จับสัญญาณ 'เปิดสภาฯ' จังหวะ 'ซักฟอกงบ 65 - ถล่มโควิด'

จับสัญญาณ 'เปิดสภาฯ' จังหวะ 'ซักฟอกงบ 65 - ถล่มโควิด'

พ.ร.ฎ.เปิดสมัยประชุมรัฐสภา ถูกตราขึ้น และกำหนดให้ 22 พฤษภาคม เป็นวันเริ่มเปิดสมัย ทันทีที่สภาฯ เปิดมีวาระหลายเรื่องที่สังคมจับจ้อง ถึงการอภิปรายของฝ่ายค้าน ที่จะสามารถสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาล ช่วงขาลง หรือไม่?

เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาทแล้ว

คิวต่อไป คือการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรให้พิจารณา ในห้วงเปิดสมัยประชุมที่จะเริ่มตั้งแต่ 22 พฤษภาคม นี้

สำหรับการพิจารณาวาระแรกของสภาฯ คาดว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 9 - 11 มิถุนายน ตามที่ “วิรัช รัตนเศรษฐ” ประธานวิปรัฐบาล เสนอ
และสอดคล้องกับเงื่อนไขของ “ชวน หลีกภัย" ประธานสภาฯ ที่ขอเวลาให้ ส.ส. ดูเนื้อหาก่อนพิจารณาในวาระแรกอย่างน้อย 2 สัปดาห์

แน่นอนว่า เมื่อ “สภาหินอ่อน” เปิดอีกครั้ง ย่อมเป็นทีของ “พรรคฝ่ายค้าน” ที่ได้โอกาสเดินเกมการเมือง “สู้” กับ “รัฐบาล” แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน และยิ่งเปิดเกมด้วยร่าง พ.ร.บ.งบฯ ด้วยแล้ว ยิ่งง่ายต่อการหาประเด็น เพื่อ “ดิสเครดิต” รัฐบาล

เรื่องที่คาดว่าจะหยิบยกมาเล่นงานรัฐบาล เชื่อแน่ว่าหนีไม่พ้นการแก้ปัญหาโควิด-19 ของรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ฐานะ ผอ.ศบค. ที่ผูกพันกับการใช้งบประมาณ รอบปี 2564

พ่วงกับการใช้ "งบเงินกู้” โดยเฉพาะส่วนของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ที่แบ่งเป็น

จำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท เพื่อการสาธารณสุข เช่น จ่ายค่าตอบแทน เตรียมพร้อมด้านวัคซีน สถานพยาบาล รองรับเหตุระบาดไวรัสระลอกใหม่ 

จำนวน 5.55 หมื่นล้านบาท เพื่อเยียวยาประชาชน ผู้ประกอบการ เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

และ จำนวน 4 หมื่นล้านบาท เพื่อฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภค รวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน

แม้เงินกู้เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 จะไม่เกี่ยวอะไรกับ เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.งบฯ 65 แต่ในทางการเมืองแล้ว คือ ความเกี่ยวโยงที่แยกไม่ออก เพราะเงินที่จะใช้ในปีงบประมาณต่อไป ต้องลงทุนกับการแก้ปัญหาโรคระบาดร้ายแรงที่ส่งผลกระเทือนทั้งสภาวะเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

162077524352

ประเด็นสำคัญที่ฝ่ายค้านเตรียมไว้เป็นข้อมูล ภายใต้การตรวจสอบและติดตามงบประมาณในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ​ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี “ไชยา พรหมา” ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย เป็นประธานกมธ.ฯ

พบว่า สิ่งสำคัญคือ การเบิกจ่ายงบที่ล่าช้า

ล่าสุด มีตัวเลขจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยตัวเลขของเงินกู้ส่วนสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท พบว่ามีตัวเลขเบิกจ่าย เพียง 7,102 ล้านบาท จากวงเงินที่ผ่านการอนุมัติรวม 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว ส่วนใหญ่คือค่าตอบแทน อสม. รอบตุลาคม 2563 - มีนาคม 2564

ขณะที่แผนงานที่สำคัญที่สุดต่อการแก้ปัญหาระบาดโควิด-19 เช่น เตรียมพร้อมสถานพยาบาล พัฒนาน้ำยาเพื่อตรวจโรค จัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์ จัดสร้างห้องความดันลบให้กับสถานพยาบาล ปรับปรุงห้องผู้ป่วย ล้วนยังอยู่ในขั้นตอนจัดซื้อจัดหา

ปรากฎการณ์การใช้งบประมาณ จาก “เงินกู้” 1 รอบปี ที่กฎหมายบังคับใช้ตั้งแต่ 19 เมษายน 2563 เชื่อแน่ว่าจะถูกนำมาเปรียบเทียบกับ ศักยภาพของรัฐบาลต่อการแก้ปัญหาโควิด โดยเฉพาะการระบาดระลอก 3

162077524234

ต่อมาคือ การใช้งบที่ไม่ถูกกาละเทศะ

ซึ่งเรื่องนี้ถูกเปิดหัวมาตั้งแต่เดือนแรกของปี 2564 คือ งบประมาณของกองทัพ ที่พบเงินเสนอขอก้อนใหญ่ "3.8 หมื่นล้านบาท” ของ 3 เหล่าทัพ เพื่อใช้ในด้านความมั่นคง จัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในปี 65 ทั้งที่ยามนี้่ควรใช้เงินเพื่อช่วยประชาชนสู้กับ “ไวรัสมรณะ”

หากรายละเอียดที่จะเผยในเอกสารงบประมาณฯ ถูกขุดคุ้ยและพบงบประมาณที่ใช้ไม่ถูกที่ถูกเวลาเพิ่มเติม “ฝ่ายค้าน” จะใช้จังหวะนี้ สาวหมัดใส่ “รัฐบาล” แบบไม่ยั้ง แน่นอน

ดังนั้น “เวทีสภาฯ” เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ 65 จะมีสภาพไม่ต่างจากการ "อภิปรายไม่ไว้วางใจ” เพื่อหวังผลดิสเครดิตรัฐบาล พร้อมกับปูทางไปสู่การดึงแต้มต่อให้ฝ่ายตัวเอง ในการเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึง

แม้ผลในทางกฎหมายจะไม่มีเหตุให้ “รัฐบาล” เสียงข้างมากต้องสั่นคลอน แต่ในเกมการเมืองต้องยอมรับว่ามีผลต่อกระแสในภาวะที่ “รัฐบาล” ที่อยู่ในช่วง “ขาลง”.

162077524355