‘ส่องหุ้น’รับอานิสงส์แพ็กเกจเยียวยารอบใหม่

‘ส่องหุ้น’รับอานิสงส์แพ็กเกจเยียวยารอบใหม่

เวลานี้นอกจากการเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ได้มากที่สุดแล้ว อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

คือ การเยียวยาช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพื่อให้สามารถประคองตัวอยู่รอดต่อไปได้ หลังกำลังซื้อหดหาย รายรับไม่พอกับรายจ่าย ขณะที่หลายบริษัทต้องปิดกิจการ

จนเป็นที่มาของการออกมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาล ซึ่งมีวงเงินรวมกว่า 2.4 แสนล้านบาท ครอบคลุมประชากรราว 51 ล้านคน ถือเป็น “บิ๊กแพ็กเกจ” ที่จะเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและประชาชน

สำหรับมาตรการในรอบนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ด้วยกัน ระยะแรกจะเป็นชุดมาตรการที่สามารถดำเนินการได้เลยทันที ประกอบด้วย การลดค่าน้ำค่าไฟให้กับประชาชนและธุรกิจเอสเอ็มอี เป็นเวลา 2 เดือน (พ.ค.-มิ.ย. 2564) วงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย

พร้อมด้วยมาตรการด้านการเงินผ่านสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 ของธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท, มาตรการพักชำระหนี้ของแบงก์รัฐ ออมสิน, ธ.ก.ส. และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มวงเงินโครงการเราชนะ และ ม.33 เรารักกัน ให้อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และขยายเวลาใช้จ่ายไปจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2564

ส่วยระยะที่ 2 จะเป็นชุดมาตรการที่จะออกมาหลังการระบาดระลอกใหม่เริ่มคลี่คลาย (ก.ค.-ธ.ค. 2564) เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน มีทั้งหมด 4 โครงการ เริ่มด้วยการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีกเดือนละ 200 บาท นาน 6 เดือน (ก.ค.-ธ.ค. 2564), โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น ผู้พิการ เดือนละ 200 บาท นาน 6 เดือน (ก.ค.-ธ.ค. 2564)

และที่มาตามนัด โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ที่รัฐจะสนับสนุนเงินใช้จ่ายวันละ 150 บาท/คน วงเงินรวม 3,000 บาท/คน ซึ่งรอบนี้ให้โควต้าทั้งหมด 31 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ที่เคยได้รับสิทธิในเฟส 1 และ เฟส 2 จำนวน 15 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ เพียงแค่ยืนยันสิทธิเท่านั้น และเปิดลงทะเบียนใหม่อีก 16 ล้านคน

ปิดท้ายด้วยโครงการใหม่ป้ายแดง “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ที่รัฐจะให้ e-Voucher เพื่อนำไปใช้จ่ายในร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่เกิน 5,000 บาท/วัน สูงสุดไม่เกิน 7,000 บาท คาดมีผู้เข้าร่วมโครงการราว 4 ล้านคน ซึ่งรายละเอียดของมาตรการระยะที่ 2 ทั้งหมด จะมีการพิจารณากันอีกครั้งในที่ประชุม ครม. สัปดาห์นี้

แน่นอนว่ามาตรการทั้งหมดที่ออกมาจะช่วยพยุงเศรษฐกิจ แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และยังเป็นจิตวิทยาเชิงบวกต่อบรรยากาศการลงทุนด้วยเช่นกัน ซึ่งกลุ่มที่น่าจะได้รับประโยชน์มากที่สุดคงหนี้ไม่พ้นหุ้นกลุ่มค้าปลีก แต่ก็ต้องยอมรับตามตรงว่าคงไม่ได้มากเท่าไหร่ สะท้อนได้จากการออกมาตรการในครั้งที่ผ่านๆ มา

ไล่ดูแต่ละมาตรการอย่าง คนละครึ่ง, เราชนะ และ ม.33 เรารักกัน คงไม่มีหุ้นตัวไหนที่ได้รับประโยชน์โดยตรง เพราะร้านค้าส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการเป็นผู้ประกอบการรายย่อย บริษัทจดทะเบียนไม่ได้เข้าร่วม แต่จะได้รับประโยชน์ทางอ้อมมากกว่า เช่น ร้านค้าไปซื้อสินค้าเพื่อนำมาขายต่อ ซื้อวัตถุดิบ อาหารสด อาหารแห้ง มาปรุงอาหารเพื่อจำหน่ายอีกที ตัวหลักๆ มีบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO, บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC

แต่ที่น่าสนใจคือมาตรการใหม่ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” เพราะสามารถใช้ได้ทุกร้านที่อยู่ในระบบฐานภาษี ครอบคลุมทั้งค่าอาหาร เครื่องดื่ม ค่าบริการต่างๆ ที่สำคัญจ่ายผ่าน e-Voucher แทนเงินสดได้เลย ต่างจาก “ช้อปดีมีคืน” เมื่อปีก่อนที่ประชาชนต้องจ่ายเงินสดไปก่อน

และดูจากวงเงินที่สามารถใช้ได้สูงสุด 5,000 บาท/วัน น่าจะช้อปกันได้เยอะเลยทีเดียว ที่น่าสนใจมีกลุ่มสินค้าไอทีซึ่งช่วงนี้ยอดขายเติบโตดีรับกระแส Work From Home ทั้งบริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ (COM7), บริษัท เอส พี วี ไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SPVI, บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SIS

รวมถึงกลุ่มสินค้าภายในบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO และบริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ GLOBAL