คืนสิทธิ! 'จินตนันท์-พล.อ.นิพัทธ์' ศาลชี้ไม่ขาดคุณสมบัติสมัครกสม.

คืนสิทธิ! 'จินตนันท์-พล.อ.นิพัทธ์' ศาลชี้ไม่ขาดคุณสมบัติสมัครกสม.

ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย 'จินตนันท์-พล.อ.นิพัทธ์' ศาลชี้ไม่ขาดคุณสมบัติสมัครกสม. เหตุตำแหน่งสนช.แค่รักษาการไม่ใช่ส.ส.-ส.ว. พร้อมคืนสิทธิสมัครกสม.

เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งคำร้องของ น.ส.จินตนันท์ ชญาต์รศุภมิตร และ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้เข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรื่องพิจารณาที่ ต.44/2563 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า

การที่คณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วินิจฉัยตัดสิทธิในการเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพราะมีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 10 (18) กรณีเคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ขัดต่อหลักความเสมอภาค ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 หรือไม่นั้น

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 มาตรา 10 บัญญัติลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชน ไว้ว่า

กรรมการต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ ..(18) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) สมาชิกวุฒิ (ส.ว.) สภาข้าราชการการเมืองหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะ 10 ปีก่อนเข้ารับการสรรหารัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตรา 263 วรรคหนึ่ง เป็นบทเฉพาะกาลบัญญัติให้ในระหว่างที่ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิ สภาตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ยังคงทำหน้าที่รัฐสภา ส.ส. และ ส.ว.ต่อไป

และให้ สนช.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวัน ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ทำหน้าที่เป็นส.ส. หรือส.ว.ตามลำดับ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้และให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลงในวันก่อนวันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นตามรัฐธรรมนูญนี้

ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 1/2560 วินิจฉัยไว้แล้วว่า “... บทเฉพาะกาลที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นบทบัญญัติที่ยกเว้นเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจำเป็นต้องมีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับก่อนกับฉบับปัจจุบัน เพื่อให้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างราบรื่นและเหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองในระยะเริ่มแรก รวมทั้งเพื่อให้องค์กรนั้น สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติ ตลอดไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ให้เกิดช่องว่างอันจะส่งผลให้เกิดการปฏิบัติหน้าที่ต้องหยุดชะงัก จนกว่ากลไกที่กำหนดขึ้นใหม่หรือใช้บังคับนั้นมีความพร้อมหรือสามารถดำเนินการได้แล้วแต่กรณี...

“การปฏิบัติหน้าที่ของสนช. จึงอยู่ในฐานะของการทำหน้าที่แทนส.ส.และส.ว.ชั่วคราวในสถานการณ์ที่จำเป็นระหว่างรอการจัดตั้งองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ประกอบกับเมื่อพิจารณาคุณสมบัติที่มาระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งและกรณีอื่นอีกหลายประการของสนช.มีความแตกต่างจากของส.ส.และส.ว.

การที่รัฐธรรมนูญมาตรา 263 วรรคหนึ่งบัญญัติให้สนช.ทำหน้าที่เป็น ส.ส.หรือวุฒิสภา ตามลำดับนั้น ย่อมหมายถึงการให้สนช. ทำภารกิจของตนด้วยความรับผิดชอบอย่างส.ส.และส.ว.โดยเป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แทนในระหว่างที่ยังไม่มีส.ส. วุฒิสภาและรัฐสภา แต่มิได้หมายความว่าสนช.เป็น ส.ส.หรือส.ว. ดังนั้นการที่ผู้ร้องเรียนทั้ง 2 เคยดำรงตำแหน่งสนช.ไม่ถือว่าเป็นหรือเคยเป็นส.ส.หรือส.ว.

คดีนี้ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติของผู้ถูกร้องดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 โดยอ้างว่าไม่สอดคล้องกับการวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหากรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน มติดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมขัดต่อหลักความเสมอภาคนั้น  เห็นว่าไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคณะกรรมการ สรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเคยให้ผู้อื่นที่เป็นหรือเคยเป็นสนช.ได้รับการสรรหาเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็น กรรมการสิทธิมนุษยชน แต่ปรากฏตามคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและเอกสารประกอบของผู้ถูกร้องว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติวินิจฉัยมาโดยตลอดว่าบุคคลใดที่เคยเป็นหรือเป็น สนช.มีลักษณะต้องห้าม ทำให้ไม่มีสิทธิเข้ารับการสรรหาได้ ซึ่งไม่มีความแตกต่างไปจากการวินิจฉัยกรณีของผู้ร้องเรียนทั้งสอง มติดังกล่าวไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาค จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 ส่วนคำขออื่นไม่จำต้องวินิจฉัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากขอให้ศาลวินิจฉัยว่าคณะกรรมการสรรหากสม.ตัดสิทธิ์โดยไม่เป็นธรรม แล้ว น.ส.จินตนันท์ และ พล.อ.นิพัทธ์ ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งเพิกถอนมติที่วินิจฉัยตัดสิทธิบุคคลทั้งสอง พร้อมคืนสิทธิให้เป็นผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น กสม.ด้วย