'กรณ์' ผิดหวังแผนฟื้นฟูบินไทย จี้รัฐชัดเจนก่อนขาดสภาพคล่อง ส.ค.นี้

'กรณ์' ผิดหวังแผนฟื้นฟูบินไทย จี้รัฐชัดเจนก่อนขาดสภาพคล่อง ส.ค.นี้

“กรณ์” รับผิดหวังแผนฟื้นฟูการบินไทย หลังรัฐบาลไม่ชัดเจนตัดออกจากรัฐวิสาหกิจ เชื่อเจ้าหนี้โหวตผ่านแผนฟื้นฟู แต่ต้องลุ้นหนักนโยบายรัฐ หวั่นลากยาวกระทบกระแสเงินสด ส.ค.นี้

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหัวหน้าพรรคกล้า ให้สัมภาษณ์ในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ถึงความผิดหวังเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการ ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ รัฐบาลขาดความชัดเจนในความคิดแต่แรก ว่าต้องการเห็นผลลัพธ์ฟื้นฟูการบินไทยอย่างไร เพราะคนต้องการให้การบินไทยฟื้นฟูและมีการบริหารอย่างโปร่งใส นั่นคือไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป แต่ตอนนี้ไม่ได้มีความชัดเจนอย่างที่ควรเป็น เพราะวันนี้ (12 พ.ค.) ที่จะมีการลงคะแนนโหวตเจ้าหนี้ โครงสร้างทุนยังไม่มีความชัดเจน หรือปริมาณหนี้ก็ยังไม่ลดลง

โดยปัจจุบันการบินไทยยังมีภาระดอกเบี้ย 1.4 แสนล้านบาท ส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ และเจ้าหนี้ก็ยังเรียกร้องให้รัฐบาลมาค้ำประกันหนี้ใหม่ ดังนั้นหากรัฐจะเข้าไปค้ำประกัน ตามกฎหมายการบินไทยก็ต้องกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจต่อไป ต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการไปบริหาร ไม่ใช่โครงสร้างที่พวกเราต้องการจากการที่เราคาดหวังเมื่อครั้งการบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู

ดังนั้นการที่ผมบอกว่ารัฐไม่มีความชัดเจนในความคิดแต่แรก คือรัฐปล่อยให้ผู้ทำแผนทำไปเรื่อย ไม่ได้กำหนดเป้าหมายรัฐแต่แรก ว่าสุดท้ายรัฐยังมีความพร้อมหรือต้องการเป็นเจ้าของการบินไทยต่อไปหรือเปล่า และความขัดแย้งของรัฐเองในเรื่องนี้ก็ชัดเจน ในเรื่องของความเห็นไม่ตรงกันระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงการคลัง

ส่งผลให้วานนี้ (11 พ.ค.) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ ครม.จะลงความเห็นเรื่องนี้ก่อนเจ้าหนี้จะลงคะแนนวันนี้ ทุกคนคาดหวังว่าจะมีการบรรจุเป็นวาระพิจารณา ครม.ก็ไม่มี วันนี้เจ้าหนี้จะลงคะแนนก็ไม่มีข้อสรุปว่ารัฐจะทำตามข้อเสนอนี้หรือไม่ ดังนั้นโหวตไปก็อาจจะล้มได้อยู่ดีในอนาคต เพราะเงื่อนไขสำคัญของแผนที่จะลงคะแนนในวันนี้ ต้องมีเงินกู้ใหม่ 5 หมื่นล้าน ซึ่งต้องมีอย่างน้อยครึ่งหนึ่งเป็นเงินกู้ที่รัฐบาลค้ำประกัน และจะค้ำได้ก็ต่อเมื่อการบินไทยต้องกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีกครั้ง

นายกรณ์ ยังเผยด้วยว่า ต้องขอชี้แจงถึงประเภทรัฐวิสาหกิจ ปัจจุบันมีหลายประเภท กรณีรัฐไปค้ำประกันจะกลายเป็นรัฐวิสาหกิจประเภท 3 ก็ไม่ได้มีการผูกมัดการบริหารของรัฐ มีความยืดหยุ่นบริหารมากกว่า แต่หาก ครม.ยังไม่มีมติเรื่องนี้ ในขณะนี้ที่มีโหวตแผนฟื้นฟูไปแล้ว ซึ่งส่วนตัวผมเชื่อว่าจะผ่าน และหลังจากนี้หากไม่มีความชัดเจนจะทำอย่างไร เพราะการบินไทยก็ต้องเร่งหาเงินทุนใหม่ ปัจจุบันมีรายจ่ายทุกเดือน และกระแสเงินสดจะมีถึง ส.ค.นี้เท่านั้น

“ในขณะนี้เจ้าหนี้กำลังโหวตแผน ซึ่งผมเชื่อว่าจะผ่าน เพื่อไม่ให้บินไทยล้มเลย เพราะถ้าล้มก็ต้องขายทรัพย์สินแจกจ่าย เจ้าหนี้ก็คงได้หนี้คืนแค่ส่วนหนึ่ง ทำให้เสียหายมาก ดังนั้นคงจะมีการลงคะแนนให้ผ่าน แต่เมื่อเงินใหม่ยังไม่เข้ามา ส่วนสำคัญของแผนที่ต้องมีเงินใหม่ 5 หมื่นล้าน 2.5 หมื่นล้านเป็นของรัฐบาล และ 2.5 หมื่นล้านเป็นของสถาบันการเงิน ตราบใดที่ ครม.ไม่มีมติ เงินก้อนนี้ก็ไม่มา ถ้าถึง ส.ค.รัฐบาลยังไม่ชัดเจนจะเกิดอะไรขึ้น”

ทั้งนี้ ส่วนตัวผมทราบว่าเดิมทีมีข้อเสนอให้ผู้ทำแผนฯ ว่าเพื่อให้เราไปสู่เป้าหมายให้การบินไทยมีทุนใหม่เหมาะสม บริหารจัดการมืออาชีพโปร่งใส คือ ขอให้แฮร์คัท 70% ของหนี้ และ 30% ที่เหลือให้แปลงหนี้เป็นหุ้นบุริมสิทธิ คือ มีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลก่อนหุ้นสามัญ ข้อเสนอนี้มีความชัดเจนว่าหากมีการตอบรับแต่แรก แนวโน้มโอกาส คือรัฐไม่ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบินไทยเลย เพราะว่าโครงสร้างทุนที่เหมาะสมต่อการทำธุรกิจของบริษัท นักลงทุนอื่นๆ ก็มีความพร้อมใส่เงินเข้ามา

แต่เมื่อไม่มีสัญญาณชัดเจนจากทางรัฐบาลว่าข้อเสนอดังกล่าวดี เพราะว่ารัฐบาลยังกลับไปกลับมากับการตัดสินใจว่าพร้อมจะให้บินไทยไปเป็นเอกชนหรือไม่ ขาดความชัดเจนทำให้เรื่องไม่จบ และยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผมในฐานะคนไทยเสียดาย อยากเห็นบินไทยเชิดหน้าชูตา บินในต่างประเทศ แต่หากเป็นแบบนี้ก็ยังเป็นการบินไทยที่อ่อนแออยู่ การบินไทยเต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน และอาจเป็นภาระต่อไปกับประชาชน