‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ที่31.23บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ที่31.23บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทแข็งค่าตามดอลลาร์อ่อนค่าจากตลาดเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่ระยะสั้นเงินบาทถูกกดดันจากการแพร่ระบาดโควิด-19ในประเทศ จับตาแรงเทขายหุ้นไทยของต่างชาติ มองเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 31.15- 31.30บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.23 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 31.26 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.15 - 31.30 บาทต่อดอลลาร์

แนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า แม้ว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยง กดดันให้เงินบาทพร้อมแข็งค่าขึ้น

แต่ในระยะสั้น เงินบาทยังมีโอกาสเผชิญความผันผวนจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติเร่งเทขายสินทรัพย์เสี่ยงไทยมากขึ้น โดยต้องติดตามแรงเทขายหุ้นไทยจากนักลงทุนต่างชาติ เพราะหากนักลงทุนต่างชาติเริ่มขายหุ้นไทยหนักขึ้นมากกว่าแรงซื้อบอนด์สุทธิ (ตลาดสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติเป็นฝั่งซื้อสุทธิบอนด์ไทย) ก็อาจทำให้ ฟันด์โฟลว์โดยรวมเป็นไหลออกสุทธิและกดดันเงินบาทได้

อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทอาจไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะทิศทางเงินดอลลาร์ก็ยังไม่กลับมาแข็งค่าหนัก เว้นว่าตลาดจะปิดรับความเสี่ยงรุนแรงจนทำให้ นักลงทุนต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ขณะเดียวกัน เราเริ่มเห็นสัญญาณการกลับเข้ามาเก็งกำไรเงินบาทแข็งค่า ผ่านการซื้อสุทธิบอนด์ระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น

ขณะที่ผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาดการเงินกลับมาเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-On) หนุนโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาดและรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ก็ออกมาดีกว่าที่ตลาดมองไว้เช่นกัน

โดยในฝั่งสหรัฐฯ นักลงทุนยังคงเชื่อมั่นในการฟื้นตัวเศรษฐกิจและเลือกที่จะลงทุนในหุ้นกลุ่ม Cyclical ตามธีมReflation trade หนุนให้ ดัชนี Dowjones ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกว่า 0.93% ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ ส่วนดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ก็ปิดบวก 0.82% เตรียมทำจุดสูงสุดใหม่เช่นกัน โดยดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นเพียง0.37%

ทั้งนี้ปัจจัยที่ขับเคลื่อนตลาดในฝั่งสหรัฐฯ ยังคงเป็นความหวังต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ หลังจากข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีเกินคาด โดยล่าสุด ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ลดลงเหลือเพียงราว 5 แสนราย ต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติ โควิด-19 (ในปี 2019 เฉลี่ยอยู่ที่ 2-3 แสนราย)

อย่างไรก็ดี ในฝั่งตลาดบอนด์ ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ กลับไม่ได้ปรับตัวขึ้นตาม Risk-Appetite ของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น โดยบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ยังคงทรงตัวที่ระดับ 1.57% และยังคงเห็นผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว เมื่อยีลด์ปรับตัวขึ้น (Buy on Dip)

ทั้งนี้ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลดลงกว่า 0.4% สู่ระดับ 90.87 จุด ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ทำให้ตลาดลดการถือครองหลุมหลบภัย (Safe Haven) อย่างเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เรามองว่า ตลาดจะรอคอยการรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ

โดยเฉพาะยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนการถือครองเงินดอลลาร์ต่อไป โดยยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่ออกมาดีเกินคาด (มากกว่า 1 ล้านราย) อาจช่วยหนุนให้ตลาดยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงและกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงหรือทรงตัวที่ระดับใกล้ 90.8 จุด

แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ จีน และยุโรป ได้ช่วยหนุนความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ทำให้โดยรวม ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดย ดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Bloomberg Commodity Index) ได้ปรับตัวขึ้นกว่า0.7% นำโดยการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาเหล็กและทองแดง

สำหรับในวันนี้ ตลาดจะติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยตลาดคาดว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯจะฟื้นตัวแข็งแกร่ง สะท้อนผ่าน ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในเดือนเมษายนที่จะเพิ่มขึ้น ราว9.8 แสนราย และส่งผลให้ อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 5.8%