'โฆษกศาล' แจงยิบเบื้องหลังปล่อยตัว 'รุ้ง ปนัสยา'

'โฆษกศาล' แจงยิบเบื้องหลังปล่อยตัว 'รุ้ง ปนัสยา'

'โฆษกศาล' เผย ขั้นตอนก่อนปล่อยตัว 'รุ้ง ปนัสยา' ใช้ "การกำกับดูเเล" ประกอบดุลพินิจทำคำสั่ง ชี้เป็นมาตรการเเทนหลักประกันลดความเหลื่อมล้ำ เสี่ยงหลบหนีก่อภยันตราย

8 พ.ค. 64 นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผย กรณีที่ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว น.ส.ปนัสยา หรือรุ้ง สิทธิจิรวัฒนกุล เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ซึ่งในรายละเอียดของคำสั่งศาล มีการระบุถึงการวางเงื่อนไขตามที่ น.ส.ปนัสยา แถลงไว้ต่อศาลว่าในระหว่างที่ได้ประกันตัวจะไม่กระทำการใดๆ ที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จะไม่เดินทางออกนอกประเทศ และมาศาลตามกำหนดนัด โดยมีบิดามารดาและอาจารย์ของ น.ส.ปนัสยา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาแถลงรับรองต่อศาลว่า จะดูแลให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

โดยโฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า จึงขอถือโอกาสนี้ทำความเข้าใจถึงแนวคิดและมาตรการที่สำคัญซึ่งศาลยุติธรรมนำมาใช้ในการปล่อยชั่วคราวในปัจจุบันเพื่อให้ผู้ต้องหา หรือจำเลยที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณา ได้รับการปล่อยชั่วคราวมากที่สุดโดยที่ไม่หลบหนีและไม่เป็นอันตรายต่อผู้เสียหาย พยาน และสังคมโดยรวม ซึ่งเป็นหลักพื้นฐานในการดำเนินคดีอาญา ที่จะต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล ควบคู่ไปกับความปลอดภัยและความสงบสุขของสังคมเสมอ ไม่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง เพราะคงรับกันไม่ได้หากจะคำนึงถึงแต่ความสงบเรียบร้อย โดยละเลยสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกคุมขังทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่าเขากระทำความผิด หรือให้ความสำคัญต่อสิทธิเสรีภาพจนเกินเลยทั้งที่ทราบดีว่าหากปล่อยออกไปผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นจะหลบหนีหรือจะไปก่อภัยอันตรายหรือความเสียหายต่อสังคม     

มาตรการใหม่ที่กำลังกล่าวถึงคือ “การกำกับดูแลในระหว่างที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราว” เพราะเดิมเมื่อมีการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี จะต้องมีการวางหลักประกันโดยเข้าใจว่าคงไม่มีผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใด คิดจะหลบหนีหรือไปก่อความเสียหายเพราะเกรงจะถูกริบหลักประกัน ทำให้บุคคลทั่วไปแทนที่เรียกกระบวนการนี้ว่า “การปล่อยชั่วคราว” แต่กลับเรียกกันว่า “การประกันตัว” ทั้งที่ไม่ใช่คำในกฎหมายเพราะไม่ว่าคดีอุกฉกรรจ์หรือคดีอัตราโทษเล็กน้อย

การจะปล่อยชั่วคราวต้องวางหลักประกันแทบทั้งสิ้นจะต่างกันก็เพียงมูลค่าของหลักประกัน แม้จะเป็นวิธีการที่ใช้กันมานานแต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าการใช้หลักประกันไม่อาจเหนี่ยวรั้งการหลบหนีหรือการคุกคามบุคคลอื่นได้เลยโดยเฉพาะกับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีฐานะดี ตรงกันข้ามกลับก่อความเดือดร้อนแสนสาหัสแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ยากจนต้องกู้หนี้ยืมสินมาวางเป็นหลักประกันและยังถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายประกันอาชีพ จนเกิดวาทกรรมทำนองประชดประชัน เช่น คุกมีไว้ขังคนจน 

ทางสำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้พยายามแสวงหาวิธีการใหม่ที่เรียกกันว่า “ระบบกำกับดูแล” มาใช้แทนการเรียกหลักประกันซึ่งจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการหลบหนีหรือภัยอันตรายได้ดีกว่าการเรียกให้วางหลักประกัน เพราะระบบนี้ให้อำนาจศาลที่จะตั้งผู้กำกับดูแลคอยสอดส่องพฤติกรรมของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกปล่อยออกไปได้ด้วยเพื่อลดโอกาสหรือความเสี่ยงที่ผู้นั้นจะหลบหนีหรือไปก่อภัยอันตรายและเมื่อใดที่ผู้กำกับดูแลเห็นว่าผู้นั้นมีพฤติการณ์ดังกล่าวก็จะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที 

เมื่อเป็นเช่นนี้ การเรียกหลักประกันน่าจะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ทำให้โอกาสของคนจนที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวไม่แตกต่างจากคนรวยเพราะทุกคนมีโอกาสได้รับการปล่อยชั่วคราวภายใต้หลักเกณฑ์ที่สามารถปฏิบัติได้เท่าเทียมกันไม่ขึ้นกับฐานะ และสามารถลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างแท้จริง การให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้อำนาจเจ้าพนักงานหรือศาลที่สั่งประกันกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ หรือเงื่อนไขอื่นใดให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยปฏิบัติเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือป้องกันภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

ทั้งนี้ คดีใดต้องวางเงื่อนไขในการให้ประกันหรือไม่ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์และความจำเป็นในคดีนั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องวางเงื่อนไขในการประกันตัวทุกคดี การทำความเข้าใจขั้นตอนปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องดังงกล่าวต้องย้อนกลับไปดูหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ประกันตัวว่า  ในเวลาที่ศาลตัดสินใจว่าจะให้ประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใด กฎหมายกำหนดให้ศาลต้องพิจารณาข้อมูลหลายประการ เช่น ความหนักเบาของข้อหาที่ถูกดำเนินคดี พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่ รวมถึงภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดด้วย  เรื่องที่ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนีหรือไม่ หรือจะมีภัยอันตรายหรือความเสียหายเกิดขึ้นจากการปล่อยหรือไม่ ล้วนแต่เป็นเรื่องในอนาคต คือเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ขึ้นในวันข้างหน้าทั้งสิ้น  

ซึ่งการพิจารณาระดับความเสี่ยงดังกล่าวต้องอาศัยข้อมูลปัจจุบันรวมถึงพฤติการณ์แห่งคดี เรียกว่าการประเมินความเสี่ยงในการให้ประกันตัว ศาลยุติธรรมได้นำแนวคิดและวิธีการประเมินความเสี่ยงมาใช้ในการพิจารณาให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาหลายปีแล้ว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสขอประกันตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไม่สามารถหาหลักทรัพย์มายื่นขอประกันและเป็นการคุ้มครองความสงบสุขของสังคม

การที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวแสดงว่าความเสี่ยงของการหลบหนีหรือก่อภัยอันตรายของผู้ต้องหาหรือจำเลยอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ หากยังมีความเสี่ยงอยู่กฎหมายได้ให้อำนาจศาลวางมาตรการหรือเงื่อนไขเพื่อควบคุมความเสี่ยงนั้น เช่น การห้ามเดินทางออกนอกประเทศ การให้ไปรายงานตัวต่อศาลหรือเจ้าหน้าที่เป็นระยะเพื่อป้องกันการหลบหนี  การห้ามไม่ให้ผู้ต้องหาเข้าใกล้ผู้เสียหาย หรือห้ามไม่ให้กระทำการบางอย่างไว้ชั่วคราว การจะวางเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยปฏิบัติระหว่างที่ได้ประกันหรือไม่  หรือจะวางเงื่อนไขมากน้อยอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละคนในแต่ละคดีซึ่งศาลพิจารณาอย่างรอบด้าน บางคดีศาลอาจไม่วางเงื่อนไขเลยก็ได้  การวางเงื่อนไขให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติระหว่างได้ประกันจึงเป็นกลไกของกฎหมายในการควบคุมความเสี่ยงทั้งในเรื่องการหลบหนีรวมไปถึงการก่อภัยอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นระหว่างการปล่อยชั่วคราว

ในกรณีของรุ้ง เงื่อนไขที่ศาลกำหนดให้ปฏิบัติเป็นไปตามที่รุ้งแถลงไว้ต่อศาล นอกจากนี้ยังมีบิดามารดาและอาจารย์ของรุ้งมายืนยันกับศาลว่าจะช่วยกำกับดูแลให้รุ้งปฏิบัติตามเงื่อนไข ที่ศาลกำหนดยิ่งทำให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น และนำมาสู่คำสั่งให้ประกันตัวในที่สุด แสดงว่าเงื่อนไขรวมถึงคำมั่นของตัวรุ้งเองและการสอดส่องดูแลโดยบิดามารดาและครูอาจารย์ที่รับอาสาเพียงพอในการกำกับดูแลแล้ว  

สำหรับแนวคิดการมีผู้กำกับดูแลผู้ที่ศาลให้ประกันตัว เป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้ประกันตัวไป และทำให้สังคมมั่นใจได้ว่ามีจะไม่มีความเสียหายใดเกิดขึ้นระหว่างการให้ประกัน เพราะมีผู้ที่ช่วยสอดส่องดูแลให้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด  ซึ่งสอดรับกับหลักเกณฑ์การให้ประกันตัวตามกฎหมาย  หากมีการฝ่าฝืนเงื่อนไข  ผู้กำกับดูแลจะต้องรายงานศาลหรือเจ้าพนักงานเพื่อหามาตรการแก้ไขที่เหมาะสมและทันท่วงที 

ที่ผ่านมาศาลยุติธรรมได้ตั้งผู้กำกับดูแลผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ศาลให้ประกันตัวไปแล้วทั้งสิ้น 2,362 คน การให้ประกันตัวโดยมีการตั้งบุคคลเป็นผู้กำกับดูแลผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างปล่อย เป็นมาตรการของกฎหมายตามพระราชบัญญัติมาตรการกำกับและติดตามจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยชั่วคราวโดยศาล พ.ศ.2560 เป็นการให้ประกันตัวโดยที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยอาจไม่ต้องหาหลักทรัพย์มาวางเป็นประกันไว้ต่อศาล ไม่มีการนำทรัพย์สินมาเป็นเงื่อนไขในการให้ประกัน 

โดยให้ชุมชนหรือสังคมมีส่วนร่วมในการสอดส่องในฐานะผู้กำกับดูแลถือเป็นวิธีการใหม่ที่สำนักงานศาลยุติธรรมส่งเสริมให้นำมาใช้ในการปล่อยชั่วคราวเพื่อทดแทนการใช้ทรัพย์สินเป็นหลักประกัน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำที่ศาลยุติธรรมดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง