ไขข้อข้องใจ 'สายพันธุ์อินเดีย' อันตรายแค่ไหน?

ไขข้อข้องใจ 'สายพันธุ์อินเดีย' อันตรายแค่ไหน?

เมื่อโควิด-19 "สายพันธุ์อินเดีย" ถูกตรวจพบในคลัสเตอร์แคมป์คนงานที่หลักสี่ เรามาชวนไปทำความรู้จักเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย กันว่า แท้ที่จริงแล้ว มีอันตรายมากน้อยแค่ไหน ทำไมโลกจึงจับตาอย่างเป็นกังวล?

ถือว่าต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด สำหรับการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย ในประเทศไทย หลังจากเดิมที ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้เปิดเผยว่าพบผู้ป่วย โควิด-19 “สายพันธุ์อินเดีย” ในประเทศไทยแล้วในสถานกักกันโรค โดยเป็นคนไทยมาจากปากีสถานนั้น

ล่าสุดวันที่ 21 พ.ค.64 มีรายงานอัพเดทว่า ศบค.รับทราบรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อินเดีย จำนวน 15 ราย ที่แคมป์คนงานหลักสี่ ขณะนี้อยู่ในการดูแลของ รพ. และส่งทีมสอบสวนโรคลงไปแล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุข เตรียมแถลงข่าวชี้แจงรายละเอียดในวันนี้ ช่วงเวลา 15.00 น. โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  

"กรุงเทพธุรกิจ" จะชวนทุกๆ คนไปทำความรู้จัก "โควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย" เกิดการกลายพันธุ์ทั้งแบบ Double Mutant และ Triple Mutant Variant ส่งผลให้อันตรายกว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม และด้วยการระบาดอย่างหนักในประเทศอินเดียทำให้ทั่วโลกต่างให้ความสนใจในการศึกษาเพื่อเตรียมรับมือป้องกันการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ดังกล่าว

   

  • "สายพันธุ์อินเดีย" คืออะไร?

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) ว่า สำหรับประเทศไทยการพบ “สายพันธุ์อินเดีย” ในสถานที่กักกันผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศไม่ใช่เรื่องแปลกและเป็นเรื่องน่าวิตกกังวลแต่อย่างใด ทุกคนเข้ามาได้มีการตรวจ ถ้าตรวจพบก็จะกักกันจนปลอดภัยไม่ให้มาระบาดในประเทศไทย

“สายพันธุ์อินเดีย” เป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่พบเป็นครั้งแรกในประเทศอินเดียตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2563 เชื้อไวรัสโควิด “สายพันธุ์อินเดีย” ตัวนี้มีชื่อว่า “B.1.617” จากการศึกษาทางทฤษฎีพบว่าการกลายพันธุ์ของโควิด“สายพันธุ์อินเดีย” ในครั้งนี้อาจมีแนวโน้มทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของวัคซีนลดลงได้ แต่ยังไม่มีการยืนยันทฤษฎีดังกล่าวอย่างแน่ชัด

ทั้งนี้ “สายพันธุ์อินเดีย” กลายพันธุ์ 2 จุด (Double Mutant)  คือ E484Q และ L452R ส่งผลให้มีความสามารถในการกระจายตัวที่สูงมากขึ้น รวมถึง“สายพันธุ์อินเดีย” กลายพันธุ์ 3 จุด (Triple Mutant Variant) เป็นชนิด B.1.618 หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “โควิดสายพันธุ์เบงกอล” เกิดจากการหายไปของหนามตำแหน่ง H146 และ Y145 และมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง E484K และ D614G

   

  • การแพร่ระบาดของ "สายพันธุ์อินเดีย"

สำหรับการกลายพันธุ์ของ “สายพันธุ์อินเดีย” นั้น ดร.เจเรมี คามิลล์ นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยลุยเซียนาสเตตของสหรัฐ กล่าวว่า ลักษณะการกลายพันธุ์บางอย่างของไวรัสสายพันธุ์อินเดีย มีความคล้ายคลึงกับที่พบในสายพันธุ์บราซิลและสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ถึงแม้ว่าในขณะนี้ ทางผู้เชี่ยวชาญเผยว่ายังไม่มีหลักฐานสรุปได้แน่ชัดเกี่ยวกับเชื้อกลายพันธุ์ใหม่นี้ แต่ความน่ากังวลคือ มีการกลายพันธุ์ที่สำคัญในตำแหน่ง E484K ที่เป็นจุดสำคัญในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน(แอนติบอดี) ซึ่งแอนติบอดีเป็นสิ่งเดียวที่จะต่อสู้กับไวรัสได้ หลังจากคนผู้นั้นได้รับวัคซีนหรือเคยผ่านการติดเชื้อมาแล้ว

แต่หากนำ สายพันธุ์อินเดียมาเทียบกับสายพันธุ์จากอังกฤษ หรือที่เรียกว่าไวรัสสายพันธุ์เคนต์ (B.1.1.7) ซึ่งตรวจพบได้มากที่สุดภายในประเทศ ณ ขณะนี้รวมทั้งแพร่กระจายไปยังกว่า 50 ประเทศทั่วโลก

"ผมคิดว่าสายพันธุ์อินเดียไม่น่าจะร้ายแรง หรือติดต่อได้ง่ายเท่าสายพันธุ์สหราชอาณาจักร เราไม่ควรจะตื่นตระหนก" ดร.เจเรมี กล่าว

ขณะที่ทางด้าน ดร.เจฟฟรีย์ บาร์เร็ตต์ จากสถาบันเวลล์คัมแซงเกอร์ของสหราชอาณาจักร เผยว่า มีการพบเชื้อกลายพันธุ์ของอินเดียตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว หากเป็นตัวการที่ทำให้เกิดการระบาดรอบสองจริง ก็เท่ากับว่ามันใช้เวลาในการแพร่กระจายนานหลายเดือนมากกว่าจะมาถึงจุดนี้ ซึ่งหมายความว่าไวรัสสายพันธุ์อินเดียติดต่อกันได้ยากกว่าสายพันธุ์เคนต์

   

  • โควิดในอินเดียพุ่งสูง เหตุสายพันธุ์กลายพันธุ์

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกมีคำสั่งห้ามผู้เดินทางจากประเทศอินเดีย เดินทางเข้าประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์อินเดียแล้ว แต่ก็ยังคงมีบางประเทศที่ยังไม่มีมาตรการดังกล่าว

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาสาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอินเดียพุ่งสูงในขณะนี้ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า สาเหตุมาจากสายพันธุ์ B.1.617 ที่พบครั้งแรกในอินเดียใช่หรือไม่ ซึ่งสายพันธุ์นี้ปัจจุบันพบในราว 17 ประเทศทั่วโลก

ซาฮิด จามีล นักไวรัสวิทยาอาวุโสของอินเดีย กล่าวว่า สายพันธุ์ B.1.617 มีการกลายพันธุ์สำคัญสองตำแหน่งที่โปรตีนหนามของไวรัสส่วนที่เกาะติดกับเซลส์มนุษย์

องค์การอนามัยโลก (WHO)กล่าวว่า B.1.617 พบครั้งแรกในอินเดียเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา แม้สายพันธุ์ก่อนหน้านั้นจะพบตั้งแต่เดือน ต.ค. WHO จัดให้ B.1.617 เป็น “สายพันธุ์ที่ต้องติดตาม”หมายความว่า อาจกลายพันธุ์ทำให้ไวรัสติดต่อง่ายขึ้น เป็นเหตุให้เกิดโรคที่รุนแรงขึ้น หรือหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

    

  • ป้องกัน "สายพันธุ์อินเดีย"การ์ดอย่าตก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวัคซีนที่นำมาฉีดในอินเดียนั้น ได้แก่ "วัคซีน"โควาซิน คือ วัคซีนโควิด-19 ที่ใช้เทคนิคเชื้อตาย (Inactivated vaccines) ซึ่งผลิตมาจากไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) ที่ถูกทำให้ตายแล้วด้วยสารเคมีหรือความร้อน เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส เป็นเทคนิคที่เคยใช้กับการผลิตวัคซีนตับอักเสบเอ หรือวัคซีนโปลิโอ (ชนิดฉีด) มาแล้ว และเป็นวัคซีนที่ใช้เทคนิคเดียวกันกับวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) ของประเทศจีน

สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนโควาซินนั้น รายงานอย่างเป็นทางการของรัฐบาลอินเดีย ภายหลังการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา พบว่า วัคซีนโควาซินมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ได้ประมาณ 78 เปอร์เซ็นต์

ขณะเดียวกัน ผลการศึกษาจากสถาบันไวรัสวิทยาแห่งชาติอินเดีย และสภาวิจัยทางการแพทย์แห่งประเทศอินเดีย รายงานด้วยว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนโควาซินสามารถลบล้างฤทธิ์เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้หลากหลายสายพันธุ์ รวมทั้งยังออกฤทธิ์ต่อต้านสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์คู่ (Double Mutant) เช่น "สายพันธุ์อินเดีย" และสายพันธุ์อังกฤษ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจาก โควาซิน แล้ว อินเดียยังผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีชื่อว่า Covishield ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ผ่านสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (Serum Institute of India) หรือ SII หนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของโลก และสามารถผลิตวัคซีนได้มากกว่า 60 ล้านโดสต่อเดือน

โดยผลการทดสอบทางคลินิกระหว่างประเทศล่าสุด มีการรายงานว่า วัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าชนิดนี้ มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับโควิด-19 ได้ถึง 90% ในกรณีที่ฉีดเข็มแรกครึ่งโดส และฉีดเข็มที่สองเต็มโดส อย่างไรก็ดี ข้อมูลดังกล่าวยังคงต้องมีการวิจัยที่ลงลึกในรายละเอียด และมีความชัดเจนให้มากขึ้นในลำดับถัดไป

ดังนั้น สำหรับสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังแน่นอนว่าต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันตนเองตามมาตรการ และระวังไม่ให้การ์ดตก ควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์เป็นประจำ รักษาระยะห่างกับผู้อื่น ไม่ชุมนุมหรือรวมกลุ่มกัน และฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19