‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘อ่อนค่า’ที่31.30บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘อ่อนค่า’ที่31.30บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทอ่อนค่านักลงทุนขายหุ้นไทยต่อเนื่อง ตามบรรยากทศการลงทุนไม่สดใสในช่วงนี้ และตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยง เงินเฟ้อเร่งตัวกังวลบอนด์ยิลด์สหรัฐ10ปีพุ่ง คาดวันนี้เงินบาทคลื่อนไหวในกรอบ 31.25- 31.40บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.30 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.22 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.25-31.40 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราคาดว่า เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลง หากเงินดอลลาร์สามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด นอกจากนี้ เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า หากนักลงทุนต่างชาติเดินหน้าขายหุ้นไทยต่อ ตามบรรยากาศการลงทุนที่ไม่สดใสในระยะนี้

แต่เราก็มองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะผู้ส่งออกก็รอขายเงินดอลลาร์อยู่ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ระดับ31.30-31.40 บาทต่อดอลลาร์ และเงินบาทก็มีแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ ที่เรามองว่ายังไม่สามารถจะผ่านได้เร็วในระยะสั้นนี้

ตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) อย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 จากความกังวลต่อแนวโน้มการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อหลังสหรัฐฯ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 4.2% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาอาหารสดและสินค้าพลังงานก็พุ่งขึ้นสู่ระดับ 3.0% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก ซึ่งความกังวลการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นกว่า 8bps สู่ระดับ 1.70% กดดันให้ผู้เล่นในตลาดต่างพากันเทขาย หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งอ่อนไหวกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10ปี ทำให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า 2.7% ทั้งนี้ แรงเทขายหุ้นเทคฯ ยังได้ลุกลามไปยังหุ้นในกลุ่มอื่นๆ ทำให้ตลาดเลือกที่จะลดความเสี่ยงลงกดดันให้ ดัชนี S&P500 และ ดัชนี Dowjones ปิดลบกว่า 2.2% และ 2% ตามลำดับ

ขณะที่ในฝั่งยุโรป แม้ว่านักลงทุนจะเดินหน้าเทขายหุ้นกลุ่มเทคฯ ดังจะเห็นได้จากการที่ หุ้นเทคฯ ต่างปรับฐานรุนแรงอาทิ Adyen -5.9%, Infineon -3.3%, ASML -2.1% เป็นต้น แต่ทว่า หุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ หุ้นกลุ่มยานยนต์ และกลุ่มการเงิน กลับฟื้นตัวขึ้น หนุนให้ โดยรวม ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปิดบวก 0.03%

แม้ว่าตลาดจะปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่นักลงทุนก็ไม่ได้กลับเข้ามาถือบอนด์ระยะยาวเพื่อป้องกันความเสี่ยงแต่อย่างใด เนื่องจากตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการเร่งตัวขึ้นและโอกาสที่เฟดจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน หากเศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัวแข็งแกร่งไปพร้อมกับเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเทขายบอนด์ระยะยาวกดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ พุ่งขึ้นกว่า 8bps แตะระดับ 1.70% และมีแนวโน้มที่บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะทรงตัวในกรอบใหม่ 1.65%-1.75% จนกว่า ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ภายหลังการรับรู้รายงานเงินเฟ้อจะยืนกรานไม่รีบปรับนโยบายการเงิน เพราะเฟดยังเชื่อว่าเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นชั่วคราว ซึ่งภาพดังกล่าวอาจช่วยชะลอการเร่งตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ได้

ทั้งนี้ เมื่อบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นแรงจนทำให้ตลาดการเงินปั่นป่วนหนัก ผู้เล่นในตลาดจึงเลือกที่จะถือเงินดอลลาร์มากขึ้น เพื่อเป็นหลุมหลบภัย (Safe Haven) จากความผันผวนในตลาดชั่วคราว ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นราว 0.7% สู่ระดับ 90.7 จุด  โดยค่าเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงกว่า 1% สู่ระดับ 109.7 เยนต่อดอลลาร์ ส่วนเงินยูโร (EUR) ก็อ่อนค่า 0.6% สู่ระดับ 1.207 ดอลลาร์ต่อยูโร

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อติดตามมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและโอกาสที่เฟดจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อล่าสุดเร่งตัวขึ้นมากกว่าคาดไปมาก ซึ่งเรามองว่า ตลาดการเงินอาจเริ่มคลายกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นได้บ้าง หาก เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่จะยืนยันว่า เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเป็นเพียงสิ่งชั่วคราวและเฟดจะยังไม่รีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน