'แอพฟู้ดดิลิเวอรี่ รายใหญ่' ขยับ! งดเก็บ GP ช่วย 'ร้านอาหาร-ไรเดอร์' ฝ่า 'โควิด'

'แอพฟู้ดดิลิเวอรี่ รายใหญ่' ขยับ! งดเก็บ GP ช่วย 'ร้านอาหาร-ไรเดอร์'  ฝ่า 'โควิด'

'แอพฟู้ดดิเวอรี่' รายใหญ่ เริ่มปล่อยมาตรการช่วยร้านอาหาร-ไรเดอร์ ปรับค่าคอมมิชชั่น หรือ GP ลง ล่าสุด "แกร็บ" เตรียม ลดค่า GP ให้ร้านอาหารเหลือ 0% สำหรับการสั่งอาหารแบบไปรับที่หน้าร้านด้วยตนเอง ขณะนี้มีเพียง "โรบินฮู้ด" รายเดียวที่ไม่เก็บค่า GP

162044763356

'แอพฟู้ดดิเวอรี่' รายใหญ่ เริ่มปล่อยมาตรการช่วยร้านอาหาร-ไรเดอร์ ด้วยการปรับค่าคอมมิชชั่น หรือ GP ลง ล่าสุด มาตรการด่วนจาก "แกร็บ ประเทศ" ที่เพิ่งประกาศไป ระบุเตรียม ปรับลดค่า GP ให้ร้านอาหารเหลือ 0% สำหรับการสั่งอาหารแบบ “รับอาหารที่หน้าร้านด้วยตนเอง” (Self Pick-up)โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. ถึง 1 ส.ค. 64 โดยขณะนี้มีเพียง "โรบินฮู้ด" รายเดียวเท่าน้้นที่ไม่เก็บ ค่า GP

"อเลฮานโดร โอโซริโอ" กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 ที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ขณะนี้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนมากกว่าครั้งที่ผ่านมา แกร็บได้ติดตามและประเมินสถานการณ์ พร้อมปรับแผนการดำเนินงาน ทั้งธุรกิจบริการการเดินทาง (เรียกรถผ่านแอป) ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการที่ประชาชนงดออกจากบ้าน และธุรกิจเดลิเวอรีเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้อย่างเต็มที่

โดยล่าสุด แกร็บได้ประกาศ 3 มาตรการใหญ๋ในการช่วยร้านอาหาร พาร์ทเนอร์คนขับ โดยวางงบประมาณไว้ราว 40 ล้านบาท อ่านต่อที่  https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/936737 

หนึ่งในมาตรการล่าสุดที่ประกาศออกมาของแกร็บ ประเทศไทย คือ การเตรียมปรับลดค่าคอมมิชชันให้กับพาร์ทเนอร์ร้านอาหารเหลือ 0% สำหรับการสั่งอาหารแบบ “รับอาหารที่หน้าร้านด้วยตนเอง” (Self Pick-up) เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม ถึง 1 สิงหาคม 2564

โดยให้พาร์ทเนอร์ร้านอาหารสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง https://www.grabmerchantth.com/spu ตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคมเป็นต้นไป

ที่ผ่านมา มีการร้องเรียนจากร้านอาหาร รวมถึงภาคส่วนต่างๆ ถึงค่า GP ที่บรรดาแอพฟู้ดฯ ยังมีการเรียกเก็บในอัตราที่สูง ท่ามกลางวิกฤติโควิดที่ยังทุบเศรษฐกิจ ฉุดการจับจ่ายของประชาชน จึงอยากให้แอพฟู้ดฯ ได้ปรับลดค่า GP ลง เพื่อให้อีโคซิสเต็มส์ที่สำคัญในวงการนี้ ทั้งร้านอาหาร ผู้บริโภค ไรเดอร์ ยังสามารถยืนอยู่ได้ ท่ามกลางวิกฤติหนัก

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีเพียง แอพฟู้ดดิลิเวอรี่ "โรบินฮู้ด" เพียงรายเดียวเท่านั้น ที่ไม่มีการเก็บค่า GP

"ธนา เธียรอัจฉริยะ" ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนาและให้บริการ “โรบินฮู้ด” แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีสัญชาติไทย กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 ที่กำลังทวีความเข้มข้น โรบินฮู้ดขอยืนหยัดในการเป็นตัวกลางสนับสนุนร้านอาหารด้วยการยึดมั่นในหลักการของแพลตฟอร์มที่ไม่เก็บค่า GP แม้แต่บาทเดียว

"และเรามีนโยบายที่จะไม่เก็บตลอดไป เพื่อมุ่งช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกิจ และสร้างรายได้ที่เป็นธรรมให้กับร้านค้า โดยร้านค้าจะได้รับเงินจากการขายภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งช่วยให้ร้านค้ามีเงินหมุนเวียนในการพยุงธุรกิจต่อไปได้ นอกจากนี้ยังช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับไรเดอร์ท่ามกลางการว่างงานที่ดีดตัวสูงขึ้น"

ทั้งนี้ โรบินฮู้ด ยังได้อัดฉีดไรเดอร์ด้วยการเพิ่มโบนัสค่าแรง 50% ทุกออเดอร์ เป็นเวลา 14 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1-14 พ.ค. 64 

162044657371

ส่วน 'ไลน์แมน วงใน" เป็นอีกหนึ่งค่ายที่มีมาตรการในเก็บค่า GP อย่างชัดเจนมาแต่แรก โดยให้ร้านอาหารเลือกได้ว่า จะเสียค่า GP หรือไม่เสีย ค่า GP ก็ได้ ซึ่งสัดส่วนของร้านอาหารที่เป็นพาร์ทเนอร์ของไลน์แมน วงใน ก็มีทั้ง 2 รูปแบบ

ก่อนหน้านี้ ไลน์แมน วงใน ให้ข้อมูลกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ไลน์ แมน เป็นแพลตฟอร์มที่มีโมเดลยืดหยุ่น สำหรับการเปิดรับร้านอาหารที่จะเข้ามาร่วมขายบนแอพ ร้านอาหารสามารถสมัครและขายบนแอพได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่เสียค่าคอมมิชชั่น หรือ GP และสำหรับค่าส่งอาหาร จะคำนวณตามระยะทางจริง 

ส่วนร้านที่ต้องการเข้าร่วมประเภทเสียค่าคอมมิชชั่น จะทำข้อตกลงเพิ่มเติม เริ่มตั้งแต่ 20-30 % ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจและข้อตกลงที่ร้านค้าสมัครใจ ซึ่งทั้งสองประเภทนี้ ร้านอาหารมีสิทธิ์เลือกได้เอง ไม่ได้มีการบังคับ

โดยก่อนหน้านี้ แนวคิดของการเก็บค่า GP ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ มองว่าการกำหนดอัตราที่เหมาะสม ต้องพิจารณาจากภาพรวมของธุรกิจส่งอาหาร ขณะที่ ค่า GP ยังมีส่วนช่วยโปรโมทร้านอาหาร ดันยอดขายได้ ซึ่งส่วนใหญ่ ค่า GP ที่้เก็บกันจะอยู่ในอัตราตั้งแต่ 15-30%

ก่อนหน้านี้ นางสาวจันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด แกร็บ ประเทศไทย เคยอธิบายกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ไว้ก่อนที่ จะเกิดการแพร่ระบาดโควิดในระลอก 3 ไว้ว่า การเก็บค่า GP ในธุรกิจแอพฟู้ดดิลิเวอรี่นั้น กฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ควรพิจารณาภาพรวมของธุรกิจส่งอาหาร ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่แพลตฟอร์มและร้านอาหารเท่านั้น แต่ยังมีคนขับและผู้บริโภคด้วย ดังนั้น หากโครงสร้างการเก็บค่ารายได้ นำไปสู่การกระจายผลประโยชน์แก่กลุ่มคนทั้งหมดในอีโคซิสเต็ม คือ ผู้บริโภคได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็วในราคาเอื้อมถึง คนขับมีรายได้ที่สม่ำเสมอและอิสระในการปฏิบัติงาน ขณะที่ร้านอาหารมีเครื่องมือทำการตลาด ก็น่าจะเป็นโมเดลที่เหมาะสมสำหรับฟู้ดดิลิเวอรีในระยะยาว

ยกตัวอย่างเช่น การเก็บค่า GP ของร้านค้าที่อยู่บนแพลตฟอร์มเมื่อเทียบกับระบบที่ร้านอาหารเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้าซึ่งต้องจ่ายค่า GP ที่ 20-40% อยู่แล้ว การที่ร้านอาหารมาอยู่ในแพลตฟอร์มและจ่ายค่า GP อยู่ที่ 30% อยากให้ดูว่าแพลตฟอร์มคิดค่าส่งอาหารจากผู้บริโภคที่ 10 บาท หรือส่งฟรี แต่รายได้ที่จ่ายให้พาร์ทเนอร์คนขับอยู่ที่ 30-50 บาท

"เช่น เมื่อสั่งอาหาร 1 ออเดอร์รวม 150 บาท เมื่อคิดค่า GP ด้วยอัตราที่มากสุด จะอยู่ที่ 45 บาท แกร็บจ่ายค่าส่งให้คนขับ 40 บาท นั่นหมายความว่าจะเหลืออยู่ที่แพลตฟอร์มเพียง 5 บาทต่อ 1 ออเดอร์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแกร็บยังมีค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าพัฒนาเทคโนโลยี ค่าพนักงาน เป็นต้น"

ภาพรวมของธุรกิจส่งอาหารออนไลน์ไม่ได้มีเพียงแค่แพลตฟอร์ม และร้านอาหารซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้อง แต่ยังมีคนขับ และผู้บริโภคธุรกิจไม่สามารถดำเนินไปได้หากขาดผู้เกี่ยวข้องส่วนใดส่วนหนึ่งไป การแข่งขันของธุรกิจส่งอาหารออนไลน์มีการแข่งขันสูง และร้านอาหารมีสิทธิเลือกแพลตฟอร์มใช้บริการ ขณะที่ มีผู้เล่นรายใหม่เข้าตลาดต่อเนื่องเป็นสัญญาณที่ดีที่ทั้งหมดจะแข่งกันเพื่อให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ร้านอาหาร คนขับและผู้บริโภค

เช่นเดียวกับ ฟู้ดแพนด้า ที่เชื่อว่า การเก็บค่า GP มีส่วนช่วยผลักดันยอดขายของร้านอาหารให้สูงขึ้น ซึ่งแพลตฟอร์มจะนำส่วนแบ่งรายได้นี้ ไปทำการตลาดออนไลน์โปรโมทให้คนรู้จักร้านโดยที่ร้านอาหารไม่ต้องลงทุนทำดิลิเวอรี่ด้วยตัวเอง ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า

อย่างไรก็ตาม ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ การปรับค่า GP ให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ เชื่อว่า จะทำให้ทุกฝ่ายที่อยู่ในอีโคซิสเต็มส์ได้ประโยชน์ และสามารภเดินหน้าทำธุรกิจได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย ที่สายป่านไม่ยาว ให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปดด้วยกัน