‘ประชากรจีน’โตต่ำสุด-รัฐจ่อเพิ่มแรงจูงใจ

‘ประชากรจีน’โตต่ำสุด-รัฐจ่อเพิ่มแรงจูงใจ

‘ประชากรจีน’โตต่ำสุด-รัฐจ่อเพิ่มแรงจูงใจ โดยจำนวนประชากรจีน นับจนถึงสิ้นปี 2563 มีประมาณ 1,412 ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณ 72 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 0.53% เมื่อเทียบกับการสำรวจเมื่อ 1 ทศวรรษก่อนหน้านี้

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน เผยแพร่รายงานผลสำรวจสำมะโนประชากร ซึ่งจัดทำทุก 10 ปี และรวบรวมข้อมูลล่าสุด ถือเป็นครั้งที่ 7 จัดทำระหว่างเดือนพ.ย.ถึงธ.ค.ปีที่แล้ว ว่าจำนวนประชากรจีน นับจนถึงสิ้นปี 2563 มีประมาณ 1,412 ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณ 72 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 0.53% เมื่อเทียบกับการสำรวจเมื่อ 1 ทศวรรษก่อนหน้านี้ คือสิ้นสุดปี 2553 ซึ่งสถิติประชากรในเวลานั้น มีประมาณ 1,340 ล้านคน

ผลสำรวจสำมะโนประชากรของจีนครั้งล่าสุด ซึ่งถูกนำออกเผยแพร่ช้ากว่ากำหนดประมาณ 1 เดือน ยังบ่งชี้ว่ารัฐบาลจีนไม่สามารถทำให้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้เมื่อปี 2559 ว่า ต้องเพิ่มจำนวนประชากรให้ได้ประมาณ 1,420 ล้านคน ภายในปี 2563

ทุกฝ่ายให้ความสนใจกับการสำรวจสำมะโนประชากรของจีนในรอบนี้เป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นการสำรวจหลังจากรัฐบาลปักกิ่งยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว เมื่อปี 2558 หลังบังคับใช้อย่างเข้มงวดต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2522 และการที่จีนเป็นอีกหนึ่งประเทศขนาดใหญ่ ที่กำลังเผชิญกับภาวะสังคมผู้สูงอายุ เมื่อตัวเลขจำนวนประชากรจีนออกมาเป็นเช่นนี้ จึงมีความเป็นไปได้สูงมาก ที่รัฐบาลปักกิ่งจะออกมาตรการเพิ่มแรงจูงใจ ให้ประชาชนมีบุตรมากกว่า 1 หรือ 2 คน

ข้อมูลของทางการจีนบ่งชี้ว่า ชาวจีนที่มีอายุ 60ปีและ60ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นเป็น 18.7% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศจาก 13.3% ในปี 2553ขณะที่สัดส่วนของชาวจีนอายุระหว่าง 15 และ 59 อยู่ที่ 63.35% ในปี 2563 ลดลงจาก 70.1% ในปี 2553

จีนยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวเมื่อวันที่ 29 ต.ค.ปี2558 ยินยอมให้คู่สามีภรรยาสามารถมีลูกได้ 2 คนได้ ถือเป็นการสิ้นสุดนโยบายลูกคนเดียวที่บังคับใช้อย่างเข้มข้นมา 35 ปี แต่ถึงแม้ว่ารัฐบาลจีนประกาศยกเลิกการใช้นโยบายมีลูกคนเดียว ยังมีครอบครัวชาวจีนหลายล้านครอบครัวที่มีลูกหลายคนมาก่อนหน้านั้น ยังต้องเจอกับผลกระทบของนโยบายลูกคนเดียว ซึ่งรวมถึงการจ่ายค่าปรับทางสังคม และเด็กบางคนก็ยังไม่ได้รับสถานะพลเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

นอกจากนี้ ผลพวงจากนโยบายลูกคนเดียวทำให้จีนประสบปัญหาความไม่สมดุลระหว่างประชากรเพศหญิงและชาย โดยมีประชากรเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึงประมาณ 33 ล้านคน

ประกอบกับอคติต่อลูกผู้หญิงในสังคมจีนทำให้เกิดการทำแท้งและการฆ่าทารกเพศหญิง

แม้จีนจะมีจำนวนประชากรมหาศาล แต่ก็กำลังประสบกับปัญหาประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในโลก จำนวนประชากรวัยแรงงานของจีนลดลงอย่างมาก และจำนวนคนที่เกษียณอายุ รวมทั้งคนที่ได้รับบำนาญเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทุกวันนี้ จีนยังคงคาดหวังที่จะขึ้นมาแทนที่สหรัฐในฐานะชาติเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลก แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนเตือนว่า จีนอาจไปไม่ถึงจุดนั้นถ้าจำนวนประชากรวัยแรงงานของประเทศยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องแบบนี้ และจีนก็ไม่เหมือนสหรัฐ ที่แม้จะมีปัญหาอัตราการเกิดใหม่ของประชากรในประเทศต่ำ แต่สหรัฐยังมีแรงงานอพยพเข้ามาช่วยชดเชยในตลาดแรงงาน ขณะที่จีนไม่มี

“ยี่ ฝูเสี้ยน”นักวิจัยที่ทำงานในสหรัฐและวิจารณ์นโยบายประชากรของจีนมานาน ให้ความเห็นว่า อัตราการเกิดของประชากรจีนในปีต่อๆไปน่าจะลดลง เนื่องจากนโยบายลูกคนเดียวของจีนที่ใช้มานานกำลังส่งผลให้ประชากรหญิงมีจำนวนลดลง

“สิ่งที่สร้างความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจของจีนคือข้อมูลที่บ่งชี้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ในระดับฐานราก”ฝูเสี้ยน กล่าว

คาดว่าประชากรสูงวัยจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้การออมของประเทศลดลงและในฐานะที่จีนกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจที่เน้นการบริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก บรรดาผู้สูงวัยในสังคมซึ่งจะวิตกกังวลเกี่ยวกับการจ่ายเงินบำนาญมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายน้อยลง

เหล่าผู้นำจีนพยายามพูดมาตลอดว่าใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยชดเชยจำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลงได้ แต่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มีความคลางแคลงใจเกี่ยวกับการดำเนินกลยุทธ์ในเรื่องนี้ และในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา คณะนักวิจัยจากธนาคารกลางจีน ได้เผยแพร่รายงานฉบับหนึ่ง ที่เรียกร้องให้รัฐบาลตอบสนองแนวโน้มประชากรของประเทศที่ลดลงอย่างแข็งขันมากกว่านี้ พร้อมทั้งระบุว่า “เราต้องตระหนักว่าการศึกษาและความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีแทบไม่สามารถที่จะชดเชยปัญหาประชากรลดลงได้เลย”