ปตท.เร่งธุรกิจใหม่ หวังเสริมรายได้กลุ่มก๊าซ

ปตท.เร่งธุรกิจใหม่ หวังเสริมรายได้กลุ่มก๊าซ

ปตท.ตั้งเป้ายอดใช้ก๊าซปี64 โตใกล้เคียงปี62 อยู่ที่ 4,700-4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันจับตาผลกระทบโควิดในเดือนพ.ค.นี้ เผยปีนี้ ชิปเปอร์แอลเอ็นจี มีโอกาสนำเข้า ปริมาณ 1 ล้านตันช่วงไตรมาส3เตรียมอัดปั๊มชาร์จอีวีในปั๊ม NGV ตั้งเป้า 10 แห่งในปี 64

พร้อมเปิดตัวธุรกิจใหม่ ร้านฮะรุมิกิ เฮ้าส์ สาขาแรก กลางปีนี้ เสิร์ฟเครื่องดื่ม-เบเกอรี่ และเปิดร้านกะทิสด สาขาแรกในปั๊ม NGV ไตรมาส 3 ปีนี้

ความต้องการใช้ก๊าซในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 เริ่มมีสถานการณ์ดีขึ้น ในขณะที่หน่วยธุรกิจก๊าซ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ต้องปรับแผนธุรกิจเพื่อมองโอกาสทางธุรกิจใหม่ และการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับธุรกิจก๊าซที่ยังเป็นธุรกิจหลัก

 

วุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.ประเมินความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศปี 2564 จะเติบโตใกล้เคียงกับปี 2562 ที่มีปริมาณการใช้ก๊าซฯอยู่ที่ 4,700-4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีการใช้ก๊าซอยู่ที่ 4,300-4,4000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

 

ทั้งนี้ ช่วงไตรมาสแรกปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) พบว่า การใช้ก๊าซอยู่ที่ประมาณ 4,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้น 7-8% จากปีก่อน ส่วนในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากยังต้องติดตามผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คาดว่าจะมีผลชัดเจนขึ้นในช่วงเดือน พ.ค.นี้ก่อน

 

162073810293

“การใช้ก๊าซปีนี้ ที่เติบโตขึ้นจากปีก่อนแม้ว่าจะมีสถานการณ์โควิด-19 เหมือนกัน แต่จะเห็นว่าการใช้ของภาคอุตสาหกรรมและภาคไฟฟ้าไม่ได้ลดลงมากนัก ส่วนใหญ่เป็นภาคบริการและท่องเที่ยวที่ยังคงลดลง และสภาพอากาศปีนี้มีอุณหภูมิที่สูงขึ้นด้วย ขณะเดียวกันยังต้องติดตามสถานการณ์ระยะต่อไป”

ในปี 2564 ปตท.มีแผนผลักดันธุรกิจใหม่เพื่อเพสิรมรายได้ให้ธุรกิจก๊าซในอนาคต โดยในปีนี้ ปตท.มีแผนจะติดตั้ง สถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือ Charging Station หรือ ปั๊มชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ภายในสถานีบริการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV) ของปตท. โดยระยะแรก จะติดตั้ง 10 แห่ง ทั้งประเภท DC Quick Charger(ชาร์จเร็ว) เงินลงทุนประมาณ 1-2 ล้านบาทต่อหัว และประเภท AC Charging (ชาร์จปกติ) ซึ่งเงินลงทุนจะถูกลง 7-10 เท่าของ DC Quick Charger

 

การลงทุนดังกล่าวจะมีทั้งรูปแบบที่ปตท.เป็นผู้ลงทุนเอง และเปิดให้พันธมิตรร่วมลงทุน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ไตรมาส 3 ปีนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ก่อนขยายการติดตั้งเพิ่มเติมในปั๊ม NGV ต่อไป โดยปัจจุบัน ปตท.มีปั๊มNGV ทั่วประเทศประมาณ 300-400 แห่ง

 

 

รวมทั้ง ปตท.ยังเตรียมเปิดร้านฮะรุมิกิ เฮ้าส์ (Harumiki House) สาขาแรก ณ ปตท.สำนักงานใหญ่ ซึ่งจะเป็นธุรกิจประเภทจัดจำหน่ายเครื่องดื่มและเบเกอรี่ โดยมีสินค้ายอดนิยมวางจำหน่าย เช่น สตอเบอรี่สดฮะรุมิกา และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น เครื่องดื่มเมนูสตอเบอรี่หลายหลาย ครีมทามือ แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ เป็นต้น

 

ทั้งนี้ คาดว่าจะเปิดสาขาแรกในช่วงกลางปีนี้ และมีแผนจะเปิดสาขา2 บริเวณมาบข่า จ.ระยอง ก่อนขยายผลต่อไป ทั้งนี้ ได้จัดโปรโมชั่น โหลด Application Harumiki และสั่งสินค้า ภายใน 31 พ.ค. 2564 จะได้รับส่วนลด 300 บาทและบริการส่งฟรี

 

รวมถึง ปตท.เตรียมเปิดร้านกะทิสด สาขาแรกในปั๊ม NGV สาขากำแพงเพชร ช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ก่อนขยายสาข่าเพิ่มเติมไปยังปั๊มอื่น โดยธุรกิจดังกล่าวจะเป็นการต่อยอดและเสริมรายได้ให้กับธุรกิจก๊าซในอนาคตด้วย

 

นอกจากนี้ ปตท.เตรียมตัดสินใจลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานธุรกิจก๊าซเพิ่มเติมในปี 2564 เพื่อเป็นการกระตุ้นการลงทุนและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศรับมือผลกระทบจากโควิด-19 ได้แก่

 

1.การก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ (แห่งที่ 7) เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซ แห่งที่ 1 คาดว่า มูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท ตามแผนคาดว่า จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566-2567 ขณะที่อยู่ระหว่างกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA)

 

2.โครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้ เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าตามแผน PDP2018 (Rev.1) มูลค่าประมาณ 11,000 ล้านบาท ตามแผนคาดว่า จะก่อสร้างเสร็จในปี 2568 คาดว่า การลงทุนทั้ง 2 โครงการ จะสามารถตัดสินใจลงทุนได้ในปีนี้และปีหน้า

 

ขณะที่โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างยังเป็นไปตามแผน ได้แก่ โครงการ LNG Terminal 2 (หนองแฟบ) รองรับก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มูลค่าประมาณ 38,500 ล้านบาท จะแล้วเสร็จตามแผนในปี 2565 และการก่อสร้างโครงการท่อส่งก๊าซเส้นที่ 5  มูลค่าประมาณ 17,207 ล้านบาท ขณะนี้ได้เริ่มทดสอบนำก๊าซส่งผ่านท่อก๊าซแล้ว

 

สำหรับข้อสั่งการของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2564 ที่มีมติเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 พร้อมมอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ ปตท.พิจารณาปริมาณการนำเข้า LNG กับความสามารถของ LNG Terminal ที่เหลือที่จะนำเข้า LNG โดยไม่ส่งผลกระทบต่อภาระ Take or Pay และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) และ กพช. ภายในไตรมาส 2 นั้น

 

เบื้องต้น ปตท.คาดหมายว่า จะเห็นการนำเข้า LNG ของผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) รายใหม่ได้ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ส่วนไตรมาส 4 อาจดำเนินการได้ยาก เนื่องจากเป็นช่วงที่ต่างประเทศมีความต้องการใช้ก๊าซฯสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อราคา Spot LNG ขณะที่ปัจจุบัน ราคา Spot LNG ส่งมอบเดือนมิ.ย.นี้ ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู

 

“ปัจจุบัน ปตท.มี 4 สัญญานำเข้า LNG ระยะยาวรวม 5.2 ล้านตันต่อปี และปีนี้คาดว่า ประเทศจะต้องการใช้ LNG อยู่ที่ 6.5 ล้านตัน จึงคาดว่าจะต้องนำเข้าเพิ่มตั้งแต่ 0.5-0.8 ล้านตัน หรือกว่า 1 ล้านตัน ก็จะเป็นโอกาสสำหรับ Shipper รายใหม่ แต่ตัวเลขในส่วนนี้เป็นแค่การประเมินของปตท. ซึ่งยังต้องรอการพิจารณาจากกรมเชื้อเพลิงและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ชัดเจนอีกครั้ง”