3 คณบดี รร. แพทย์ฯ วิตกอัตราตาย แนะฉีดวัคซีน หยุดเชื้อ

3 คณบดี รร. แพทย์ฯ วิตกอัตราตาย แนะฉีดวัคซีน หยุดเชื้อ

3 คณบดี รร.แพทย์ฯ รามาฯ ศิริราช จุฬาฯ แนะประชาชนร่วมฉีดวัคซีน ลดอัตราการติดเชื้อ โควิด 19 ลดภาระงานของแพทย์ที่กำลังจะล้นมือ เผยแนวโน้มเสียชีวิต 1 ใน 4 ของผู้ป่วยหนัก เชื้อสายพันธุ์ใหม่ ติดเชื้อรุนแรงเพิ่มขึ้น 15 เท่า

วันนี้ (11 พ.ค. 64) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พร้อมด้วย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี และ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนาเรื่องผ่าวัคซีนโควิด -19 กับ 3 สถาบันการแพทย์ โดยระบุว่า ขณะนี้อยากให้ประชาชนเข้าใจในสถานการณ์ของโควิด และ หันมาฉีดวัคซีนโควิด เพื่อป้องกัน ลดความรุนแรงของโรค เนื่องจากปัจจุบันพบผู้ป่วยเฉลี่ย 1,000 คนต่อวัน และจำนวนผู้ป่วยหนักก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากไม่แก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทางด้วยการลดจำนวนผู้ป่วย จะหวังให้แก้ปัญหาผู้ป่วยแบบปลายทางด้วยการรักษาอย่างเดียวคงไม่ได้ หากทุกพื้นที่ยังพบผู้ป่วยอยู่ จำนวนผู้ป่วยในรพ.จะลดลงได้อย่างไร

ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ป่วยโควิด ใน 3 สถาบัน พบเฉลี่ยที่ละ 150-200 คน แต่ภาพรวมประเทศพบ ผู้ป่วยหนักใส่ท่อช่วยหายใจ 400 คน และ ร้อยละ 25 มีแนวโน้มรุนแรง ในจำนวน 1 ใน 4 มีโอกาสเสียชีวิต หากให้วิเคราะห์สถานการณ์การเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยส่วนหนึ่งมาจากการ์ดตก คนหนุ่มสาวไม่ได้ป้องกันตนเอง ยังคงมีการสังสรรค์ และพบ ภาวะโรคอ้วน หรือมี BMI30 เสี่ยงป่วยรุนแรงและชีวิตและพบการติดเชื้อในครอบครัว การฉีดวัคซีนเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยลดอัตราการติดเชื้อ และลดภาระงานของแพทย์ ที่ขณะนี้ ภาระงานเต็มไม้เต็มมือ และ กำลังจะล้นไม้ล้นมือ

สำหรับ รพ.ศิริราช มีการขยายห้องผู้ป่วยวิกฤตออกมากเป็น 3 เท่าแล้ว พร้อมย้ำทุกคนต้องช่วยกันด้วยการฉีดวัคซีน เพื่อไม่ให้จำนวนผู้ป่วยล้นรพ.ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวว่า ยอมรับว่าสถานการณ์การติดเชื้อโควิดในการระบาดรอบนี้จากโควิดสายพันธุ์อังกฤษ รุนแรงมากขึ้น อัตราการติดเชื้อป่วยเพิ่มขึ้น 15 เท่า

ขณะที่ รพ.รามาจักรีนฤบดินทร์ มีการรับผู้ป่วย 140 คน เป็นผู้ป่วย 32 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 4 คน และ มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเสียชีวิตทุกวัน และจากจำนวนผู้ป่วยหนัก 400 คน ในจำนวน. 80-100 คน มีโอกาสเสียชีวิต จากเดิมอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ ร้อยละ 0.2-0.3 และปัจจุบันอยู่ที่ ร้อยละ 0.6-1

ขณะนี้พบการระบาดใน กทม.มากที่สุด การควบคุมโรคยังทำได้ช้า ดังนั้น ต้องเร่งคัดกรองให้เร็ว แยกผู้ป่วยและ นำเข้ารักษาให้เร็วที่สุด หากประเมินตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อใน 4-5 วันที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อไม่พุ่งขึ้น เป็นผลพวงมาจากมาตรการใน 10-14 วัน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตจะยังเพิ่มขึ้นอยู่ดี เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยที่มาก

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางรพ.จุฬาลงกรณ์ รับรักษาผู้ป่วยไปแล้ว 1000 คน และอยู่ในฮอสพิเทล 200 คน ทั้งนี้จาการรักษา พบว่าผู้ป่วยติดเชื้อลงปอดเร็วมากขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มเตียงผู้ป่วยในห้องไอซียูมากขึ้น หากช่วยกันป้องกันไม่เพิ่มจำนวนผู้ป่วยตั้งแต่ต้นทาง และช่วยกันฉีดวัคซีนก็จะเป็นการติดอาวุธ ป้องกันตัวเอง คนในครอบครัว ทำให้อัตราการป่วยและติดเชื้อค่อยๆ ลดลง

  • ศิริราช เผยผลการฉีดวัคซีน บุคลากร


ด้าน รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ในบุคลากร รพ.ศิริราช โดยระบุว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ทำการสำรวจความต้องการของบุคลากรสำหรับเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 และได้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรที่แสดงความจำนงค์ที่จะขอรับการฉีดวัคซีนที่มีในประเทศไทยตามความสมัครใจตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564


ข้อมูล ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 พบว่า คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ทำการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้กับบุคลากรของคณะฯ ไปแล้วจำนวน 13,596 ราย คิดเป็นร้อยละ 80.8 ของบุคลากรทั้งหมด โดยได้รับวัคซีนขนิด Sinovac จำนวน 12,797 ราย เนื่องจากมีอายุน้อยกว่า 59 ปี 10 เดือน และได้รับวัคซีน Astra Zeneca จำนวน 799 ราย เนื่องจากมีอายุมากกว่า 59 ปี 10 เดือน หรือเป็นอาสาสมัครในโครงการวิจัย

บุคลากรที่ได้รับวัคซีนเป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มแรก จำนวน 10,741 ราย และเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 2,855 ราย โดยร้อยละ 76.9 ไม่พบอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ใดๆ มีรายงาน ภาวะข้างเคียงไม่พึงประสงค์ภายใน 30 นาที ร้อยละ 2.7 ประกอบด้วย อาการบวมแดงบริเวณที่ฉีด (1.38% ) อาการชาตามร่างกาย (0.36%) อาการปวดศีรษะ (0.31%) ปวดกล้ามเนื้อ (0.16%) ผื่นตามร่างกาย (0.14%) และอื่นๆ (0.35%) โดยอาการเหล่านี้เป็นอาการชั่วคราว และสามารถหายเป็นปกติได้ในที่สุด

สำหรับ ภาวะข้างเคียงไม่พึงประสงค์ที่พบ 30 นาที หลังได้รับวัคซีน พบได้ร้อยละ 23.1 ได้แก่ อาการปวดกล้ามเนื้อ (4.84 %) คลื่นไส้ (4.16%) ปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด (3.97%) ปวดศีรษะ (3.36%) อ่อนเพลีย (2.83%) มีไข้ (1.57%) และอื่นๆ (2.37%)

สำหรับ อาการชาตามร่างกายหรือมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย พบร้อยละ 0.46 เมื่อตรวจร่างกายทางระบบประสาทโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งได้รับการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษในรายที่มีอาการมาก ก็ไม่พบความผิดปกติใดๆ โดยส่วนใหญ่ (72.6 %) สามารถหายได้เองภายในเวลา 30 นาที หลังมีอาการ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีภาวะข้างเคียงไม่พึงประสงค์ทุกรายสามารถกลับไปปฏิบัติงานได้ตามปกติ


คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงขอสรุปรายงานผลการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ในบุคลากรของคณะฯ จำนวน 13,596 ราย เป็นผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac จำนวน 12,797 ราย ได้รับวัคซีน Astra Zeneca จำนวน 799 ราย โดยส่วนใหญ่ไม่พบอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ใดๆ สำหรับผู้ที่มีภาวะข้างเคียงไม่พึงประสงค์สามารถหายได้และสามารถกลับไปปฏิบัติงานได้ตามปกติ