สปสช. แจงกติกา จ่าย รพ.เอกชน ย้ำ ป่วยโควิดรักษาฟรี ห้ามเรียกเก็บ

สปสช. แจงกติกา จ่าย รพ.เอกชน ย้ำ ป่วยโควิดรักษาฟรี ห้ามเรียกเก็บ

สปสช. ย้ำ กลุ่มเสี่ยงตรวจโควิด รักษา ฟรี ทั้ง รพ.รัฐ เอกชน แจงกรณีมีข่าว สปสช. จ่าย รพ.เอกชนไม่เต็มจำนวน ไม่เป็นความจริง ชี้จ่ายตามรายการที่มีระบุไว้ตามกติกา หากมียาอื่นหรือการรักษานอกเหนือรายการ รพ.สามารถยื่นเรื่องต่อ กรม สบส. ให้พิจารณาเพิ่มได้

แม้ปัจจุบัน สปสช. ออกมายืนยันว่าคนไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงทุกคนตรวจคัดกรอง และรักษาโควิด 19 ฟรี ไม่ว่าจะใน รพ.รัฐและเอกชน โดยมีการทำข้อตกลงรายการเบิกจ่ายสำหรับ รพ. เอกชนไว้กว่า 4,000 รายการ แต่ก็ยังพบข้อร้องเรียนการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย รวมถึงข้อสงสัยกรณี รพ.เรียกเก็บ 9 แสนบาท แต่ทำไม สปสช.จ่ายแค่ 7 แสนบาท

วันนี้ (10 พ.ค. 64) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊คไลฟ์ “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” โดยระบุว่า ยืนยันกับพี่น้องประชาชนว่าโควิด 19 เป็นเหตุฉุกเฉิน ดังนั้น ค่ารักษาพยาบาลจะไม่เรียกเก็บกับประชาชน ให้มาเรียกเก็บกับสปสช. กรณีการตรวจคัดกรองจะจ่ายจาก สปสช. โดยตรง ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาล สปสช. จะเรียกเก็บจากกองทุนต่างๆ ที่ผู้ป่วยมีสิทธิมาให้ รพ. โดยราคา ค่าใช้จ่าย มีการตกลงกัน แล้ว ผ่าน ครม. เพื่อสร้างความมั่นใจอีกครั้งว่ารายการค่ารักษาครอบคลุมทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง หากแม้มีรายการใดที่ไม่ครอบคลุม ทาง รพ.สามารถเสนอชี้แจ้งมาได้ว่ามีรายการใดบ้าง

ส่วนใหญ่ที่มีการเรียกเก็บจากประชาชน จากการตรวจสอบมี 4 ประเด็น คือ

1. รพ.เอกชน บอกว่า สปสช. จ่ายเงินช้า จึงต้องเรียกเก็บจากประชาชนก่อน ขณะนี้ ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว และทุก รพ. พึงพอใจกับระยะเวลาในการจ่ายจากเดิม 1 เดือน ได้ปรับมาเป็น 15 วันต่อครั้ง

2. เบิกเกินกว่าราคาที่กำหนด โดยเราได้มีประกาศรายการไว้ราว 4,000 กว่ารายการ แต่บางครั้งที่ รพ.เรียกเก็บมา เรียกเก็บมาเกินกว่าราคาที่กำหนด จึงต้องขอให้เรียกเก็บตามจำนวนรายการที่ตกลงกัน

3. เรียกเก็บรายการที่ไม่อยู่ในประกาศ โดยกรณีนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จะพิจารณาขยายรายการที่เกินและจ่ายคืน ดังนั้น ประเด็นนี้ ไม่เป็นเหตุที่จะต้องไปเก็บกับประชาชนหรือผู้ป่วย เพราะสามารถแจ้งมาที่ สบส. เพื่อดำเนินการแก้ไขให้

4. เนื่องจากกติกาเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ ทำให้บางครั้ง รพ.ตามกติกาไม่ทัน เช่น การตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ในอดีตต้องมีอาการ แต่ปัจจุบัน กลุ่มเสี่ยงไม่ต้องมีอาการ ให้ใช้ดุลยพินิจของแพทย์ บางครั้ง รพ.ยังไม่เข้าใจ ดังนั้น หากแพทย์ สั่งตรวจนั้นหมายความว่ามีสิทธิ์จะเบิกกับสปสช. ได้

“เป็นสี่ประเด็นหลักที่ได้ตรวจสอบมาว่าเป็นเหตุให้ยังมีการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย แต่หากเราแก้ไขปัญหา 4 ประเด็นนี้แล้ว คาดว่าปัญหาการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยจะดีขึ้น” นพ.จเด็จ กล่าว

 

  • รพ. เรียกเก็บ 9 แสน แต่ทำไม จ่าย 7 แสนบาท 

เลขาธิการฯ สปสช. กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีที่บอกว่า สปสช. จ่าย รพ. ไม่เต็มจำนวน คำว่าไม่เต็ม ในกรณีที่เป็นตัวอย่าง ว่าเรียกเก็บจากผู้ป่วย 9 แสนกว่าบาท จากที่ประสานไปยัง รพ. ดังกล่าว ทาง รพ.ไม่มีการเรียกเก็บจากผู้ป่วยแล้ว ทั้งนี้ เพราะส่วนหนึ่งเรียกเก็บจากประกันที่ผู้ป่วยมี และส่วนหนึ่งเรียกเก็บจาก สปสช. ตามเพดานรายการที่ได้มีการกำหนดไว้

“ยกตัวอย่างเช่น รพ.แห่งนี้ เรียกเก็บกับ สปสช. มา 7.1 แสนบาท จำนวนน 604 รายการ จาก 4,000 รายการที่มีกำหนดไว้ในกติกา  แต่จากการตรวจสอบแล้วพบว่าตรงกับรายการที่กำหนดไว้เพียง 490 รายการ เป็นเงิน 5.4 แสนบาท ส่วน 114 รายการ ไม่มีในรายการที่ตกลงกันไว้ ไม่สามารถเบิกได้ เป็นเงิน 1.7 แสนบาท ดังนั้น เราถือว่าทำตามที่ตกลงกันไว้ในกติกา ซึ่งทาง รพ. หลังจากพูดคุยก็มีการตกลงตามกติกาที่คุยกันไว้”

“ทั้งนี้ ในจำนวนเงิน 1.7 แสนบาท ที่อยู่นอกรายการ ทาง รพ.สามารถทำเรื่องมาที่ กรม สบส. ว่ามีความจำเป็นต้องใช้ แต่ไม่อยู่ในรายการที่เบิก ให้พิจารณาขยายรายการ เพื่อคืนเงินให้กับ รพ. โดยขณะนี้ สบส. อยู่ระหว่างการพิจารณาขยายเพิ่มอีก 7 รายการ จากข้อเสนอของรพ.เอกชน ดังนั้น ไม่ใช่ว่า สปสช. จ่ายไม่เต็มจำนวนที่ รพ. เบิก แต่จ่ายตามในรายการที่ตกลงกันไว้”

  • ยานอกเหนือจากรายการ เบิกได้หรือไม่

“ส่วนยาที่อยู่นอกเหนือจากรายการกำหนด หากจำเป็นต้องใช้ แต่อยู่นอกรายการ รพ. จะทำเรื่องมาให้กรม สบส. เพื่อขยาย เพื่อนำเรื่อง เข้า ครม. หากครม. มีมติ ก็จะทำการจ่ายคืนให้ย้อนหลัง ดังนั้น หากมีความเป็นต้องใช้ ขอรบกวน รพ. อย่าเพิ่งเรียกเก็บจากผู้ป่วย ขอให้ส่งเรื่องมาที่ กรม สบส. เพื่อพิจารณา เพื่อลดภาระความกดดันหน้างาน เราเข้าใจว่าบางครั้ง รพ. จำเป็นต้องใช้ยาตัวนี้จริงๆ แต่ไม่มั่นใจว่าจะได้เงินคืนหรือไม่ ทาง สบส. ยืนยันแล้วว่า จะดูแลเรื่องนี้ให้ โควิด 19 เป็นโรคร้ายแรง เชื่อว่าจะมีการพิจารณาให้เร็วขึ้น และให้ รพ. มีความมั่นใจแม้จำเป็นต้องใช้ยานอก หรือเกินขอบเขตที่กำหนด” นพ.จเด็จ กล่าว

  • ตรวจโควิด แบบไหนถึงจะ ฟรี !

ในกรณีตรวจหาเชื้อโควิด 19 ที่หลายคนยังสับสนว่าตกลงต้องจ่ายเงินหรือไม่ “นพ.จเด็จ” อธิบายว่า ไม่ว่าการตรวจจะเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือในดุลยพินิจของแพทย์แล้วสั่งตรวจ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทางรพ.ก็จะมาเก็บกับ สปสช. แต่แนะนำว่าก่อนไปตรวจควรปรึกษาแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ก่อน เพราะเวลาการตรวจมีความสำคัญ ตรวจเร็วเกินไปก็ไม่เจอ ตรวจช้าเกินไปก็ไม่ดี ดังนั้น แนะนำ ตั้งแต่ 1 ม.ค. เป็นต้นมา หากคนที่อยากจะตรวจและไม่แน่ใจว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์  

  • ที่ทำงานให้ไปตรวจโควิด ก่อนทำงาน

ขณะที่ ข้อสงสัยที่ว่า หากที่ทำงานให้ตรวจโควิด 19 ก่อนถึงจะสามารถเข้าสถานที่ทำงานได้ จะครอบคลุมการตรวจโควิดฟรีหรือไม่นพ.จเด็จ” ระบุว่า กรณีนี้ต้องทำความเข้าใจกับบริษัทก่อน ประเด็นการตรวจของ สปสช. ไม่ได้อยู่ที่การทำงาน แต่อยู่ที่ว่าท่านเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ดังนั้น ความเป็นกลุ่มเสี่ยงไม่ใช่จะไปทำงานแล้วจึงตรวจไม่ใช่เงื่อนไข แต่หากท่านไปสัมผัสผู้ป่วย แล้วไม่ได้ป้องกันอย่างดีพอ หรือไปในที่ทางราชการระบุว่าเป็นพื้นที่เสี่ยง จะไปทำงานหรือไม่ได้ไปทำงานก็ต้องตรวจ

ดังนั้น เงื่อนไขที่บอกว่าบริษัทให้ตรวจก่อน จริงๆ ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ท่านควรจะหารือกับแพทย์ก่อนว่าเงื่อนไขแบบนี้ควรจะตรวจหรือไม่ หากแพทย์ออกใบรับรองว่าไม่จำเป็นต้องตรวจก็เอาไปยื่นกับโรงงานว่าแพทย์ให้คำวินิจฉัยว่ายังไม่จำเป็นต้องตรวจ ควรจะเป็นประเด็นว่า ท่านเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ หรือมีความจำเป็นต้องตรวจเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อหรือไม่

  • เข้าไอซียู ต้องจ่ายเพิ่ม ? 

สำหรับ กรณีผู้ป่วยชาย 43 ปีน้ำหนักมาก 110 กก. ใช้สิทธิบัตรทอง มีอาการเหนื่อย หอบ ไอ ไม่มีโรคประจำตัว ตรวจคัดกรองโควิด 19 ครั้งที่ 2 ใน รพ.เอกชน พบว่าติดเชื้อ หลังจากนั้นอาการหนัก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และ รพ. เอกชนแจ้งว่า มีค่าใช้จ่าย 5 หมื่นบาท

นพ.จเด็จ อธิบายว่า กรณีนี้อยู่ในเงื่อนไขในรายการเมื่อต้องเข้าห้องไอซียูไม่ต้องเรียกเก็บกับผู้ป่วย แต่การที่ รพ. แจ้งกับผู้ป่วยก่อน เพราะแต่เดิมปกติ รพ.ต้องแจ้งค่าใช้จ่าย 3 -6 วัน แต่ยืนยันว่าไม่ต้องจ่าย เพราะท่านเป็นโควิด 19 แม้เข้าไอซียูก็ไม่ต้องจ่าย เพราะอยู่ในรายการที่ สปสช. ต้องจ่ายอยู่แล้ว

ด้าน “นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์” อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวเสริมว่า ประเด็นเรื่องค่าใช้จ่าย จะทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าตัวเองจะต้องจ่าย แต่หากเราไป รพ.เอกชน จะเห็นว่าเขามีแนวปฏิบัติอยู่ว่า ทุก 3 วันจะแจ้งว่ามีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่ ดังนั้น ตอนนี้จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกรมฯ ทำเรื่องเฉพาะผู้ป่วยโควิด 19 ขอให้ไม่ต้องแจ้งค่าใช้จ่ายเพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าจะต้องจ่าย

“ในเรื่องของการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 สบส. ซึ่งทำหน้าที่ดูแลพ.ร.บ. สถานพยาบาล ที่บังคับใช้กับ รพ.เอกชนทั้งประเทศ ได้ออกประกาศว่าโควิด 19 เป็นโรคฉุกเฉิน UCEP- COVID -19 เมื่อประกาศแล้ว ทำให้สถานพยาบาลทุกแห่งต้องดูแลผู้ป่วยเหมือนผู้ป่วยฉุกเฉิน คือ เข้าที่ไหนก็ได้ และต้องดูแลให้ปลอดภัย เรื่องค่าใช้จ่ายให้เก็บจากหน่วยงานของรัฐ โดยกำหนดให้ สปสช. เป็น “เคลียริงเฮาส์” ทำให้รักษาได้ทุกแห่งไม่เสียค่าใช้จ่าย ครอบคลุมทั้งการตรวจแล็บ นอน รพ. ส่งต่อผู้ป่วย และหลังจากการฉีดวัคซีน หากมีภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดวัคซีน แล้วมีการนอน รพ. ก็สามารถนอน รพ. ได้โดยไม่คิดมูลค่า” อธิบดีกรม สบส. กล่าว

  • ทำไม รพ.เอกชน รักษาฟรีบางเครือข่าย

ส่วนที่ รพ.เอกชน บางแห่งบอกว่า รักษาฟรีเฉพาะบางเครือข่ายเท่านั้น ไม่ใช่ รพ.เอกชนทุกแห่ง นพ.ธเรศ กล่าวย้ำว่า ประเด็นนี้ ประกาศครอบคลุมสถานพยาบาลทุกแห่งทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยเอกชน ครอบคลุมทั้ง รพ. และคลินิก

เลขาธิการฯ สปสช. กล่าวเสริมว่า คำว่าสถานพยาบาล ไม่ได้หมายถึงเครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่ง แต่หมายถึงทุกสถานพยาบาลที่มาขึ้นทะเบียนกับ สบส. ดังนั้น ในเหตุฉุกเฉิน จึงไม่ใช่ข้อยกเว้นว่าเครือนี้รับหรือไม่รับ และ รพ.เอกชนทุกแห่ง ตอนที่เสนอราคาที่ตกลงกัน เป็นการยอมรับทุกเครือข่าย ทุก รพ. เป็นไปตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล  

ทั้งนี้ หากประชาชน ถูกเรียกเก็บเงินไปแล้ว สามารถร้องเรียน ที่ผ่านมา สบส. มีเรื่องร้องเรียน 74 เรื่อง โดยมีการแจ้งให้ รพ. คืนเงินผู้ป่วยเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ ทาง สปสช. มีเรื่องที่ค้างอยู่ราว 200 รายการ มีการประสาน ให้ รพ. คืนเงินผู้ป่วย และมาเรียกเก็บกับ สปสช. แทน หากใครที่ต้องการร้องเรียน สามารถโทรได้ที่ กรม สบส. 1426 หรือ สปสช. 1330 ต่อ 12 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง  

  • สปสช. ปรับรอบจ่าย รพ. จาก 1 เดือน เป็น 15 วัน

ข้อมูล ณ วันที่ 7 พ.ค. 64 สปสช. ได้โอนเงินค่ารักษาและตรวจคัดกรองโควิด-19 ให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ 148 แห่ง เป็นเงินกว่า 2,700 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่ารักษาโควิด-19 จำนวน 1,700 ล้านบาท และค่าตรวจคัดกรองโควิด-19 เดือนเมษายน 2564 จำนวน 1,000 ล้านบาท

โดย สปสช.ได้ปรับระบบการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลและหน่วยบริการต่างๆ ให้เร็วขึ้น จากเดิมที่มีรอบการจ่ายทุก 1 เดือน เป็นจ่ายทุกๆ ครึ่งเดือน หรือเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่หน่วยบริการ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเมื่อมีสภาพคล่องดีขึ้น ก็จะมีความคล่องตัวในการรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ได้มากขึ้นด้วย

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในส่วนของงบบริการสาธารณสุขกรณีการคัดกรองโควิด 19  สำหรับผู้ป่วยนอก (OPD) นั้น สปสช.ได้ปรับให้จ่ายเร็วขึ้นเป็นทุกๆ 15 วัน ซึ่งครอบคลุมงบบริการผู้ป่วยนอกทุกประเภท ไม่ใช่แค่งบผู้ป่วยนอกกรณีโควิด-19 เท่านั้น ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลที่ดูแลมีกระแสเงินสดที่จะนำไปหมุนเวียนเพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วย โดยไม่กระทบการบริหารจัดการในส่วนอื่นๆ ของโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามในส่วนของงบรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ หรือ UCEP COVID-19 นั้น มีการเบิกจ่ายให้โรงพยาบาลทุก 15 วันอยู่แล้ว