‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ที่31.06 บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ที่31.06 บาทต่อดอลลาร์

ทิศทางเงินบาทต้องจับตาทิศทาเงินดอลลาร์เป็นหลักหากตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยง หลังเฟดไม่รีบเปลี่ยนนโยบายการเงิน แต่ยังต้องระวังแรงขายนักลงทุนต่างชาติจากโควิด-19และการจ่ายปันผลขอาจไม่ทำให้บาทแข็งไปมาก คาดวันนี้เงินบาทคลื่อนไหวในกรอบ 31.00- 31.15บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.06 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.17 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.00-31.15 บาต่อดอลลาร์ และค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 31.00-31.35 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรจับตาทิศทางของเงินดอลลาร์ให้ดี โดย เงินดอลลาร์มีโอกาสทรงตัวหรืออ่อนค่าลง หากตลาดยังเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) โดยผู้เล่นในตลาดอาจลดความต้องการถือเงินดอลลาร์ที่เปรียบเสมือนหลุมหลบภัยจากความปั่นป่วนในตลาด (Safe Haven asset) หลังตลาดกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น จากมุมมองที่เชื่อว่าเฟดจะไม่รีบเปลี่ยนนโยบายการเงิน หลังยอดการจ้างงานสหรัฐฯออกมาแย่กว่าคาด

อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทจะไม่แข็งค่าไปมาก โดยแนวรับสำคัญเงินบาทยังอยู่ที่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ เพราะแม้ดอลลาร์จะอ่อนค่าลง แต่ยังมีแรงซื้อสกุลเงินต่างชาติจากผู้นำเข้ารวมถึงแรงซื้อสกุลเงินต่างชาติเพื่อจ่ายปันผลนักลงทุนต่างชาติ คอยหนุนไม่ให้เงินบาทแข็งค่าไปมาก

นอกจากนี้ ยังคงต้องระวังความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้น หากนักลงทุนต่างชาติยังมีความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในไทย และกลับมาเทขายหุ้นไทยเพิ่มมากขึ้น

หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าหนักในช่วงท้ายของสัปดาห์ หลังจากที่ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrollls) ของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นเพียง 2.7 แสนราย น้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านราย อย่างมาก

อย่างไรก็ดี โดยรวมเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น หนุนโดยยอดการส่งออกที่โตแข็งแกร่งจากโซนเอเชีย อาทิ จีนและไต้หวัน รวมถึง การฟื้นตัวที่ดีกว่าคาดของภาคการบริการและการใช้จ่ายครัวเรือนในยุโรป

สำหรับสัปดาห์นี้ เราคาดว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึง ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยตลาดพร้อมจะเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง (Risk-On) หากข้อมูลเศรษฐกิจต่างส่งสัญญาณว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกไม่ได้มีปัญหา แม้ว่าในหลายพื้นที่จะยังคงเผชิญการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่รุนแรงก็ตาม ทั้งนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจในแต่ละภูมิภาคมีดังนี้

ในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดยังคงชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเดินหน้าฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนเมษายน จะเพิ่มขึ้นราว 1.0%m/m หนุนโดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนผ่านตัวเลขคาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (UofMichigan Consumer Sentiment) เดือนพฤษภาคม ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 90.1 นอกจากนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จากทั้งการบริโภคในประเทศจะช่วยหนุนให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core CPI) เดือนเมษายน เร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 2.3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) จะได้แรงหนุนจากฐานราคาน้ำมันปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ CPI เร่งตัวขึ้นแตะ 3.6%

ทั้งนี้ ควรติดตามมุมมองต่อเศรษฐกิจและแนวโน้มนโยบายการเงิน ผ่านถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Evans, Williams, Brainard ในวันอังคาร Daly, Bostic, Clarida ในวันพุธ Barkin ในวันพฤหัสฯ และ Waller , Bullard ในวันศุกร์ โดยต้องระมัดระวังในกรณีที่เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่แสดงความมั่นใจแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อย่าง การปรับลดคิวอี (QE Tapering) เพราะอาจทำให้ตลาดปิดรับความเสี่ยงได้

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรป สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) เดือนพฤษภาคม ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 15 จุด จาก 13.1 จุดในเดือนก่อน สอดคล้องกับผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจของเยอรมนีและยุโรป (ZEW Economic Sentiment) ในเดือนพฤษภาคม ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 72 จุด และ 68 จุด ตามลำดับ

ส่วนในฝั่งอังกฤษ อานิสงส์ของการเร่งแจกจ่ายวัคซีนจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมอังกฤษฟื้นตัวดีขึ้น โดยยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) เดือนมีนาคม จะปรับตัวขึ้นกว่า 1.0%m/m อย่างไรก็ดี ปัญหาการระบาดในช่วงไตรมาสแรกจะกดดันให้เศรษฐกิจหดตัว -6.1%y/y

และสำหรับโซนเอเชีย ตลาดคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจฟิลิปปินส์มีโอกาสหดตัวกว่า 3.2%y/y ในไตรมาสแรกจากปัญหาการระบาดโควิด-19 ที่รุนแรง ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.00% และ BSP อาจจะไม่สามารถลดดอกเบี้ยลงได้อีก เพราะอัตราเงินเฟ้อฟิลิปปินส์ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.5% สูงกว่ากรอบเป้าหมายของ BSP ส่วนมาเลเซียที่ยังมีปัญหาการระบาดหนักเช่นกัน ก็อาจเห็นเศรษฐกิจในไตรมาสแรกหดตัว 0.5%y/y