'ประชาธิปัตย์' ทำร่างแก้รัฐธรรมนูญ เสร็จแล้ว เตรียมส่งให้ 'ชาติไทยพัฒนา-ภูมิใจไทย' พิจารณา

'ประชาธิปัตย์' ทำร่างแก้รัฐธรรมนูญ เสร็จแล้ว เตรียมส่งให้ 'ชาติไทยพัฒนา-ภูมิใจไทย' พิจารณา

โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เผย ทีมกฎหมายทำเนื้อหาแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นเสร็จแล้ว เตรียมมอบ "ชินวรณ์" หารือพรรคร่วม ระบุ ได้ปรับปรุงเรื่องบัญชีนายกฯ เล็กน้อย

         นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ฐานะทีมกฎหมายของพรรค เปิดเผยว่า คณะทำงานของพรรค ได้จัดทำเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใน 6 ฉบับแล้วเสร็จแล้ว และเตรียมส่งให้นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะวิปรัฐบาล นำไปพูดคุยกับพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคภูมิใจไทยอีกทั้ง ทั้งนี้ในสาระของเนื้อหานั้น ล่าสุดได้ปรับแก้ในรายละเอียดว่าด้วยการเสนอบัญชีบุคคลที่พรรคการเมืองจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี จากเดิมที่กำหนดเป็นบทบังคับให้พรรคการเมืองต้องเสนอ ปรับแก้ไขว่า ให้เป็นสิทธิของพรรคการเมืองจะเสนอหรือไม่ก็ได้ แต่ได้กำหนดว่าบุคคลที่จะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องมาจากประชาชน โดยจะมาจากบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่เสนอ หรือ มีตำแหน่ง ส.ส.

         โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยังกล่าวถึงระบบเลือกตั้งที่เสนอแก้ไขให้ใช้ระบบเลือกตั้งเหมือนรัฐธรรมนู​ญ พ.ศ.2550 มีส.ส.เขต 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทั้งนี้จะมีรายละเอียดที่ต้องหารือกับตัวแทนของพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา ถึงหลักเกณฑ์คำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคพึงมี เมื่อนับจากคะแนนเลือกตั้งส่วนของการเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยสาระนั้นจะไม่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่จะต้องไปกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.

         “เมื่อระบบเลือกตั้งปรับใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ต้องปรับปรุงการคำนวณหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงมี โดยแยกออกจากคะแนนที่เลือกส.ส.เขต เบื้องต้นคือจะต้องคำนวณจำนวน ส.ส.​ที่สอดรับกับสัดส่วนของคะแนน ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวต้องคุยและหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลที่จะร่วมยื่นญัตติด้วยกัน เบื้องต้นนั้นได้เตรียมเอกสารและรายละเอียดไว้” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว.

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทำเป็นต้นร่างก่อนเสนอให้พรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคภูมิใจไทย พิจารณาใน 6 ประเด็นนั้น ได้แก่ 

       1.ประเด็นแก้ไขมาตราว่าด้วยสิทธิของประชาชน 4 มาตรา ว่าด้วย สิทธิในกระบวนการยุติธรรม, สิทธิที่ดินทำกิน, สิทธิผู้บริโภค และ สิทธิชุมชน

       2. ประเด็นระบบเลือกตั้ง โดยเนื้อหาจะยึดการเลือกตั้งที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 คือ ให้มีส.ส.เขต 400 คน, ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน เลือกตั้งโดยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

       3.ประเด็นว่าด้วยการเลือกนายกรัฐมตรี

        4. ประเด็นแก้ไข มาตรา 256 ว่าด้วยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะใช้เนื้อหาที่รัฐสภาผ่านวาระสอง ที่กำหนดให้ใช้เสียงรับหลักการ ไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 และตัดส่วนของเสียงส.ว. จำนวน 1 ใน 3 ออก

        5.ประเด็นการตรวจสอบการกระทำที่ผิดจริยธรรมของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยเสนอแก้ 2 มาตรา คือ มาตรา 236 และมาตรา 237 ที่กำหนดให้ประธานรัฐสภา เมื่อรับเรื่องจากส.ส., ส.ว. หรือสมาชิกรัฐสภา จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 แล้วต้องพิจารณาว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ากระทำตามที่ถูกกล่าวหารือไม่ ก่อนจะเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ โดยจะปรับบทบาทของประธานรัฐสภา เป็นเพียงคนกลางที่ส่งเรื่องไปยังประธานศาลฎีกา แทนการพิจารณา

         และ 6.มาตราว่าด้วยการกระจายอำนาจ เพื่อให้ความสำคัญกับท้องถิ่น การกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งตรงของประชาชน เพื่อคืนอำนาจให้กับท้องถิ่น.