'สิงห์ เอสเตท' ซื้อนิคมฯต่อยอดธุรกิจไฟฟ้า

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) หนึ่งในผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S ที่กำลังรุกเข้าสู่กลุ่มธุรกิจใหม่ในกลุ่ม New S-curve อย่างนิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า

คุณผู้ชมครับปัจจุบันเราจะเห็นว่าสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นการพึ่งพารายได้จากธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งเพียงอย่างเดียวถือว่าค่อนข้างเสี่ยง จึงได้เห็นหลายๆ บริษัทมีการปรับตัวเข้าไปลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ นอกจากจะเป็นการแสวงหารายได้เพิ่มแล้ว ยังช่วยกระจายความสี่ยงอีกด้วย

วันนี้มีอีกหนึ่งตัวอย่างเรียกว่าเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญหนึ่งในผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S ที่กำลังรุกเข้าสู่กลุ่มธุรกิจใหม่ในกลุ่ม New S-curve อย่างนิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า

โดยล่าสุดบริษัทได้เข้าซื้อหุ้น 100% ของบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด จากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ซึ่ง ปาร์ค อินดัสตรี เป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ ซึ่งมีเนื้อที่ 1,790 ไร่ ตั้งอยู่ใน .อ่างทอง ด้วยงบลงทุนรวมทั้งสิ้น 2,421 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ใช้เพื่อซื้อหุ้น 510 ล้านบาท และอีก 1,726 ล้านบาท จะใช้ลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ส่วนที่เหลือจะเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ

แต่นี้ก็ไม่ใช่ธุรกิจใหม่ธุรกิจแรกของบริษัท เพราะก่อนหน้านี้ผู้ถือหุ้นได้อนุมัติแผนการซื้อหุ้น 30% ในโรงไฟฟ้า 3 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ โดยคิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 1,392 ล้านบาท ซึ่งโรงไฟฟ้าแห่งแรกเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัท อ่างทาง เพาเวอร์ จำกัด ที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้ว ด้วยกำลังการผลิต 123 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าแห่งที่สองและสาม เป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง โดยมีกำหนดจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2566 มีกำลังการผลิตแห่งละ 140 เมกะวัตต์

โดยคุณจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ บมจ. สิงห์ เอสเตท ระบุว่า การซื้อนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับโรงไฟฟ้าสามแห่งที่บริษัทเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนที่มากพอสมควรนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่ง ในการเดินหน้าสู่เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของบริษัทที่จะสร้างจุดแข็งที่ทรงพลังให้กับธุรกิจ จากการส่งเสริมซึ่งกันและกันของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่หลากหลายของสิงห์ เอสเตท เพื่อทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งในการแข่งขัน และทำให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

ด้าน คุณฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า การผสมผสานธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเข้ากับธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า จะสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจของบริษัท ทั้งในด้านการเงินและการดำเนินงาน เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมถือเป็นหนึ่งในผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่  ซึ่งการดำเนินกิจการในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ จะทำให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง

ยิ่งนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ เน้นสินค้าอาหารโดยเฉพาะ จะทำให้มีความต้องการใช้ไอน้ำจากผู้ประกอบการแปรรูปอาหารต่างๆ ในนิคมฯ ซึ่งโรงไฟฟ้าของบริษัทก็เป็นผู้ผลิตไอน้ำที่ใช้ได้ในอุตสาหกรรมอาหารด้วย นอกจากนั้น กิจการโรงไฟฟ้ายังช่วยให้บริษัทมีรายได้อย่างต่อเนื่อง และมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ลดความเสี่ยงในเรื่องความไม่แน่นอนของกระแสเงินสดจากการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม

และที่สำคัญนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ ยังมีความสำคัญตามนโยบายการขับเคลื่อนประเทศที่มุ่งยกระดับประเทศไทยให้เป็นครัวของโลก และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลก โดยทำเลที่ตั้งของนิคมฯ แห่งนี้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความเหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางห่วงโซ่อุปทานอาหารและวัตถุดิบของประเทศ ทั้งแหล่งสำคัญในการผลิตข้าว ผลิตภัณฑ์จากนม และสัตว์ปีก นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากอยู่ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยา