‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘ทรงตัว’ที่ 31.09บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘ทรงตัว’ที่ 31.09บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทอาจอ่อนค่าและผันผวนได้ในระหว่างวัน จับตาปัญหาโควิด-19 ระบาดกดดันต่างชาติยังเดินหน้าเทขายหุ้นไทยต่อ รวมถึงความกังวลแนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวหลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งขึ้นต่อเนื่กลับมากดดันผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่เลือกลดความเสี่ยงลง คาดวันนี้เงินบาทคลื่อนไหวในกรอบ 31.05- 31.20บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.09 บาทต่อดอลลาร์ทรงตัวจากระดับปิดวันก่อนหน้า มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.05-31.20 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เราคาดว่า เงินบาทจะยังคงแกว่งตัวในกรอบเดิม โดยเราคงมองว่า แนวรับสำคัญของเงินบาทในระยะสั้นยังอยู่ที่ 31.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งระดับดังกล่าว ยังคงเห็นบรรดาผู้นำเข้าทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์ต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันก็มีบางบริษัทที่จำเป็นต้องจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติก็ทยอยเข้ามาซื้อสกุลเงินต่างประเทศเช่นกัน (คาดว่า ยอดจ่ายเงินปันผลในช่วงที่เหลือของเดือนพฤษภาคมจะอยู่ที่ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท)

ถ้าหากเงินดอลลาร์ยังไม่ไปไหนจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดในระยะนี้ ก็อาจจะเห็นเงินบาทแกว่งตัวในกรอบ31.00-31.30 บาทต่อดอลลาร์ โดยแนวต้านสำคัญของเงินบาทยังอยู่ในช่วง 31.20-31.30 บาทต่อดอลลาร์ คาดว่าจะเป็นระดับที่ผู้ส่งออกทยอยมาขายเงินดอลลาร์บ้าง

ทั้งนี้ เงินบาทอาจอ่อนค่าและผันผวนได้ในระหว่างวัน หากปัญหาการระบาดของโควิด-19 กดดันให้นักลงทุนต่างชาติยังเดินหน้าเทขายหุ้นไทยต่อเนื่อง และขายสุทธิมากกว่าแรงซื้อบอนด์สุทธิจากนักลงทุนต่างชาติ

อย่างไรก็ตามความกังวลต่อแนวโน้มการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อหลังจากที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้กลับมากดดันให้ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่เลือกที่จะลดความเสี่ยงลง โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่ดูจะอ่อนไหวมากสุด สะท้อนจากแรงเทขายหุ้นในกลุ่มเทคฯของนักลงทุนที่กดดันให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า 2.6% ในขณะที่ ดัชนี S&P500 ก็ย่อตัวลงราว 1% ส่วนดัชนี Dowjones กลับปิดลบเพียง 0.1% สะท้อนว่าหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม Cyclical สามารถต้านแรงเทขายได้ดีและธีม Cyclical Play ยังสามารถไปต่อได้ แม้ว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ ในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ก็ปิดลบราว 0.3% เช่นเดียวกับในฝั่งสหรัฐฯ  กดดันโดยการปรับตัวลงของหุ้นในกลุ่มเทคฯ อาทิ Adyen, ASML, Infineon และ SAP เป็นต้น

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าตลาดโดยรวมจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว2bps สู่ระดับ 1.60% เนื่องจากการปิดรับความเสี่ยงของตลาดในรอบนี้เกิดจากความกังวลแนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยที่จะหนุนให้ยีลด์ระยะยาวปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี หากแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงลามไปยังหุ้นทั้งตลาด นอกเหนือจากหุ้นในกลุ่มเทคฯ ก็อาจทำให้ ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงมาบ้าง จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดปั่นป่วน

ทั้งนี้ ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 90.21 จุด หนุนโดยความต้องการหลุมหลับภัย (Safe Haven asset) ชั่วคราว เมื่อตลาดการเงินผันผวนสูงขึ้น โดยการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้กดดันให้ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.214 ดอลลาร์ต่อยูโรในขณะที่เงินปอนด์ (GBP) สามารถแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.413 ดอลลาร์ต่อปอนด์ได้ จากความหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้น หลังรัฐบาลอังกฤษสามารถคุมปัญหาการระบาดของโควิด-19 ได้ดี จากการเร่งแจกจ่ายวัคซีน

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในโซนเอเชีย โดยตลาดคาดว่า เศรษฐกิจฟิลิปปินส์มีโอกาสหดตัวกว่า 3.2%y/y ในไตรมาสแรกจากปัญหาการระบาดโควิด-19 ที่รุนแรง ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ที่จะมีการประชุมในวันพฤหัสบดีนี้ จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.00% และ BSP อาจจะไม่สามารถลดดอกเบี้ยลงได้อีก เพราะอัตราเงินเฟ้อฟิลิปปินส์ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.5% สูงกว่ากรอบเป้าหมายของ BSP ส่วนมาเลเซียที่ยังมีปัญหาการระบาดหนักเช่นกัน ก็อาจเห็นเศรษฐกิจในไตรมาสแรกหดตัว 0.5%y/y

นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ผ่านผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจของเยอรมนีและยุโรป (ZEW Economic Sentiment) ในเดือนพฤษภาคม โดยตลาดมองว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจของเยอรมนีและยุโรปที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 72 จุด และ 68 จุด ตามลำดับ สะท้อนว่านักวิเคราะห์ต่างมีความหวังว่าเศรษฐกิจยุโรปจะสามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้น

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ตลาดจะติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Evans, Williams, และ Brainard เพื่อติดตามมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและโอกาสที่เฟดจะปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน