ไทยติดอันดับ 16 อีคอมเมิร์ซโลก แต่ 'ค้าออนไลน์ข้ามประเทศ' น้อย

ไทยติดอันดับ 16 อีคอมเมิร์ซโลก แต่ 'ค้าออนไลน์ข้ามประเทศ' น้อย

เปิดรายงานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ประมาณการมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซทั่วโลกปี 2562 มีมูลค่าเท่าไร? และผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ต่อการค้าปลีกออนไลน์ในปี 2563 เป็นอย่างไร?

ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด (UNCTAD) ออกรายงานเรื่องประมาณการมูลค่าตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ทั่วโลกปี 2562 และประเมินผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ต่อการค้าปลีกออนไลน์ในปี 2563 

อังค์ถัดทำการศึกษาและมีข้อมูลมูลค่าอีคอมเมิร์ซทั้งแบบธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) และธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C) ว่ามีมูลค่าสูงถึง 26.7 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็น 30% ของจีดีพีโลก เติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ประมาณ 4% จากตัวเลขจะเห็นว่าแนวโน้มการค้าของโลกกำลังไปสู่ระบบออนไลน์ถึง 1 ใน 3 และหากวิเคราะห์เจาะลึกต่อ พบว่า 82% ของมูลค่าทั้งหมดเป็นการค้าออนไลน์แบบ B2B ส่วนรูปแบบ B2C มี 18% หรือมูลค่า 4.9 ล้านล้านดอลลาร์ โตขึ้นจากปี 2561 ถึง 11%

ข้อมูลที่น่าสนใจ คือ แม้สหรัฐจะเป็นผู้นำตลาดอีคอมเมิร์ซ มีมูลค่ารวม 9.58 ล้านล้านดอลลาร์ ตามด้วยญี่ปุ่น 3.41 ล้านล้านดอลลาร์ จีน 2.60 ล้านล้านดอลลาร์ และเกาหลีใต้ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ แต่ประเทศส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนการค้าแบบ B2B มากกว่า 45% ขณะที่จีนมีสัดส่วน B2B เพียง 18% ทำให้จีนเป็นผู้นำทางด้านตลาดอีคอมเมิร์ซที่ขายตรงไปยังผู้บริโภค (B2C) คือ มีมูลค่า 1,539 พันล้านดอลลาร์ ตามด้วยสหรัฐ 1,261 พันล้านดอลลาร์ และสหราชอาณาจักร 251 พันล้านดอลลาร์

ขณะที่เมื่อวิเคราะห์เฉพาะ B2C ของประเทศที่มีมูลค่าสูงสุด 20 ประเทศแรกของโลก พบว่าครอบคลุมตลาดทั่วโลกถึง 82% มีมูลค่ารวม 4,021 พันล้านดอลลาร์ มีจำนวนนักช้อปปิ้งออนไลน์ 20 ประเทศรวม 1,339 ล้านคน จำนวนสูงสุดคือจีน 639 ล้านคน และสหรัฐ 189 ล้านคน สำหรับไทยติดอันดับที่ 16 ของโลก มีมูลค่ารวม 27 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนราว 5.3% ของจีดีพีมีนักช้อปปิ้งออนไลน์ราว 5 ล้านคน และเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน และอันดับ 6 ในเอเชีย

อังค์ถัดประมาณการมูลค่าอีคอมเมิร์ซ B2C ระหว่างประเทศ พบว่า ทั่วโลกยังมีเพียง 440 พันล้านดอลลาร์ คือ ยอดสั่งซื้ออนไลน์ข้ามประเทศผู้บริโภคยังมีสัดส่วนน้อยกว่า 10% เมื่อเทียบมูลค่าโดยรวม และประเทศที่มีมูลค่าการขายออนไลน์ข้ามประเทศมากสุดคือจีนที่ประมาณ 105 พันล้านดอลลาร์ ตามด้วยสหรัฐอเมริกา 90 พันล้านดอลลาร์ สหราชอาณาจักร 38 พันล้านดอลลาร์ และฮ่องกง 35 พันล้านดอลลาร์ ด้วยมูลค่าส่วนใหญ่ยังอยู่ในประเทศสิบอันดับแรก ส่วนที่เหลือรวมกันมีมูลค่าเพียง 8 พันล้านดอลลาร์ และพบว่าการค้าออนไลน์บ้านเราขายออกไปต่างประเทศมูลค่าน้อยมากๆ

สำหรับมูลค่าปี 2563 อังค์ถัดยังได้รวบรวมจากทุกประเทศ เบื้องต้นมีการนำรายงานการค้าปลีกออนไลน์จาก 7 ประเทศ ได้แก่ จีน สหรัฐ สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ แคนาดา ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ (โดย 3 ประเทศหลังมีมูลค่าตลาดออนไลน์น้อยกว่าประเทศไทย แต่คาดว่าเมื่อได้ตัวเลขมาแล้วจึงนำมาใส่ในรายงาน)

รายงานระบุว่ามูลค่ารวมค้าปลีกออนไลน์ 7 ประเทศ มูลค่ารวมกันที่ 2,495 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับมูลค่าค้าปลีกทั้งหมดคือ 13,003 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็น 19% สูงขึ้นจากปี 2562 ที่อยู่ในระดับ 16% หมายความว่าผู้บริโภคในประเทศเหล่านี้หันมาซื้อของออนไลน์มากขึ้น และจากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าประเทศที่มีสัดส่วนซื้อสินค้าปลีกออนไลน์เมื่อเทียบค้าปลีกเดิมสูงสุด คือ เกาหลีใต้ 25.9% ตามด้วยจีน 24.9% และทุกประเทศมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาก จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สุดท้ายในรายงานได้นำรายได้ปี 2563 ของอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ทั่วโลก 13 อันดับแรกมาเปรียบเทียบ พบว่าเป็นบริษัทจีน 4 บริษัท Alibaba อยู่ในอันดับหนึ่ง มูลค่ายอดขายสินค้าที่ 1,145 พันล้านดอลลาร์ และเป็นบริษัทในสหรัฐ 7 บริษัท ซึ่ง Amazon อยู่อันดับสองมีมูลค่ายอดขายสินค้าที่ 575 พันล้านดอลลาร์ รวมทั้งพบว่าบริษัทที่เกี่ยวกับการเดินทางและท่องเที่ยวต่างมีรายได้และอันดับตกลงมาหมดทั้ง Uber, Airbnb, Expedia และ Booking ซึ่งสองบริษัทหลังเคยอยู่อันดับ 5 และ 6 ของโลก แต่ปีที่ผ่านมาตกมาอันดับ 11 และ 12 ยอดขายลดลงไปมากกว่า 60%

จะเห็นว่าโควิด-19 เร่งตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้น มีสัดส่วนที่คนหันมาช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น บ้านเราแม้จะมีนักช้อปปิ้งออนไลน์จำนวนมากและติดอันดับโลก แต่เราขายของออนไลน์ไปต่างประเทศไม่ได้มากนัก ดังนั้น เราควรต้องเร่งพัฒนาตลาดออนไลน์ มิฉะนั้นแล้วอนาคตเราจะแข่งได้ลำบากเมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกเปลี่ยนไป