ดีเดย์! เปิดประมูล 'วงโคจรดาวเทียม' ก.ค.นี้

ดีเดย์! เปิดประมูล 'วงโคจรดาวเทียม' ก.ค.นี้

บอร์ดกสทช เคาะวัน 24 ก.ค. เป็นวันประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม ครั้งแรกของประเทศไทย เปลี่ยนผ่านจากสัมปทานมานานกว่า 20 ปีเข้าสู่ระบบเสรีในธุรกิจอวกาศ

พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (12 พ.ค. 2564) ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ปรับปรุงภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเพิ่มเติมแล้ว และให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป พร้อมทั้งเห็นชอบกรอบเวลาการดำเนินการประมูลฯ โดยกำหนดวันที่ 24 ก.ค. 2564 เป็นวันประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ครั้งแรกของประเทศไทย โดยผู้เข้าร่วมประมูลได้ต้องผ่านเกณฑ์ด้านประสบการณ์ก่อน จึงจะสามารถเข้าร่วมแข่งขันการประมูลได้ โดยจะใช้วิธีการประมูลทีละชุด แบบ Sequential Ascending Clock Auction (SACA)  

รายละเอียดของกรอบเวลาในการดำเนินการประมูลฯ เป็นดังนี้

  1. เปิดให้รับคำขอ วันที่ 21 พ.ค. 2564
  2. การให้ข้อมูลสำหรับการเตรียมเอกสารที่ใช้ในวันขอรับอนุญาต วันที่ 22 พ.ค. – 20 มิ.ย. 2564
  3. เปิดให้ยื่นขอรับอนุญาต วันที่ 21 มิ.ย. 2564
  4. ประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการคัดเลือก วันที่ 5 ก.ค. 2564
  5. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์ประสบการณ์ วันที่ 12 ก.ค. 2564
  6. การให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประมูลสำหรับผู้เข้าร่วมประมูล และ Mock Auction วันที่ 19 – 21 ก.ค. 2564
  7. วันประมูล 24 ก.ค. 2564
  8. ประชุม กสทช. รับรองผลการประมูล ภายใน 7 วัน

รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ชุดข่ายงานดาวเทียมทั้ง 4 ชุด ที่จะนำมาประมูลในครั้งนี้ ได้แก่

            ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1, N1 และ P1R) และ วงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ราคาขั้นต่ำ 676.914 ล้านบาท

            ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ 78.5E) ราคาขั้นต่ำ 366.488 ล้านบาท

            ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ 119.5E) และ วงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ราคาขั้นต่ำ 392.950 ล้านบาท

            ชุดที่ 4 ประกอบด้วย วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) และ วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5) ราคาขั้นต่ำ 364.687 ล้านบาท

การประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่จะเกิดการอนุญาตและเปิดตลาดเสรีดาวเทียมไทย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบการอนุญาต โดยสัมปทานดาวเทียมไทยคมถือเป็นสัมปทานด้านการสื่อสารสุดท้ายของประเทศไทยที่จะสิ้นสุดในวันที่ 10 กันยายน 2564 นี้ ส่งผลให้กิจการดาวเทียมไทยมีการเดินหน้าต่อยอดต่อไปได้อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อที่จะให้ประชาชนได้รับบริการจากเทคโนโลยีใหม่ของดาวเทียมที่มีความก้าวกระโดดทั้งในส่วนของดาวเทียม Broadcast และ Broadband ต่อไป พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ฯ กล่าว