ดูหมอ...ยังไงก็แม่น

 ดูหมอ...ยังไงก็แม่น

ต้องตั้งคำถามก่อนว่า ทำไมคนจำนวนไม่น้อยชอบดูหมอ เวลาทำนายดวงชะตาก็ต้องมีการพูดคุยเรื่องส่วนตัว คนเล่าก็อยากระบาย คนทำนายก็ได้ข้อมูล แล้วงานแบบนี้ เขาทำวิจัยอย่างไร

 ในประเทศทางฝั่งตะวันตก มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่ศึกษาว่า ทำไมคนเราจึงเชื่อหมอดู และคำทำนายเหล่านี้แม่นยำเพียงใด ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์น่าสนใจดีครับ เช่น นักจิตวิทยาชื่อ เรย์ ไฮแมน (Ray Hyman) ที่ศึกษาเรื่องนี้มายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ จนสรุปได้ว่าบรรดาเหล่าหมอดูทั้งหลายใช้ "เทคนิค" ต่างๆ หลายรูปแบบช่วยทำให้คำทำนาย "ดูคล้าย" แม่นยำ

เขาว่าเทคนิคเหล่านี้มีถึง 34 รูปแบบด้วยกัน (เขียนลงในวารสาร Skeptical Inquirer ปีที่ 27 ฉบับที่ 1, ม.ค.-ก.พ. 2003) ซึ่งผมจะขอนำมาเล่าสู่กันฟังส่วนหนึ่ง โดยทั้งหมดที่จะกล่าวต่อไปมีคำอธิบายทางจิตวิทยาเกี่ยวกับกลไกเบื้องหลังที่เกี่ยวข้อง วิธีแรกคือ การทำให้คำทำนายที่ทั่วๆ ไปไม่จำเพาะ ฟังดูคล้ายกับจำเพาะกับคนฟังคนนั้น เรียกเป็นศัพท์เทคนิคว่า Forer Effect หรือ Barnum Effect เช่น

ผมอาจตั้งตัวเป็นหมอดู เห็นคุณกินโอริโอ หากคุณแกะเปิดดูไส้ตรงกลางก่อน ผมก็ทำนายเลยว่า คุณก็อยู่ในพวกคนช่างสงสัย และหากคุณจุ่มนมก่อนกิน ก็เป็นคนเปิดเผย มองโลกในแง่ดี เป็นต้น

คำทำนายซึ่งไม่ได้จำเพาะเจาะจงแบบนี้ คนฟังก็อาจทึกทักเอาว่าตรงได้ไม่ยาก ลองกวาดตามองสื่อต่างๆ รอบตัว มีคำทำนายตามกรุ๊ปเลือด ตามวันเกิด ตามเดือนเกิด ตามปีเกิด ฯลฯ ซึ่งก็ล้วนเป็นการทำให้เรื่องทั่วไปดูจำเพาะขึ้นมานั่นเอง วิธีสังเกตคือเราเข้าไปอยู่ในคำทำนายใดก็ยังเชื่อได้อยู่ดีว่าอยู่กลุ่มนั้น เพราะส่วนใหญ่เป็นแบบกว้าง ๆ 

                 

วิธีที่สองเรียกว่า Illusory Correlation หรือ การทำให้เกิดภาพลวงว่าเกี่ยวข้องกัน ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันจริงๆ วิธีนี้ใช้การเชื่อมโยงบางอย่างที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรง แล้วปล่อยให้จินตนาการของคนฟังเชื่อมโยงเรื่องด้วยตัวเอง

คล้ายๆ กับวิธีการที่จิตแพทย์ให้ผู้ป่วยดูภาพหยดหมึกที่ไม่ได้มีรูปอะไรเป็นพิเศษ แต่ผู้ป่วยแต่ละคนสามารถจินตนาการไปเองได้ว่าเป็นรูปอะไร ซึ่งมีประโยชน์ ใช้วิเคราะห์สภาวะจิตของผู้ป่วยในขณะนั้นได้

ตัวอย่างการใช้งานทริคแบบนี้ เช่น ใช้คำพูดจำพวก "ก่อนหน้านี้ คุณประสบเคราะห์ร้ายบางอย่างมาใช่หรือไม่"  หรือในทางตรงกันข้าม "คุณกำลังจะมีโชคดี" คำว่าเคราะห์ร้ายหรือโชคดีนี้ เป็นคำที่ตีความให้กว้างขวางได้มากจริงๆ

และจินตนาการเชื่อมโยงกับเรื่องต่างๆ ในชีวิตตนเองในช่วงนั้นได้ไม่ยาก ยิ่งทำนายเรื่องในอนาคต จะเกิดจริงหรือไม่ก็ไม่รู้ ก็ยิ่งเชื่อมโยงได้สะดวกมากยิ่งขึ้นไปอีก

ยิ่งลูกค้าเป็นผู้หญิงก็ยิ่งดีใหญ่ เพราะผู้หญิง "ไว" กับคำพวกนี้มากเป็นพิเศษ และสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวโดยคิดเอาเองได้ดีกว่า (มองในมุมหนึ่งคือ มีจินตนาการดีนั่นเอง) พ่อหมอแม่หมอ ก็ยิ่งดูเหมือนแม่นยำมากขึ้นไปอีก

 พ่อหมอแม่หมอที่เก่งๆ นี่ จะคุ้นเคยกับการสังเกตสังกา "ตัวชี้" การตอบสนองของลูกค้าที่เรียกว่า cognitive dissonance หรือ "ความไม่เข้ากันของความคิด"

พูดง่ายๆ คือ ถ้าทายไปผิดทาง เช่น คนให้มาดูไม่มีพี่น้อง แต่เผลอออกปากไปว่ามีญาติพี่น้อง ก็จะมีภาษากายที่ปฏิเสธให้เห็น ตั้งแต่แบบชัดๆ คือ ส่ายหัว (มากบ้างน้อยบ้าง) เม้มปาก ไปจนถึงที่ละเอียดอ่อนมากๆ

เช่น การเปลี่ยนแปลงขนาดม่านตา ! จึงสามารถค่อยๆ ไล่ทำนายไปตามตัวชี้ ที่ร่างกายบ่งบอกออกมา (ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ) ทำให้ดูเหมือนแม่นยำรู้ไปหมดนี่เอง วิธีการแบบนี้ ศัพท์เทคนิคเรียกว่า cold reading ครับ

มีหลักอยู่ข้อหนึ่งที่หมอดูหลายสำนักถ่ายทอดกันจนเป็นธรรมเนียมก็คือ ให้พยายามละเว้นการทำนายเรื่องไม่ดี ศัพท์ทางจิตวิทยาเรียกว่าเป็น Pollyanna Principle

มีงานวิจัยที่ชี้ว่า คนเราจะมีนิสัยปัดเรื่องร้ายออกจากตัว และจะ "เชื่อว่า" คำทำนายพวกนั้นไม่แม่นยำ (เพื่อตัวเองจะได้ไม่ซวย !)

ตรงกันข้ามกับคำทำนายเรื่องบวกๆ เรื่องโชค วาสนา เงินทองไหลมาเทมา ซึ่งจะจดจำไว้อย่างแม่นยำ และหาก "บังเอิญ" มีโชค เช่น ถูกเลขท้าย หมอดูก็จะแม่นยำสุดๆ ขึ้นมาทันตาเห็น

                 

แต่สมัยนี้บ้านเราจะมีหมอดูอีกแบบหนึ่งคือ พวกที่ทำนายเคราะห์ร้ายใส่คนมาดูเสียทุกคนไป พวกนี้จะหากินกับการอาสาแก้ไขเคราะห์ร้ายเหล่านี้ ก็ให้ระวังกันไว้ให้มาก เพราะมักจะต้องเสีย "ค่าสะเดาะเคราะห์" กันมากมายตามไปด้วย

บางรายอาจต้องถึงขั้นเสียเนื้อเสียตัวก็มี ต่างกับสมัยก่อนที่มักไล่ให้ไปทำบุญ ใส่บาตร ปล่อยนกปล่อยปลา หรือถือศีลกินเจ เป็นต้น

ปัจจัยความแม่นยำอีกข้อหนึ่ง ในเมืองไทยก็มีมากแบบที่ไม่ต้องให้ผมยกตัวอย่าง นั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่า Dr. Fox Effect ซึ่งกล่าวว่า แม้เนื้อหาจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของคนที่มาดูหมอ แต่เอาเข้าจริงแล้ว ลีลาท่าทางของคนทำนาย

รวมทั้งการสร้างบรรยากาศห้องทำนายให้ขรึมขลัง มี "พร็อพ" เจ๋งๆ ประกอบอย่างลูกแก้ว หัวกระโหลก เทียน กลิ่นกำยาน ฯลฯ ก็มีผลกับความน่าเชื่อถือมากเช่นกัน

นอกจากเคล็ด (ไม่) ลับต่างๆ ข้างต้นที่ใช้กันกว้างขวางแล้ว ปัจจัยภายในตัวคนที่ไปดูหมอเองก็เอื้อให้ "รู้สึก" ว่า หมอดูแม่นยำเป็นเท่าทวีคูณด้วย

ไม่ว่าจะเป็น selective retention (การเลือกฟังเลือกจำ) หรือ confirmation bias (อคติช่วยยืนยันผล)...กล่าวคือ เวลาหมอดูทายไม่ถูก ก็จะฟังผ่านๆ หูไป แต่เมื่อทาย "ใกล้เคียง" ขึ้นมาสักเรื่อง ก็ใส่คะแนนความแม่นยำให้ไม่ยั้ง                          

หมอดูที่ดังๆ ยังได้ประโยชน์จากการทายบ่อยๆ ให้เป็นข่าว หากบังเอิญตรงขึ้นมาเมื่อใด ก็ใช้โฆษณาหากินไปได้อีกนาน ส่วนที่ทำนายผิดก็เงียบเสีย ก็จะไม่มีใครนึกถึง

ทางจิตวิทยาเรียกการทายสุ่มๆ ไปเยอะๆ แบบเผื่อเลือกแบบนี้ว่า Aunt Fanny Effect .. แหม... ก็ป้าแฟนนี่เล่นบอกเป็นพันๆ เรื่อง จำไม่หวาดไม่ไหวหรอกว่า ป้าบอกอะไรไปบ้าง

มีงานวิจัยที่ทำให้ทราบด้วยว่า การเชื่อหมอดูเป็นกันทั่วทั้งชาวตะวันตกและตะวันออก (ใช้คนจีนเป็นกรณีศึกษา) จะเห็นได้ว่า จิตวิทยาอธิบายได้ว่า ทำไมหมอดูจึง "คล้าย" จะแม่นยำ

ทั้งๆ ที่หาที่แม่นยำจริง ๆ ยากสุด ๆ ไม่เชื่อก็ลองหาคำทำนายเรื่อง สึนามิก่อนเกิดเหตุจริงที่ภาคใต้ของไทยปี 2004 ... แม้แต่เหตุการณ์ใหญ่ขนาดนี้ ยังหาไม่ได้เลยจริงๆ แต่หลังจากนั้นทายกันได้ทุกปี !!!