ซัพพลาย 'ชิพ' อุตฯไฮเทคช็อต ปรับแผนรับลดกระทบส่งออก

ซัพพลาย 'ชิพ' อุตฯไฮเทคช็อต ปรับแผนรับลดกระทบส่งออก

ภาคการส่งออกเป็นเครื่องยนต์เดียวของระบบเศรษฐกิจที่คาดว่าปีนี้จะมีทิศทางที่สดใส หลังได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจากการฉีดวัคซีนและการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

ภาคการส่งออกเป็นเครื่องยนต์เดียวของระบบเศรษฐกิจที่คาดว่าปีนี้จะมีทิศทางที่สดใส หลังได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจากการฉีดวัคซีนและการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาล อย่างไรก็ตาม การส่งออกอาจไม่ราบรื่นเพราะความผิดปกติของดีมานด์และซัพพลายอันเกิดจากการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมากำลังจะสร้างปัญหาต่อภาคการผลิตทั่วโลกและอาจรวมถึงไทยด้วย 

บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่าง S&P Global Ratings ได้เปิดเผยรายงาน “Global Chip Shortage Engulfs A Growing List Of Tech Players.” เมื่อเม.ย.ที่ผ่านมา ระบุถึงสถานการณ์ขาดแคลนชิพอย่างหนักซึ่งกำลังจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และอื่นๆ รวมถึงการเติบโตของกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีด้วย

สาเหตุส่วนหนึ่งรายงานระบุว่ามาจากการเติบโตอย่างมากของความต้องการสินค้ากลุ่มคอมพิวเตอร์บุคคล(พีซี)และสมาร์ทโฟน จึงต้องมีการบริหารจัดการด้านต้นทุนและดีมานด์ที่เพิ่มสูงขึ้นในอุตสาหกรรมกลุ่มดังกล่าวอย่างมาก แต่ก็พบว่าอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเผชิญปัญหานี้อย่างรุนแรงทำให้ผู้ผลิตรถยนต์จำนวนมากประกาศปิดโรงงานและต้องจัดลำดับความสำคัญสายการผลิตใหม่ ขณะที่กลุ่มผู้ผลิตสมาร์ทโฟน ก็เผชิญกับปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ 

รายงานประเมินว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ไปจนถึงไตรมาส 2 ปีนี้ กว่าที่ห่วงโซ่การผลิตจะกลับสู่สมดุล อย่างไรก็ตาม มีโอกาสเป็นไปได้อีกเช่นกันที่ดีมานด์จะไม่บรรเทาลงและนำไปสู่ภาวะซัพพลายช็อกแบบเฉียบพลันอีกครั้ง 

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ได้จับตาสถานการณ์การขาดแคลนชิพอย่างใกล้ชิดแบบรายสัปดาห์เพราะความเสี่ยงสถานการณ์ยังอยู่ในสัดส่วน 50:50 คือขณะนี้ยังพอจะผลิตรถยนต์ได้อยู่ โดยแต่ละบริษัทต่างพยายามสลับการใช้ชิพจากรายเดิมไปเป็นผู้ผลิตที่ยังมีสินค้าอยู่ว่าพอปรับได้หรือไม่ เพราะในขณะนี้ตลาดชิพยังตึงตัวอยู่มาก

สาเหตุที่เกิดการขาดแคลนชิพ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทั่วโลกมีความต้องการอุปกรณ์ไอที เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็ปเล็ต คอมพิวเตอร์ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เพราะต่างก็ต้องกักตัวทำงานที่บ้าน นักเรียนนักศึกษาก็เรียนออนไลน์ ทำให้โรงงานผลิตชิพหันไปผลิตชิพเพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมเหล่านี้มากขึ้น

ประกอบกับในปีที่ผ่านมายอดขายรถยนต์ลดลงมาก ทำให้โรงงานผลิตชิพเพื่อป้อนให้กับอุปกรณ์ไอทีแทน แต่ในปีนี้ยอดผลิตรถยนต์ได้เพิ่มขึ้นมาก ทำให้โรงงานผลิตชิพหันกลับมาผลิตป้อนให้ไม่ทัน

“ในโลกนี้มีโรงงานผลิตชิพอยู่ไม่มาก และชิพที่ใช้ในไทยส่วนใหญ่มาจากเอเชียตะวันออก เช่นญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ซึ่งการที่โรงงานผลิตชิพจะขยายกำลังการผลิตก็ต้องใช้เวลานานเป็นปี เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง และเวลาในการก่อสร้าง แต่ผู้ผลิตที่มีอยู่ก็พยายามขยายสายการผลิต อย่างเต็มที่ แต่ปริมาณชิพก็ยังคงตึงตัว”

162048638329

สุภาพ สุวรรณพิมลกุล เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม ส.อ.ท. กล่าวว่า หลังการทยอยฉีดวัคซีนในประเทศต่าง ๆ ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจจับจ่ายใช้สอบเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อความต้องการตึงตัวทำให้ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างตื่นตระหนักและกักตุนชิพ ซึ่งยิ่งทำให้เกิดการขาดแคลนหนักขึ้น จากดีมานด์เทียมที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าลดการกักตุน แต่ทั้งนี้ตลาดชิพโลกยังคงตึงตัว ทำให้ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เริ่มลดสต็อกสินค้าจนกว่าซัพพลายชิพในตลาดโลกจะดีขึ้น 

ทั้งนี้ แม้ว่าปริมาณชิพในตลาดโลกจะตึงตัว แต่ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ก็ยังพอผลิตได้อย่างต่อเนื่อง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้ไม่สามารถขยายกำลังการผลิตรองรับออเดอร์ที่เพิ่มขึ้นได้ 

สุภาพ คาดว่า ในปีนี้ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ฯ จะขยายตัวได้ประมาณ 7-10% แต่หากไม่มีปัญหาขาดแคลนชิพก็อาจจะขยายตัวได้ถึง 12% บนพื้นฐานค่าเงินบาทอยู่ในระดับ 31 บาท