ฉะเชิงเทรา : เมืองที่อยู่อาศัย ที่อัจฉริยะของ EEC

ฉะเชิงเทรา : เมืองที่อยู่อาศัย     ที่อัจฉริยะของ EEC

หลายคนอาจแทบลืมไปว่าเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมี 3 จังหวัด โดยแต่ละจังหวัดก็มีการวางจุดเด่นในการพัฒนาของตนเองไว้ชัดเจน และที่ผ่านมาจังหวัดที่ได้รับการพูดถึงน้อยมากคือ จ.ฉะเชิงเทรา หรือ “แปดริ้ว”

 ที่เรารู้จักกันดี จังหวัดนี้ถูกวางให้เป็นเมืองที่อยู่อาศัยของผู้คนใน EEC เมืองที่จะสร้างสมดุลชีวิตและการทำงานของคนยุคใหม่ตามรูปแบบในฝันของโครงการ EEC เมืองที่ถูกจัดให้เป็นเมืองอัจฉริยะของการอยู่อาศัย

ในปัจจุบัน พอเอ่ยถึงแปดริ้วแล้วทุกคนจะนึกถึงแหล่งท่องเที่ยวมากกมาย วัดเด่น พระดัง รวมทั้งผลไม้หลากประเภทที่สมบูรณ์ แต่หากมองในด้านรวมทางเศรษฐกิจแล้วจะพบว่าพื้นที่กว่า 2 ล้านไร่ของเกษตรกรรมสร้างรายได้น้อยกว่าภาคอุตสาหกรรมมาก แต่เป็นบ้านของผู้คนมากกว่า 2 ใน 3 ของจังหวัด ซึ่งความไม่สมดุลนี้เป็นโจทย์สำคัญ ผมเชื่อว่าหลายคนพออ่านถึงตรงนี้ก็จะบอกว่า ใช้นวัตกรรมทางการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต ที่ชอบเรียกกันว่า Smart farming ทำนึกถึงโดรนบินว่อนเพื่อรดน้า ใส่ปุ๋ย เช็คความสมบูรณ์ของสวนของไร่ หรือการใช้เครื่องไม้เครื่องมือดิจิทัลในการช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ต่างๆ ซึ่งก็ถือว่าถูกต้องและควรทำ แต่ผมอยากบอกว่าเมืองอัจฉริยะนั้นควรมองอย่างอัจฉริยะทั้งระบบตั้งแต่การตลาดอัจฉริยะ อุตสาหกรรมที่รับช่วงต่อผลผลิตการเกษตรที่ต้องการแปรรูป การเชื่อมโยงเหล่านี้จะมีนวัตกรรมมาช่วยอย่างไร และผู้คนแปดริ้วทุกส่วนต้องอัจฉริยะพอที่จะใช้ประโยชน์ให้เป็นด้วย

งานทั้งหมดขึ้นกับการมี Smart Governance ที่คนทำมีความเข้าใจครบถ้วนและมองภาพของเมืองอัจฉริยะได้อย่างตกผลึก ไม่เช่นนั้นส่วนการบริหารแบบอัจฉริยะก็จะกลายเป็นแค่การให้บริการและการเผยแพร่ข้อมูลของภาครัฐผ่านแอพพิเคชั่นต่างๆ เท่านี้ หรืออย่างมากก็แบบ one stop services ที่มีนวัตกรรมมาช่วยเท่านั้นเอง ซึ่งผมถือว่าเป็นเพียงข้อบังคับที่กำหนดว่าต้องมี แต่ “การบริหารอัจฉริยะ” ต้องมีมากกว่านี้ คือ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีผู้บริหารที่อัจฉริยะ ไม่เช่นนั้นเราจะได้แค่การบริหารจัดการที่ผ่านแอพพลิเคชั่นเท่านั้นหรืออย่างมากก็คุยว่าเป็น One stop service แต่แกนในยังเก็บอำนาจไว้ตามหน่วยต่างๆ ตามเดิม

ผมว่าการบริหารจัดการเมืองที่เป็นอัจฉริยะต้องรวบรวมการจัดการต่างๆ ดยเฉพาะอำนาจในการจัดการในระดับท้องถิ่น เพราะการพัฒนาในแบบเมืองอัจฉริยะนั้น ระดับท้องถิ่นต้องมีการจัดการที่มีประสิทธิภาพและไปในทิศทางเดียวกันกับในระดับจังหวัด เพื่อให้กระจายการพัฒนาลงไปอย่างทั่วถึงในทุกระดับ วันนี้รายไค้ต่อหัวของประชากรเท่ากับ 450,000 บาท ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวสูงมากเป็นอันดับ TOP 5 ของประเทศ และมีประชากรแฝงราว 30% แต่ประชาชนในสาขาเกษตรกรรมยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอย่างมากมาย แสดงให้เห็นการกระจุกตัวของรายได้พอสมควร ผมว่าเรื่องนี้ความสำคัญอยู่ที่ชุมชนละครับว่าจะเลือกผู้นำท้องถิ่นอย่างไร จะไปชี้หน้าโทษใครคงลำบากในการพัฒนาท้องถิ่นของเรา เพราะเราเลือกของเราเอง

“แปดริ้ว” เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงในด้านเกษตร ทำให้มีโอกาสสูงในการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวคิดเกษตรอุตสาหกรรมที่เชื่อมเอาการเกษตรกับอุตสาหกรรมเข้าด้วยกันแบบยั่งยืนในรูปแบบธุรกิจเครือข่ายตั้งแต่วัตถุดิบสู่การตลาดโดยใช้ระบบการจัดการและเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งขณะนี้ยังมีโครงการเกษตรอุตสากรรมจำนวนมากที่กำลังรอการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการ EEC เพื่อให้เกิดพื้นที่ส่งเสริมพิเศษ หรือไข่แดงที่เราเรียกกันเล่นๆ เช่น โครงการ ไบโอ-เอทานอล ที่ทำมาจากพืชผลทางการเกษตรในพื้นที่ และขณะนี้ก็กำลังมีการพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมสมัยใหม่ อาทิ แบตเตอรี่ และรถไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน ให้สมกับการเป็นพื้นที่เป้าหมายของการเป็นเมืองที่อยู่อาศัยและการทำงานที่สมดุลสำหรับการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ อย่าให้ใครเข้ามาแอบใช้พื้นที่ในบ้านเราเป็นที่ทิ้งกากอุตสาหกรรมและสารพิษอย่างผิดกฎหมายเหมือนที่ผ่านๆ มาละกันครับ ไม่งั้นไม่น่าอยู่ครับ