‘โควิด-19’ ระบาดหนัก บุคลากรสาธารณสุข ติดเชื้อกว่า 500 ราย

‘โควิด-19’ ระบาดหนัก บุคลากรสาธารณสุข ติดเชื้อกว่า 500 ราย

แม้ไทยจะมีบทเรียนจากการระบาดของ “โควิด-19” ใน 2 ระลอกที่ผ่านมา แต่สายพันธุ์อังกฤษที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อขยายในวงกว้าง ทำให้แม้แต่คนที่ดูแลตัวเองดีอย่างบุคลากรด่านหน้า ก็เกิดการติดเชื้อได้ โดยล่าสุด มีการติดเชื้อมากกว่า 512 คน ใน 57 จังหวัด

วันที่ 10 พ.ค. 64 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน ว่า ประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 1,630 ราย ติดเชื้อในประเทศ 1,622 ราย แบ่งเป็น ผู้ติดเชื้อรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,321 ราย การค้นหาเชิงรุกในชุมชน 301 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 8 ราย

รวมยอดผู้ป่วยสะสม 85,005 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 22 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิตสะสม 421 ราย ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 55,208 ราย และผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ 29,376 ราย แบ่งเป็น อยู่ในโรงพยาบาล 19,948 ราย โรงพยาบาลสนาม 9,428 ราย มีผู้ป่วย อาการหนัก 1,151 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 389 ราย

ผลการตรวจหาเชื้อ COVID-19 เชิงรุก ในชุมชนเขตคลองเตย ข้อมูล ณ วันที่ 9 พ.ค. 64 สรุปผลการตรวจ SWAB จำนวน 19,623 ราย ผลไม่ติดเชื้อ 13,269 ราย ผลติดเชื้อ 654 ราย (คิดเป็นร้อยละ 4.70) รอผล 5,700 ราย ผู้ติดเชื้อเพิ่ม 177 ราย

จำนวนการได้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ. - 9 พ.ค. 2564) รวม 1,809,894 โดส ใน 77 จังหวัด จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 1,296,440 ราย (จำนวนผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด) จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 จำนวน 513,454 ราย (จำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์)

  • บุคลากรฯ ติดเชื้อมากกว่า 500 คน

ขณะที่ เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2564 “นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” โฆษก ศบค. เปิดเผยข้อมูลวันที่ 1 เม.ย. - 7 พ.ค.64 พบบุคลากรการแพทย์ติด COVID-19 แล้ว 512 คน อายุตั้งแต่ 17 - 66 ปี มีอาการ 285 คน ไม่มีอาการ 181 คน โดยส่วนใหญ่เป็นพยาบาล และผู้ช่วยมากถึง 34% ไม่ระบุ 27% อื่น ๆ 18% ส่วนแพทย์ 10% พบเป็นบุคลากรโรงพยาบาลรัฐถึง 65% โรงพยาบาลเอกชน 29%

บุคลากรการแพทย์ที่ติดเชื้อ 512 คน กระจายใน 57 จังหวัด โดย 10 จังหวัดที่พบ "บุคลากรทางการแพทย์" ติดเชื้อโควิดสูงสุดได้แก่ กทม ติดเชื้อ 137 ราย ตรัง ติดเชื้อ 47 ราย ชลบุรี ติดเชื้อ 34 ราย นครปฐม ติดเชื้อ 25 ราย ขอนแก่น ติดเชื้อ 18 ราย ประจวบคีรีขันธ์ ติดเชื้อ 17 รายปทุมธานี ติดเชื้อ 16 ราย สงขลา ติดเชื้อ 16 ราย อุดรธานี ติดเชื้อ 16 ราย และสุราษฎร์ธานี ติดเชื้อ 14 ราย

ส่วนสถานที่ที่ติดเชื้อ จะพบการติดเชื้อในโรงพยาบาลเป็นหลัก  ซึ่งมี "ปัจจัยเสี่ยง" ได้แก่ ติดเชื้อในรพ. มีการสัมผัส/ให้การรักษาผู้ป่วยยืนยันขณะทำงาน 202 ราย สัมผัสเพื่อร่วมงานป่วย 63 ราย ภายนอกรพ. สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน/ไปสถานที่เสี่ยง 106 ราย และอยู่ระหว่างสอบสวนโรค 141 ราย  นอกจากนั้น 10 จังหวัดแรกที่มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ ได้แก่ กทม.137 ราย ตรัง 47 ราย ชลบุรี 34 ราย นครปฐม 25 ราย ขอนแก่น 18 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 17 ราย ปทุมธานี 16 ราย สงขลา 16 ราย อุดรธานี 16 ราย และสุราษฎร์ธานี 14 ราย

  • สถานการณ์เตียง กทม.

ขณะที่สถานการณ์ใน กทม. วันที่ 9 พ.ค.64 นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำการตรวจเชิงรุกและนำส่งผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และ hospitel ดำเนินการดูแลรักษาผู้ป่วยที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการมาอย่างต่อเนื่อง

โดยตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.63 – 9 พ.ค.64 มีผู้ป่วยติดเชื้อ 4,411 ราย รักษาหายกลับบ้าน 2,432 ราย ย้ายไปโรงพยาบาลนอกสังกัด จำนวน 27 ราย และเสียชีวิต 22 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 1,930 ราย

“ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคยังมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยในทุกๆ ด้าน อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ วัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งสถานที่สำหรับผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ(รพ.สนาม/hospitel) จำนวน 9 แห่ง และสถานที่สำหรับรักษาผู้ป่วยที่แสดงอาการ (รพ.สังกัดกทม.) จำนวน 8 แห่ง”

นอกจากนี้ กทม. ได้ยกระดับการนำส่งผู้ป่วยเข้าระบบการรักษาของโรงพยาบาล โดยศูนย์เอราวัณ 1669 ได้ร่วมกับเครือข่ายร่วมดำเนินการ ทำให้รับ-ส่งผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. -8 พ.ค.64 ศูนย์เอราวัณรับผู้ป่วย 4,611 ราย เข้ารับการรักษา 4,159 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกทม. 2,892 ราย รักษาในโรงพยาบาลอื่น จำนวน 1,267 ราย

สำหรับจำนวนผู้ป่วยครองเตียงในโรงพยาบาลสังกัด กทม. โรงพยาบาลสนาม กทม. และ Hospitel มีจำนวนทั้งสิ้น 1,930 ราย ดังนี้ โรงพยาบาลสังกัด กทม. ทั้ง 8 แห่ง มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 307 เตียง โรงพยาบาลสนาม กทม. 5 แห่ง ปัจจุบันมีเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วย จำนวน 2,042 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 1,311 เตียง ยังว่างอยู่ 731 เตียง

ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้ รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน 1000 เตียง ครองเตียง 584 เตียง ยังว่างอยู่ 416 เตียง รพ.ราชพิพัฒน์ 200 เตียง ครองเตียง 193 เตียง ยังว่างอยู่ 7 เตียง รพ.เอราวัณ 1 (ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ บางบอน) 100 เตียง ครองเตียง 73 เตียง ยังว่างอยู่ 27 เตียง รพ.เอราวัณ 2 (บางกอกอารีนา) 400 เตียง ครองเตียง 349 เตียง ยังว่างอยู่ 51 เตียง รพ.เอราวัณ 3 (สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ บางมด) 342 ครองเตียง 112 เตียง ยังว่างอยู่ 230 เตียง

 

และในส่วนของ Hospitel จำนวน 5 แห่ง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 594 เตียง มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 312 เตียง ยังว่างอยู่ 282 เตียง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ รพ.กลาง(อาคารหอพัก) 44 เตียง ครองเตียง 27 เหลือ 17 เตียง รร.เออริเเกนแอพอร์ต 120 เตียง ครองเตียง 90 เหลือ 30 เตียง รร.บ้านไทย 300 เตียง ครองเตียง 78 เหลือ 222 เตียง รร.ข้าวสาร พาเลส 90 เตียง ครองเตียง 88 เหลือ 2 เตียง และอาคารพัชรกิติยาภา ม.นวมินทราชูทิศ 40 เตียง ครองเตียง 29 เหลือ 11 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 9 พ.ค. 64 เวลา 08.00 น.)

  • เตียง ICU กรมการแพทย์ 

ข้อมูล สถานการณ์เตียงใน รพ.พื้นที่ กทม. และปริมณฑลของ กรมการแพทย์​ ณ วันที่ 10 พ.ค. 64 ขณะนี้ห้อง ICU ความดันลบ (AIIR-ICU) เตียงว่างเหลือ 31 เตียง  จากทั้งหมด 239 เตียง ห้องดัดแปลงความดันลบ (Modified AIIR ) เหลือ 65 เตียง จากทั้งหมด 392 เตียง และห้อง ICU (COhort ICU ) เหลือ 32 เตียง จากทั้งหมด 218 เตียง

สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 158,963,126 ราย อาการรุนแรง 107,152 ราย รักษาหายแล้ว 136,486,063 ราย เสียชีวิต 3,306,612 ราย โดย 5 อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 33,476,781 ราย 2. อินเดีย จำนวน 22,662,410 ราย 3. บราซิล จำนวน 15,184,790 ราย 4. ฝรั่งเศส จำนวน 5,777,087 ราย 5. ตุรกี จำนวน 5,031,331 ราย ขณะที่ ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 99 จำนวน 85,005 ราย