นักเศรษฐศาสตร์หนุนรัฐ เยียวยาโควิด ‘ศุภวุฒิ’ ชี้วัคซีนไม่ใช่ทางรอด เศรษฐกิจไทย

นักเศรษฐศาสตร์หนุนรัฐ เยียวยาโควิด ‘ศุภวุฒิ’ ชี้วัคซีนไม่ใช่ทางรอด เศรษฐกิจไทย

นักเศรษฐศาสตร์หนุนรัฐเยียวยาโควิด ‘ศุภวุฒิ’ชี้งบกว่า 2แสนล้านไม่พอ เยียวยาโควิด ยัน วัคซีนไม่ใช่ทางรอดเศรษฐกิจไทย ‘ปรีดิยาธร’หนุนรัฐเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง ‘สมประวิณ’แนะรัฐอีดฉีดมาตรการช่วยธุรกิจรายย่อยเพิ่ม ‘ธนวรรธน์’แนะรัฐอีดฉีดเพิ่มอีก2-3แสนล้าน

      นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า หากดูงบเยียวยาภาครัฐที่ออกมาล่าสุด 2 แสนล้านบาท เชื่อว่า ไม่เพียงพอใช้เยียวยาผลกระทบและดูแลประชน แต่จำเป็นที่รัฐต้องออกเพราะประชาชนขาดความมั่นใจ ไม่ใช่เงินและเงินขาดมือ ดังนั้นงบเยียวยาที่ออกมาเพื่อมาดีสรัปความมั่นใจของคนให้มากขึ้น

      สำหรับความหวังเศรษฐกิจไทย เชื่อว่า “วัคซีน”ไม่ใช่ทางออกหรือทางรอดเศรษฐกิจ อย่างที่หลายคนตั้งความหวัง เพราะหากดูการฉีดวัคซีนทั่วโลก เช่น ประเทศเซเชลส์ มีประชาชนได้รับวัคซีนโดสแรก 100% ของประชากร และโดสที่ 2 มีถึง 62% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งหลังฉีดวัคซีนครบตามกำหมดก็เกิดการระบาดอีกระลอกทั้งที่วัคซีนมีประสิทธิภาพมากกว่าวัคซีนที่ไทยฉีดจึงทำให้เซเชลส์ต้องชัตดาวน์ประเทศอีก

      สำหรับเศรษฐกิจไทยหากดูการฉีดวัคซีนพบว่ารัฐบาลมีเป้าหมายฉีด 50% ของประชากร หรืออย่างน้อย 34-36 ล้านโดส ในเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งประชากรจึงจะมีภูมิคุ้มกันสำหรับโดสแรก แต่กว่าจะฉีดครบต้องรอหลัง ก.ย.นี้ ดังนั้นระหว่างนี้อาจเห็นการระบาดของโควิดเพิ่ม อีกทั้งประสิทธิภาพวัคซีนเป็นตัวสำคัญว่าป้องกันได้มากน้อยแค่ไหน

      “หากคิดว่าฉีดวัคววีนแล้วจบ แล้วเร่งฉีด แต่ผมคิดว่าไม่จบ ไม่ใช่ทางออก ซึ่งเรื่องนี้ ผมคิดต่าง จากทุกคนที่คิดว่าวัคซีนหรือทางออก ดังนั้นรัฐบาลต้องไปคิดเหมือนตอนที่เราเกิดโควิดใหม่ๆเมื่อต้นปีก่อน ที่ยังไม่มีวัคซีน แล้วเราจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่าง เพราะการมีวัคซีนก็เหมือนไม่มี”

     ดังนั้นหากดูภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ บนคาดการณ์การฉีดวัคซีน ตรงนี้คิดต่าง เพราะไม่คิดว่าวัคซีนจะเป็นตัวกำหนดจีดีพีของไทย เพราะหากคิดว่า วัคซีนเป็นตัวกำหนดก็อาจผิดหวัง และอาจเห็นจีดีพีต่ำกว่าที่คิดไว้ได้

