข็งแกร่งในระยะยาว เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย
และนักท่องเที่ยวทั่วโลกกลับมาเยือนประเทศไทย รวมทั้งลูกค้าที่จะกลับมาใช้บริการที่ตอบโจทย์ไลฟ์ สไตล์ AWC ได้
เตรียมความพร้อมของสินทรัพย์คุณภาพทั้งกลุ่มธุรกิจโรงแรม และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ที่จะกลับมา
เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต