‘สิงห์เอสเตท’ซื้อนิคมฯต่อยอดธุรกิจไฟฟ้า

‘สิงห์เอสเตท’ซื้อนิคมฯต่อยอดธุรกิจไฟฟ้า

เมื่อเป้าหมายของ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S ต้องการเดินหน้าพัฒนาธุรกิจให้ครอบคลุม 4 กลุ่มธุรกิจที่เชื่อมโยงกัน เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีได้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยากเกินจะคาดเดา ทั้งในประเทศและทั่วโลก โดย 3 ธุรกิจแรก ประกอบด้วย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ธุรกิจโครงการที่พักอาศัย และธุรกิจรีสอร์ตและโรงแรม และธุรกิจกลุ่มที่ 4 เป็นธุรกิจใหม่ !

จึงเป็นที่มาของการมองหา “โอกาสใหม่” ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก เพื่อจัดทัพ “ธุรกิจใหม่” (New Business) กลุ่ม ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม , ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า , ธุรกิจบริการด้านวิศวกรรม จัดเป็น New S-curve เสริมแกร่งให้ธุรกิจหลัก เร่งเครื่องการเติบโตก้าวกระโดด โดยธุรกิจใหม่ที่เข้ามาเติมเต็มและส่งเสริมซึ่งกันและกันกับธุรกิจอื่นๆ

สะท้อนล่าสุดแผนขยายลงทุนอีกหนึ่งธุรกิจ New S-curve คือ “นิคมอุตสาหกรรม” ถือเป็นธุรกิจใหม่ตัวที่ 2 จากที่ได้ลงนามในข้อตกลงเข้าซื้อหุ้น 100% ของ บริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด จากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด โดยบริษัท ปาร์ค อินดัสตรี จำกัด เป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์ ซึ่งมีเนื้อที่ 1,790 ไร่ ตั้งอยู่ใน จ.อ่างทอง แบ่งเป็นพื้นที่โซนโรงงาน 1,392 ไร่ พื้นที่สำหรับการขายประมาณ 1,000 ไร่ และที่เหลือเป็นส่วนของอาคารพาณิชย์ สำหรับการโอนหุ้นระหว่างกันคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ของปี 2564

โดยมูลค่าซื้อรวมทั้งสิ้น 2,421 ล้านบาท แบ่งเป็น 510 ล้านบาทเป็นเงินที่จ่ายเพื่อซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท ปาร์ค อินดัสตรีในราคาพาร์ ส่วนอีก 1,726 ล้านบาท เป็นเงินที่จะใช้ในการลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และอีกส่วนหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ

ขณะที่ ก่อนหน้านี้บริษัทเข้าลงทุนในธุรกิจ New S-curve ประเดิมธุรกิจใหม่ตัวแรกอย่าง ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า ล่าสุดบริษัทได้จัดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 23 เม.ย. ซึ่งในการประชุมดังกล่าว ผู้ถือหุ้นได้อนุมัติแผนการซื้อหุ้น 30% ในโรงไฟฟ้า 3 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ฟู๊ด วัลเลย์ ไทยแลนด์แล้ว

โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง เป็นการดำเนินงานภายใต้บริษัท โรงไฟฟ้าอ่างทอง เพาเวอร์ (ATP) โดย S จะเข้าไปลงทุนในสัดส่วน 30% ด้วยงบลงทุน 557 ล้านบาท มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 120 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไอน้ำ 60 ตันต่อชั่วโมง มีสัญญากับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระยะเวลา 25 ปี เริ่มดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ตั้งแต่ปี 2559

รวมทั้งการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ภายใต้บริษัท บี. กริมเพาเวอร์ (ราชบุรี) 1 จำกัด (BGPR 1) และบริษัท บี. กริมเพาเวอร์ (ราชบุรี) 2 จำกัด (BGPR 2) โดย S จะเข้าไปถือหุ้น 30% ด้วยงบลงทุน 15 ล้านบาท และมีงบลงทุนในการพัฒนาอีก 820 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองโรงงานมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 280 เมกะวัตต์ และมีสัญญาขายไฟฟ้ากับ กฟผ.ระยะเวลา 25 ปี กำหนดเริ่ม COD ช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2566

 “จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี” ประธานกรรมการ S เปิดเผยว่า สำหรับการซื้อนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับโรงไฟฟ้า 3 แห่ง ที่บริษัทเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วนที่มากพอสมควรนี้ ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่ง ในการเดินหน้าสู่เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของเราที่จะสร้างจุดแข็งที่ทรงพลังให้กับธุรกิจ จากการส่งเสริมซึ่งกันและกันของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่หลากหลายของสิงห์ เอสเตท เพื่อทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งในการแข่งขัน และทำให้ธุรกิจของเรามีความเป็น Resilient Business

ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร S กล่าวว่า การผสมผสานธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเข้ากับธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า จะสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจของบริษัท ทั้งในด้านการเงินและการดำเนินงาน เนื่องจากปกติธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมคือหนึ่งในผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด ซึ่งการดำเนินกิจการในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ทำให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง

และยิ่งนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ เน้นสินค้าอาหารโดยเฉพาะ ทำให้มีความต้องการใช้ไอน้ำจากผู้ประกอบการแปรรูปอาหารต่างๆ ในนิคมฯ ซึ่งโรงไฟฟ้าของบริษัทก็เป็นผู้ผลิตไอน้ำที่ใช้ได้ในอุตสาหกรรมอาหารด้วย นอกจากนั้น กิจการโรงไฟฟ้ายังช่วยให้บริษัทมีรายได้อย่างต่อเนื่อง และมีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ลดความเสี่ยงในเรื่องความไม่แน่นอนของกระแสเงินสดจากการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม

“มากกว่าความลงตัวเชิงกลยุทธ์ เรามองเห็นอนาคตธุรกิจนิคมฯ ที่ตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศไทยด้วย โดยอัตราการเข้าใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของทั้งประเทศนั้นเฉลี่ยประมาณ 80% ณ ช่วงสิ้นปีของปีที่แล้ว ขณะที่ภาคกลางของไทย มีอัตราการเข้าใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในระดับสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 89%”

ทั้งนี้ นิคมฯ แห่งนี้ยังมีความสำคัญตามนโยบายการขับเคลื่อนประเทศที่มุ่งยกระดับประเทศไทยให้เป็นครัวของโลก และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลก โดยทำเลที่ตั้งของนิคมฯ แห่งนี้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีความเหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางห่วงโซ่อุปทานอาหารและวัตถุดิบของประเทศ ทั้งแหล่งสำคัญในการผลิตข้าว ผลิตภัณฑ์จากนม และสัตว์ปีก นอกจากนี้ยังมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากอยู่ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยา

โดย S วางเป้าหมายในแผนระยะยาว 3  ปี (2564-2566) ที่จะผลักดันรายได้ให้สูงขึ้นแตะ 20,000ล้านบาท จากปี 2563 ที่รายได้หดลงไปเหลือ 6,563 ล้านบาท จากผลกระทบสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

สำหรับธุรกิจหลักคือ “อสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย” นั้น ปัจจุบัน บริษัทมียอดขายรอโอน (backlog) จากโครงการคอนโดมิเนียมอยู่ที่ 3,700 ล้านบาท และมีโครงการในสต็อกที่พร้อมขาย 3,813 ล้านบาท ทั้งโครงการ สันติบุรี เดอะ เรสซิเดนเซส มี Backlog ราว 1,520 ล้านบาท คาดว่าจะมีการโอนในไตรมาส 1 ปี 2564 ราว 550 ล้านบาท ส่วนบ้านแนวราบจะมีการทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 ปี 2565