เสนอรัฐปรับแผนฉีดวัคซีน 50-40-10 ใครพร้อม ฉีดก่อน

เสนอรัฐปรับแผนฉีดวัคซีน 50-40-10 ใครพร้อม ฉีดก่อน

หมอนิธิ เสนอรัฐ ปรับแผนฉีดวัคซีน 50 - 40 -10 ได้แก่ กลุ่มเป้าหมายเดิม 50% ทุกช่วงอายุ 40% และ คนที่เดินเข้ามารับวัคซีนเอง 10% กระจายวัคซีนปูพรมฉีดกลุ่มเสี่ยงแพร่เชื้อ แนะปรับการสื่อสารกับประชาชนสร้างความเข้าใจ

วันนี้ (11 พ.ค. 64) ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวในรายการ "เจาะลึกทั่วไทย" ทางช่อง 9 MCOT HD เสนอรัฐ ปรับแผนฉีดวัคซีน โดยระบุว่า แผนเดิมที่ทางกระทรวงวางไว้ ตั้งแต่การระบาดไม่เยอะ แต่ตอนนี้การระบาดสูงขึ้น ดังนั้น เป้าหมายไม่เหมือนกัน เพราะช่วงแรกเป้าการฉีดวัคซีน คือ ป้องกันไม่ให้คนที่มีความเสี่ยงสูงติดโรค แต่ช่วงเวลานี้ เป้าหมายของการฉีดวัคซีน คือ ป้องกันไม่ให้คนที่ติดเชื้อแล้วหรือกำลังจะติดเชื้อแพร่กระจาย เพราะฉะนั้น เป้าหมายจะไม่เหมือนกัน เป็นเรื่องของการระบาดวิทยา เห็นด้วยว่าควรจะฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เร็วที่สุด

 

ขณะเดียวกัน เสนอว่า การจัดรายการให้คนมาฉีด สามารถแบ่งได้ เช่น ที่ รพ. หนึ่งสถานที่ ฉีด 100 คน ก็จัดให้คนในแผนเดิมคือผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง 50 คน (50%) อีก 40 คนใครก็ได้ทุกช่วงวัย (40%) และ 10 ให้คนที่เดินเข้ามาฉีดเอง (10%) ต้องสามารถได้รับการฉีดได้ เหมือนการนัดคนไข้ไป รพ. ตามปกติ คือ มีทั้งคนที่มาตามนัด คนที่เดินเข้ามาเอง ดังนั้น ต้องมีความยืดหยุ่นสูง ไม่ควรยึดติดอยู่กับระบบเดิม และต้องปรับให้เร็ว และ สัดส่วนดังกล่าวสามารถปรับได้

 

“และอีกประเด็นหนึ่ง คือ มีกลุ่มเสี่ยงบางกลุ่ม เช่น ชุมชนแออัด ตลาด ก็เข้าไปฉีดป้องกันไว้เลย เพราะการบริหารจัดการวัคซีน ไม่ควรจะให้คนเข้าไปหาวัคซีน วัคซีนต้องเข้าไปหาคนที่มีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อได้ง่าย เราต้องจัดการกับคนที่จะแพร่เชื้อ”

สำหรับข้อจำกัดในการปูพรมฉีด ศ.นพ.นิธิ กล่าวว่า ในประเทศอื่นๆ ที่ทำในตอนนี้หากฉีดในปริมาณมาก แน่นอนว่าต้องฉีดโดยแพทย์และพยาบาล โดยหาพยาบาลหรือนักเรียนพยาบาล หรือพยาบาลที่เกษียณไปแล้วมาช่วย

"ขณะเดียวกัน เรารายงานแต่ปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นหลักปกติของคนทั่วไป ก็จะจำแต่ปัญหา ซึ่งเกิดน้อยมากๆ เป็นเรื่องปกติ ดังนั้น ต้องหาคนฉีดเยอะๆ เช่น พยาบาล หรือ แพทย์ที่เกษียณไปแล้ว คนที่จะคุมปริมาณพื้นที่ใหญ่ๆ หลายพันคน แพทย์ 1 คน ก็เพียงพอ สิ่งที่เรากลัวกัน คือ อาการแพ้อย่างรุนแรง แต่โอกาสเกิดมันน้อยมาก"

 

ตอนนี้ทุกคนตื่นตัวไม่ว่าจะกระทรวงสาธารณสุขก็ทำงานกันหนัก หรือ กทม. ที่รับผิดชอบพื้นที่ที่เราอยู่ เริ่มตื่นตัว จัดระบบ คิดว่าต้องทำได้ และอีกเรื่องที่ควรจะทำ คือ การสื่อสาร ด้วยเนื้อหาง่ายๆ และถูกต้อง ทำให้คนมารับวัคซีนได้เยอะขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ว่าคนส่วนใหญ่ต้องได้รับวัคซีน และวัคซีนทุกชนิด ให้ผลดีเหมือนกันหมด แพทย์ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าผลข้างเคียงมีเหมือนกันหมด แต่จะปริมาณน้อยเท่าไหร่ ผลดีมีแน่เหมือนกันหมดทุกวัคซีน

 

"ณ วันนี้ ร้านขายยาบ้านเรา เภสัชกร ไม่ได้อนุญาตให้ฉีดยาได้ตามใบประกอบวิชาชีพ ดังนั้น จะได้แค่แพทย์กับพยาบาล หรือนักเรียนพยาบาลที่ใกล้จะจบ แล้วให้แพทย์หนึ่งคนคุม นักเรียนพยาบาลก็จะสามารถฉีดได้ หรือไม่ก็เป็นอาจารย์พยาบาลมาคุมก็ได้ ตอนนี้เราทุกคนต้องไม่มีกรอบ มีกำแพงในความคิดยึดว่าเคยทำมาอย่างไร อะไรที่ได้ผลดี ก็ทำไปก่อน ต้องฉีดให้เร็วที่สุด และมากที่สุด" ศ.นพ.นิธิ กล่าว