'เชียงใหม่' ขยายเวลาปิดพท.เสี่ยง! เร่งตรวจโควิดกลุ่ม 'ฟู้ดเดลิเวอรี่'

'เชียงใหม่' ขยายเวลาปิดพท.เสี่ยง! เร่งตรวจโควิดกลุ่ม 'ฟู้ดเดลิเวอรี่'

เชียงใหม่ เร่งตรวจโควิดเชิงรุก เน้นกลุ่มพนักงานส่งอาหารเดลิเวอรี่ พร้อมขยายเวลาปิดพื้นที่เสี่ยง 18 ประเภท 6 กลุ่มกิจกรรม มีผลตั้งแต่ 8 พ.ค. 64 เป็นต้นไป

   

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 64 มีรายงานข่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่มีมติออกคำสั่งฯ เพิ่มเติม 2 ฉบับ ได้แก่ คำสั่งฯ ฉบับที่ 51/2564 และคำสั่งฯ ที่ 52/2564 โดยยกเลิกคำสั่งเดิมคือ คำสั่งฯ ที่ 41/2564 ที่ 44/2564 และคำสั่ง ที่ 48/2564 โดยคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 51/2564 เป็นเรื่อง ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว โดยมีสาระสำคัญคือ ให้ปิดสถานที่ รวมทั้งสิ้น 18 ประเภท ประกอบด้วย

1. สถานบริการ สถานประกอบการฯ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการ อาบน้ำ/อาบอบนวด 2. โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ โรงละคร, 3. สวนน้ำ สวนสนุก, 4. สวนสัตว์, 5. ลานสเก็ต โรลเลอร์เบลด, 6. โต๊ะสนุกเกอร์ บิลเลียด โบว์ลิ่ง, 7. ร้านเกม ตู้เกม ร้านอินเทอร์เน็ต, 8. สระว่ายน้ำ, 9. โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ (ยิม) ฟิตเนส, 10. ที่จัดนิทรรศการ ศูนย์แสดงสินค้า และศูนย์ประชุม,

11. พิพิธภัณฑ์, 12. ห้องสมุดสาธารณะ/ชุมชน/เอกชน, 13. สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก, 14. สถานดูแลผู้สูงอายุ, 15. สถานที่สัก-เจาะผิวหนัง/ร่างกาย, 16. โรงเรียนสอนลีลาศ/เต้นรำ, 17. ศูนย์พระเครื่อง สนามพระ ซุ้มพระเครื่อง และ 18. ห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยง โดยให้มีผลโดยเปลี่ยนให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. 64 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้คำสั่งฯ ฉบับที่ 51/2564 ยังกำหนดให้มี มาตรการควบคุมกิจกรรมเสี่ยงและจำกัดเวลาเปิดปิดสถานที่ รวม 6 กลุ่มกิจการ ได้แก่

1. ควบคุมร้านอาหาร โดยห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้าน โดยที่ร้านอาหารสามารถเปิดขายอาหารและเครื่องดื่มได้ถึงเวลา 21.00 น. โดยให้นำกลับไปกินที่อื่น,

2. ให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า เปิดได้ถึงเวลา 21.00 น.

3. ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ให้เปิดได้ไม่เกินเวลา 23.00 น. สำหรับร้านที่เปิด 24 ชั่วโมง ให้เริ่มเปิดอีกครั้งในเวลา 04.00 น.,

4. ร้านเสริมสวย ตัดผม เปิดบริการได้เฉพาะ สระ ตัด ซอย แต่งผม และต้องไม่มีผู้นั่งรอในร้าน,

5. สถานบริการควบคุมน้ำหนัก สถานเสริมความงาม เปิดให้บริการได้ โดยให้ยกเว้นการทำในส่วนใบหน้า และต้องไม่มีผู้รอในร้าน,

6. ให้ปิดสนามกีฬา สถานที่ออกกำลังกายในร่ม ส่วนสนามกีฬาฯ ที่เป็นพื้นที่โล่งแจ้ง สามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม ทั้งนี้ให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. 64 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

คำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 52/2564 เรื่อง ปิดสถานที่เสี่ยงชั่วคราว โดยสาระสำคัญของคำสั่งนี้ระบุว่า ห้ามใช้สถานที่ใดๆ เพื่อจำหน่ายสินค้าที่มีลักษณะเป็นครั้งคราว (อาทิ เปิดท้ายขายของ สถานที่ที่มีรถเร่มารวมกันขายของใช้ประจำวัน ตามหมู่บ้าน/ตำบล/อำเภอ ในลักษณะครั้งคราว ฯลฯ) เว้นแต่เป็นการดำเนินการของส่วนราชการที่มีผู้รับผิดชอบชัดเจน โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. 64 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ได้ลงพื้นที่ทำงานเชิงรุกเข้าตรวจหาเชื้อในชุมชนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และกลุ่มเป้าหมายที่ต้องดำเนินการตรวจคัดกรองในลำดับต้นๆ คือ กลุ่มพนักงานส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ ซึ่งได้ดำเนินการตรวจไปแล้ว 132 ราย หลังจากนั้นจะทยอยตรวจพนักงานส่งอาหารเพิ่มขึ้น เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 และเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการด้วย

ขณะเดียวกันขอให้ประชาชนชาวเชียงใหม่ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และ กลุ่มบุคคลที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ได้แก่ โรคทางเดินหายในเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือก โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และ โรคเบาหวาน ให้ลงทะเบียนจองคิวรับวัคซีนโควิด-19 โดยจังหวัดเชียงใหม่ได้รับจัดสรรวัคซีนแอสตราเซเนกา มาให้กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้องรัง จำนวน 600,000 โดส ซึ่งจากข้อมูลการจองคิงข้อมูลเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564 มีการจองคิวผ่านแอพพลิเคชั่นหมอพร้อมจำนวน 34,450 ราย และ จองคิวผ่านโรงพยาบาลในพื้นที่ 3,640 ราย รวม 38,090 ราย จากข้อมูลเห็นว่ายังมีวัคซีนอีกเป็นจำนวนมาก พร้อมที่จะฉีดให้ผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วย7 โรค โดยจะเริ่มฉีดในวันที่ 7 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป