โบรกชี้‘เอ็มเอสซีไอ’ลดน้ำหนักหุ้นไทย กดดันดัชนีปลายเดือนนี้

โบรกชี้‘เอ็มเอสซีไอ’ลดน้ำหนักหุ้นไทย กดดันดัชนีปลายเดือนนี้

บล.โนมูระพัฒนสิน เผย เอ็มเอสซีไอ ลดน้ำหนักหุ้นไทยเหลือ 1.73% จาก 1.83% คาดแรงขายหุ้นไทยกว่าหมื่นล้าน กดดันดัชนีปลายเดือนนี้ สถาบันในประเทศ-ต่างชาติขายหนักรวมกว่า 6 พันล้าน

ความเคลื่อนไหว ตลาดหุ้นไทยวานนี้ (12 พ.ค.) ผันผวนหนัก โดยในช่วงช่วงเช้าปรับตัวในลดลงต่ำสุด 20.99 จุด อยู่ที่ 1,557.94 จุด ก่อนจะรีบาวด์ขึ้นมาในช่วงท้ายตลาดโดยกลับมาปิดที่ 1,571.85 จุด ลดลง 7.08 จุด หรือ 0.45% มูลค่าซื้อขาย 117,160.58 ล้านบาท

นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 3,374.88 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 3,256.24 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 121 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนทั่วไปในประเทศซื้อสุทธิ 6,509.73 ล้านบาท

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน กลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระพัฒนสิน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงตามทิศทางตลาดหุ้นในภูมิภาค และทิศทางตลาดหุ้นโลก จากความกังวลตัวเลขเศรษฐกิจในสหรัฐที่ร้อนแรง ประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งจะต้องติดตามการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่เตรียมประกาศออกมาในวันนี้ (12 พ.ค.)

รวมถึง MSCI ประกาศลดน้ำหนักหุ้นไทย จาก 1.83% เหลือ 1.73% คิดเป็นเงินไหลออกราว 10,500 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลในวันที่ 27 พ.ค.2564 โดยซึ่งมีหุ้นใหญ่ที่ถูกลดน้ำหนัก คือ KBANK, SCC, PTT, INTUCH, CPN CPALL, EGCO, TU ราว 8-94 ล้านดอลลาร์ และคาดมีแรงขายจากหุ้นที่ถูกคัดออกในการคำนวณดัชนี MSCI Global Standard 2 บริษัท คือ KBANK-F คาดแรงขาย 210 ล้านดอลลาร์ และ DTAC คาดมีแรงขาย 33 ล้านดอลลาร์ แม้จะมีแรงซื้อในหุ้นเข้าใหม่ และหุ้นที่มีการปรับเพิ่มน้ำหนัก ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กดดันตลาดหุ้นไทย

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในเดือนพ.ค.นี้ ยังไซด์เวย์ถึงไซดเวย์ดาวน์ ในกรอบ 1,550-1,580 จุด กลยุทธ์ยังคงเน้นเลือกหุ้นรายกลุ่มในกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี โภคภัณฑ์และส่งออก รวมถึงหุ้นที่ถูกเพิ่มน้ำหนักใน MSCI นอกจากนี้ยังติดตามยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศที่อาจส่งผลต่อตลาดได้เช่นกัน

162086225961

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า นอกจากติดตามการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐและการปรับน้ำหนักดัชนี MSCI ที่จะมีผลในปลายเดือนพ.ค.นี้แล้ว ยังมีปัจจัยลบกดดันโดยเฉพาะ “หุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน” เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ลากยาว อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพลูกหนี้ลดลงและมาตรการภาครัฐที่จะสนับสนุนให้มีการปรับปรุงโครงสร้างของลูกหนี้ด้วยการแฮร์คัทหนี้ ไม่ได้ส่งผลดีต่อสถาบันการเงินในระยะข้างหน้า

ประเมินกรอบดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ 1,550-1,600 จุด รอติดตามปัจจัยใหม่ที่จะมีผลต่อทิศทางในระยะถัดไป ระยะสั้นตลาดยังเคลื่อนไหวตามปัจจัยภายนอก และผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2564 รวมถึงแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของเฟดที่เกิดจากเงินเฟ้อเร่งตัว