"โควิด" นำเข้า "สมุทรสาคร" แกะรอยใครปล่อย "หายนะ" ซ้ำ

 "โควิด" นำเข้า "สมุทรสาคร" แกะรอยใครปล่อย "หายนะ" ซ้ำ

ทหารจับกุม 'แรงงานเถื่อน' ชายแดนได้เพียง 70% ที่เหลือ 30% หลุดเข้ามาพื้นที่ตอนกลาง และตอนใน ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ 'ฝ่ายปกครอง'

ทิ้งระเบิดไว้ลูกเบ้อเริ่ม สำหรับผู้ว่าฯ คนดัง ที่กลับมานำทัพสู้ศึก ‘โควิด’ อีกครั้งอย่าง "วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี" ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร หลังเกือบเอาชีวิตไม่รอดจากการถูกไวรัสโควิดเล่นงานในการแพร่ระบาดระลอก 2 ‘คลัสเตอร์แรงงานต่างด้าว’ เมื่อปลายปี 2563

จนทำให้ จ.สมุทรสาคร เมืองส่งออกอาหารทะเลและฐานผลิตอาหารแช่แข็ง ที่ยืนหนึ่งในการส่งเสริมเศรษฐกิจ สร้างจีดีพีให้การส่งออกของไทยอยู่ในระดับแนวหน้ามาโดยตลอด กลับกลายเป็นดินแดนต้องห้ามในชั่วพริบตา หลังถูก ‘บูลลี่’ จากคนภายนอก ว่าเป็นต้นต่อแพร่เชื้อ

จากวิกฤติครั้งนั้น ‘สมุทรสาคร’ ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก หลัง ‘โควิด’ทุบเศรษฐกิจพังยับไปประมาณ 16,000 ล้านบาท มารอบสามนี้ ‘ผู้ว่าฯวีระศักดิ์’ รีบตัดไฟแต่ต้นลม หลังพบ ‘แรงงานต่างชาติ’ ติดเชื้อ พร้อมสั่งปิดโรงงานดังกล่าว 14 วัน ควบคู่กับการตรวจเชื้อเชิงรุก 15,000 ราย ในบริเวณใกล้เคียง

ขณะเดียวกัน ‘ผู้ว่าฯ วีระศักดิ์’ ยังทิ้งหมัดไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้องในการดูแลสกัดกั้น ‘ขบวนการขนแรงงานต่างด้าว’ หลังได้รับเบาะแสจากประชาชน-ภาคเอกชน ว่า มีแรงงานต่างชาติหลบหนีเข้ามามาจำนวนมาก โดย ‘สมุทรสาคร-กรุงเทพมานคร’ เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทาง

สิ่งหนึ่งที่ผมไม่สบายใจเลย ท่ามกลางวิกฤติเช่นนี้ คนไทยด้วยกันเอง กลับเปิดประตูบ้าน ลักลอบทำเรื่องผิดกฎหมายเพราะหวังผลประโยชน์ตอบแทนเป็นตัวเงิน โดยไม่คิดเลยว่ามันจะกระทบกลายเป็นปัญหาใหญ่ ทำลายสวัสดิภาพและสร้างปัญหาปากท้องของคนบ้านเดียวกัน ทั้งที่รู้ว่าทุกคนกำลังย่ำแย่เต็มที"

บทเรียนครั้งที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ทำให้ ‘ผู้ว่าฯวีระศักดิ์’ ไม่สบายใจ ‘กองทัพบก’ ก็เช่นกัน หลังเคยตกเป็นแพะรับบาปว่า ‘หละหลวม’ ไม่เข้มงวดปฏิบัติหน้าที่ เพราะ ‘ชายแดน’ คือประตูบานแรก ที่ ‘แรงงานผิดกฎหมาย’ ทะลุเข้ามาถึงพื้นที่ชั้นใน ‘จ.สมุทรสาคร’ ก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวง

ก่อนที่หนังม้วนเดิมจะกลับมาฉายซ้ำ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตแก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เน้นย้ำกองกำลังป้องกันชายแดนเรื่องการสกัดกั้น และเร่งประชาสัมพันธ์ผลงาน การจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมือง-ผู้นำพา ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่า ‘กองกำลังป้องกันชายแดน’ไม่เคยละเลยและ ‘สกรีน’เข้มพื้นที่ทุกตารางเมตร ดังตัวเลขปรากฎต่อไปนี้

วันที่ 30 เม.ย. - 6 พ.ค. 64 สามารถจับกุมผู้หลบหนีเข้าเมืองได้ จำนวน 50 ครั้ง รวม 306 คน แยกเป็น สัญชาติเมียนมา 248 คน, สัญชาติจีน 4 คน, สัญชาติไทย 43 คน  ผู้นําพาชาวไทย 8 คน และผู้นําพาสัญชาติเมียนมา 3 คน

วันที่ 8 พ.ย.64 ในพื้นที่ ‘กองทัพภาคที่ 1’ ยังสามารถจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองใน 3 จังหวัดภาคกลางที่ติดกับชายแดนไทย-เมียนมา จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.กาญจนบุรี และ จ.สระแก้ว จ.สระแก้ว โดยหน่วยเฉพาะกิจตาพระยา ร่วมกับ ตชด.12 จับกุมชาวกัมพูชา พร้อมนายหน้านำพา จำนวน 6 คน ผ่านช่องทางธรรมชาติ บริเวณบ้านโคกสูง ต.โคกสูง อ.โคกสูง โดนดำเนินการสอบสวนและบันทึกจับกุม ก่อนผลักดันออกนอกประเทศทางช่องทางโอปาเจือน ส่วนผู้นำพา ส่งตัวฟ้องศาลดำเนินคดี หน่วยเฉพาะกิจอรัญประเทศ ตรวจพบชาวอินโดนีเซีย 1 คน และภรรยาชาวไทย ซึ่งทำงานคาสิโนออนไลน์ ฝั่งกัมพูชาลักลอบเข้าไทยที่ ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ เจ้าหน้าที่ได้ทำการคัดกรองโรคและส่งดำเนินคดีตามกฎหมายเช่นกัน               

9 พ.ค. 64 หน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า (จุดตรวจร่วมจงอั่ว)ร่วมกับ ร้อย.ตชด.134 สภ.สังขละบุรี และฝ่ายปกครอง อ.สังขละบุรี เข้าจับกุมชาวเมียนมา 33 ราย บริเวณ เขาสิงโต บ.แก่งปรึก ม.4 ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี             

วันเดียวกัน ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ หน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก ลาดตระเวนตามช่องทางธรรมชาติ ร่วมกับผู้นำชุมชน และฝ่ายปกครอง จับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายสัญชาติเมียนมา 32 คน ใกล้กับช่องทางชุมนุมมะละกอ           

จากการสอบถาม ขั้นต้นทราบว่าผู้หลบหนีเข้าเมือง เดินทางมาจาก จ.เมาะละแหม่ง 27 คน, ย่างกุ้ง 4 คน และ ปะกู 1 คน ประเทศเมียนมา โดยเตรียมจะลักลอบไปทำงานที่สงขลา 17 คน  ปัตตานี 8 คน ประจวบคีรีขันธ์ 3 คน สมุทรสาคร 4 คน

และ 10 พ.ค. กองกำลังสุรสีห์ หน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก ร่วมกับ ชุดปฏิบัติการข่าวกองกำลังสุรสีห์ สภ.คลองวาฬ  กองร้อย.ตชด.146 เเละฝ่ายปกครอง จัดชุดลาดตระเวน จรยุทธ์ จับกุมชาวเมียนมาจำนวน 24 คน บริเวณเส้นทางธรรมชาติช่องทางพุนำ้หยด ต.คลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ทำการตรวจวัดอุณหภูมิ เเละดำเนินคดีตามกฏหมาย

แหล่งข่าวหน่วยงานความมั่นคง ระบุว่า แรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองทาง ด้านจ.ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี จุดหมายปลายทางส่วนใหญ่อยู่ที่ อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร และจากการสอบถามผู้นำพา ทราบว่าได้ค่าจ้างหัวละ 4,000-5,000 บาท นำทางผ่านช่องทางธรรมชาติฝั่งไทย ส่งต่อให้กับนายหน้าเพื่อส่งไปยัง อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร

แรงงานเหล่านี้จะเสียค่านายหน้านำพาอีกทอดหนึ่ง ไปจนถึงที่หมายมหาชัย จ.สมุทรสาคร คนละ 15,000 บาท โดยนายจ้างที่โรงงานจะโอนเงินจ่ายค่านำพาให้กับนายหน้าเอง ในขณะที่นายจ้างจะหักเงินออกจากค่าแรงรายเดือนของแรงงานแต่ละคนจนกว่าจะครบ

แม้ ‘กองทัพ’ จะเป็นด่านแรก ในการสกัดกั้นแรงงานลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้กำลังอุดเส้นทางธรรมชาติที่มีนับไม่ถ้วนได้ทั้งหมด นั่นหมายความว่า โอกาส ‘เล็ดลอด’เข้ามามีแน่นอน จึงจำเป็นต้องบูรณาการและแบ่งพื้นที่การทำงานร่วมกับฝ่ายตำรวจ และฝ่ายปกครอง

จากข้อมูลฝ่ายความมั่นคงพบว่า แรงงานต่างด้าว ถูกทหารจับกุมบริเวณชายแดนได้เพียง 70% ที่เหลือ 30% หลุดเข้ามาพื้นที่ตอนกลาง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบ ตำบลชายแดน ซึ่งจะมี ฝ่ายปกครอง ของกระทรวงมหาดไทย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับตำรวจ เฝ้าระวังตั้งจุดตรวจสกัดตามเส้นทางมุ่งตรงมายังกรุงเทพมหานคร

แต่หากหลุดเข้ามาพื้นที่ตอนใน เป็นหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จังหวัด (กอ.รมน.จังหวัด) ซึ่งจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น นั่งเป็นผู้อำนวยการ กอ.รมน. ร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เร่งเข้าไปตรวจค้นโรงงานต่างๆ ที่เป็นจุดหมายปลายทาง

สถานการณ์เสี่ยงวิกฤติซ้ำวิกฤติรอบนี้ จึงชำระสะสางที่ปลายทางอย่างเดียวไม่ได้ เพราะต้นทางย่อมปฏิเสธความรับผิดชอบ แบบไม่รู้ไม่เห็น...ไม่ได้เช่นกัน