'ซิงเกิล คอมมานด์' บทพิสูจน์นายกฯ

'ซิงเกิล คอมมานด์' บทพิสูจน์นายกฯ

การใช้อำนาจ “ซิงเกิล คอมมานด์” ที่นำรูปแบบการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์การแก้ปัญหากลับมาใช้อีกครั้ง ด้วยการโอนอำนาจ พ.ร.บ.รวม 31 ฉบับให้นายกรัฐมนตรี รวมถึงการกำกับดูแลการฉีดวัคซีนในสถานการณ์ที่รุนแรงนี้ นับเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นและจำเป็นที่ต้องควบคุมให้ได้

การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 3 นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2564 ถึงวันที่ 8 พ.ค.2564 มีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยรวม 52,141 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ มากที่สุด 18,029 ราย อันดับ 2 จ.นนทบุรี 3,249 ราย และอันดับ 3 จ.สมุทรปราการ 3,018 ราย ข้อมูลดังกล่าวปฏิเสธไม่ได้ว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นศูนย์กลางการระบาดระลอกที่ 3 โดยถ้ารวมจำนวนผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 27,636 ราย เกินครึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ

การแก้ปัญหาโรคโควิด-19 กลับเข้าสู่การใช้วิธีการโอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีมาเป็นอำนาจของรัฐมนตรีชั่วคราวอีกครั้ง หลังที่การระบาดระลอกที่ 1 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ใช้วิธีการนี้และควบคุมสถานการณ์จนนำมาสู่การทยอยคลายล็อกดาวน์ในเดือน พ.ค.2563 และประชาชนใช้ชีวิตได้ปกติในครึ่งหลังของปี 2563 ในขณะที่การระบาดระลอกที่ 2 ที่มีต้นเหตุจากการปล่อยให้มีแรงงานต่างชาติลักลอบเข้าประเทศและไม่ผ่านการกักตัว สามารถควบคุมได้ด้วยการล็อกดาวน์พื้นที่ระบาดรุนแรงใน จ.สมุทรสาคร

ส่วนการระบาดระลอกที่ 3 ที่มีความรุนแรงมากกว่าทุกครั้งหากวัดที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ การควบคุมการระบาดระลอกนี้รัฐบาลไม่ประกาศให้มีการล็อกดาวน์เหมือนการระบาดครั้งที่ 1 โดยให้ประชาชนใช้ชีวิตได้เกือบปกติ รวมถึงการอนุญาตให้มีการเดินทางได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ถึงแม้จะอนุญาตให้จัดกิจกรรมได้แบบจำกัด จึงทำให้รัฐบาลนำรูปแบบการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์การแก้ปัญหากลับมาใช้อีกครั้งด้วยการโอนอำนาจ พ.ร.บ.รวม 31 ฉบับให้นายกรัฐมนตรี

กฎหมายทั้ง 31 ฉบับ ครอบคลุมตั้งแต่ด้านการสาธารณสุข การคมนาคมขนส่ง วัตถุอันตราย ความมั่นคง การทหารและความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นอำนาจเต็มที่นายกรัฐมนตรีสามารถใช้ควบคุมสถานการณ์ที่รุนแรงในขณะนี้ได้ สามารถลดขั้นตอนการสั่งการไปถึงผู้รับผิดชอบได้โดยตรง ทุกฝ่ายจึงคาดหวังว่านายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจที่มีอยู่บริหารจัดการและควบคุมสถานการณ์การระบาดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

การใช้อำนาจ “ซิงเกิล คอมมานด์” ครั้งนี้ รวมไปถึงการกำกับดูแลการฉีดวัคซีนที่เป็นเงื่อนไขสำคัญในการควบคุมการระบาด รวมถึงการที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดสำคัญของประเทศในขณะนี้ การควบคุมการระบาดครั้งนี้เป็นโจทย์ที่ยากขึ้นและจำเป็นที่ต้องควบคุมให้ได้ เพราะรัฐบาลไม่มีงบประมาณมากพอที่จะจ่ายเยียวยาได้มากกว่านี้ ยกเว้นรัฐบาลจะกู้เงินเพิ่ม จึงถือเป็นบทพิสูจน์สำหรับนายกรัฐมนตรี