แนะรัฐอัดเพิ่ม2-3แสนล้าน

     นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีผลอยู่ในช่วงไตรมาส 2 โดยเม็ดเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท เป็นการต่อโครงการเราชนะ, เรารักกัน, มาตรการช่วยเหลือค่าน้ำ-ค่าไฟ และมาตรการสินเชื่อ

.     ซึ่งมองว่าเม็ดเงินดังกล่าวยังน้อยเกินไปที่จะไปช่วยระบบเศรษฐกิจ เพราะจากการประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจะมีถึง 3.0-4.5 แสนล้านบาท ทำให้เม็ดเงินที่รัฐบาลใช้รอบนี้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มากนัก

        ดังนั้น จึงทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 2 มีโอกาสจะเติบโตได้เพียง 3.0-5.0% จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะเติบโต 8.0-9.0% จึงเห็นว่ารัฐบาลควรอัดฉีดเม็ดเงินลงไปอีกไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนล้านบาท เพื่อประคองสถานการณ์เศรษฐกิจเพราะตอนนี้เม็ดเงินที่เหลืออยู่ในระบบเศรษฐกิจ จะมีแค่ซอฟต์โลน เราชนะ และเรารักกัน ที่ขยายต่อให้ และการเร่งใช้มาตรการคนละครึ่งในไตรมาสที่ 2 รวมกับมาตรการอื่นจะช่วยกระตุ้นให้จีดีพีขยายตัวได้ในกรอบ 2.5-3.0%

กรุงศรีฯแนะเพิ่มช่วยภาคธุรกิจ

     นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า งบเยียวยาที่ภาครัฐออกมาล่าสุดถือว่ามากกว่าที่คาดไว้ เดิมคาดไว้จะมีงบเยียวยาเพียง 1 แสนล้านบาทเท่านั้น ภายใต้การคาดการณ์จีดีพีที่ 2.2%

      ดังนั้นเชื่อว่ามีผลต่อระบบเศรษฐกิจพอสมควร แต่มาตรการที่ออกมาส่วนใหญ่เน้นช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม เช่น การเยียวยาแรงงาน ลูกค้า บุคคล แต่อยากเห็นภาครัฐช่วยเหลือเพิ่มเติม

     คือ ผู้ประกอบการรายย่อย ร้านค้าร้านอาหาร หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการป้องกันโควิด-19 ของภาครัฐ เพราะธุรกิจนี้เชื่อมการจ้างงาน ดังนั้นหากต้องปิดกิจการ จะทำให้แรงงานได้รับผลกระทบมากขึ้น เพราะหากเพิ่งพาเงินกู้เชื่อว่าจะต้องใช้เวลา ดังนั้นภาครัฐควรมีมาตการโดยตรงผ่านเงินโอนเพื่อประคองไม่ให้เศรษฐกิจไหลลงต่อ

     “มาตรการที่ออกมาดี แต่ต้องมีเพิ่มเติม และการจัดลำดับความสำคัญของมาตรการ อันไหนก่อนหลัง เชื่อว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะวันนี้มาตรการที่ต้องการคือ เน้นการเยียวยาประคองเศรษฐกิจ ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้น เริ่มมีกิจกรรม ก็จำเป็นต้องมีมาตรการช่วยประคองกลุ่มเหล่านี้ออกมาด้วย”

แนะเปลี่ยนเครื่องมือช่วยเหลือ

     โดยเฉพาะการเยียวยาหลังโควิด-19 ที่จะมีสภาพแวดล้อม การทำธุรกิจ หรือพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ดังนั้นจะใช้เครื่องมือแบบเดิมไม่ได้ เทคโนโลยีจะเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้น

      ซึ่งเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เงินเพื่อให้ธุรกิจเกิดความรู้และการปรับตัว ผ่านเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจปรับตัวหลังโควิด เช่น สหรัฐออกมาตรการเยียวที่ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ หลังจากนั้นออกเพิ่มอีก 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยธุรกจิปรับตัว ในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ในโลกใหม่ ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำคือปั้มหัวใจให้ธุรกิจฟื้นตัว และสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงด้วย

     “เงินก้อนนี้ เหมือนเป็นการแค่ปั้มหัวใจ แต่ไม่ได้ทำให้รอด เพราะจะทำให้รอดได้ ต้องอาศัยหลายมาตรการมาช่วยเหลือต่อ สิ่งสำคัญ คือวัคซีนต้องฉีดได้เร็ว ทันเวลา เศรษฐกิจถึงจะสามารถฟื้นตัวได้ และฉีดแบบมียุทธ์ศาสตร์ เพื่อให้การแพร่ระบาดไม่ส่งต่อไปจุดอื่น ดังนั้นวัคซีนเป็นหัวใจสำคัญ แต่เราจะไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ หากไม่ได้ 100 ล้านโดสตามเป้า”

      ดังนั้น การคาดการณ์จีดีพี ที่ 2.2% ต้องดูแนวโน้มระยะข้างหน้าอีกครั้งว่าเป็นไปได้หรือไม่ เพราะมีทั้งปัจัจยบวก จากมาตรการภาครัฐ และปัจจัยลบ จากโควิดระลอก3 ที่อาจส่งผลต่อการเปิดประเทศในปลายปีนี้ ที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้น เพราะแม้จะเปิดประเทศได้ ฉีดวัคซีนครบ แต่ นักท่องเที่ยวจะมาหรือไม่ ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญ

หม่อมอุ๋ย”เร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยง

      ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การระบาดโควิด-19 รอบ 3 หนัก กระทบคนจำนวนมาก ทำให้รายได้ของคนลดลง หรือ บางรายได้อาจทำงานไม่ได้เลย คนรายได้น้อย จึงจำเป็นที่จะต้องแจกเงิน ซึ่งมาตรการที่ทำแล้วเงินถึงมือคนขายของถือเป็นแคมเปญที่ดี เพราะทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น คนละครึ่ง แต่จะต้องดำเนินการเพื่อให้มีการแจกซ้ำซ้อน

      ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่ารัฐบาลควรดำเนินโครงการประกันรายได้ของพืชพลทางาการเกษตรตอเนื่องจากที่ทำเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะปีที่แล้วช่วยมาก เพราะ เป็นการกำหนดราคาพืชผลที่ให้ชาวนามีกำไร ทำให้ชาวนาทั้งประเทศไม่เป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น มีรายได้เลี้ยงชีวิตที่ดี และที่สำคัญรายได้ส่วนเพิ่มขึ้นมารอง คนที่ตกงานจากเมืองใหญ่กลับบ้าน มีจำนวนไม่น้อย

.     ซึ่งสะท้อนไม่มีเสียงร้องเรียนจากคนจากชนบทเลย เพราะโครงการนั้นทำให้เขามีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง และรองรับคนตกงานจากเมืองใหญ่ หรือตกงานจากภาคอุตสาหกรรม

      นอกจากนี้จากการระบาดปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อถึง 2 พันคนต่อวัน ส่วนตัวเสนอให้คณะอนุกรรมการ ศบค.เร่งฉีดวัคซีนโควิด-10 คู่กับแผนปกติ เพราะบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จะเริ่มส่งมอบวัคซีนตั้งแต่เดือน มิ.ย.นี้ จำนวน 10 ล้านโดสต่อเดือน อยากให้แบ่งมาฉีดผู้อาศัยในชุมชนแออัดทั่วกรุงเทพฯ เพราะหากมีผู้ติดแล้วจะระบาดได้ง่าย

     เช่น ชุมชนคลองเตย และแผนฉีดเร่งรัดให้ผู้ประกอบอาชีพที่พบคนจำนวนมาก เช่น ผู้ขับแท็กซี่่ ,เจ้าหน้าที่ ขสมก. ผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง