ตลท.เผยยอดเปิดบัญชีหุ้นพุ่งแรง! 4 เดือนแรกเฉียด 7 แสนบัญชี

ตลท.เผยยอดเปิดบัญชีหุ้นพุ่งแรง! 4 เดือนแรกเฉียด 7 แสนบัญชี

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชี้ต้นปี 64 ยอดเปิดบัญชีหุ้นเพิ่มขึ้น 6.9 แสนบัญชี ฝั่งสัดส่วนวอลุ่มเทรดรายย่อยปรับขึ้นทะลุ 50% ต่อวัน เหตุกระแสไอพีโอร้อนแรง "โออาร์-ติดล้อ" นำทีม

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (1 ม.ค. - 30 เม.ย.2564) พบว่า ยอดการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ (บัญชีหุ้น) ปรับเพิ่มขึ้น 690,527 บัญชี มาอยู่ที่ 4,204,634 บัญชี จาก ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 3,514,107 บัญชี (รวมจำนวนบัญชีที่นับซ้ำ)

โดยมีสาเหตุมาจากกระแสการลงทุนในหุ้น IPO (หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายแก่นักลงทุนทั่วไปเป็นครั้งแรก) ที่หันมากระจายหุ้นแก่นักลงทุนรายย่อยมาขึ้น เช่น บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ที่เข้าซื้อขายในช่วงต้นเดือน ก.พ. และ บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) ที่กำลังจะเข้าซื้อขายในวันที่ 10 พ.ค.นี้

อย่างไรก็ดี กระแสการเปิดบัญชีหุ้นที่เพิ่มขึ้นเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้นักลงทุนหันมาเปิดบัญชีหุ้นผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยพบว่ายอดการเปิดบัญชีในปีก่อนเพิ่มขึ้นประมาณ 8 แสนบัญชี จากในอดีตที่มีการเปิดบัญชีใหมาเฉลี่ย 3-4 บัญชี

นอกจากนี้ การเปิดบัญชีหุ้นที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้สัดส่วนมูลค่าซื้อขายหุ้นของนักลงทุนรายย่อยในประเทศปรับเพิ่มขึ้นทะลุ 50% เป็นครั้งแรก ขณะที่นักลงทุนที่เป็นบัญชีของบริษัทหลักทรัพย์อยู่ที่ 32.2% นักลงทุนต่างประเทศอยู่ที่ 9.4% และนักลงทุนสถาบันในประเทศอยู่ที่ 6.8% (ณ สิ้นเดือน เม.ย.)

สำหรับภาวะตลาดหลักทรัพย์ฯ เดือน เม.ย. พบว่า ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ปิดที่ 1,583.13 จุด เพิ่มขึ้น 9.2 % จากจากสิ้นปี 2563 ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ จากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่ทยอยประกาศผลประกอบการที่แข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาด

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย

- ณ สิ้นเดือน เม.ย. SET Index  ปิดที่ 1,583.13 จุด เพิ่มขึ้น 9.2 % จากจากสิ้นปี 2563 ซึ่งถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยของดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในขณะที่ SET Index ปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสิ้นเดือนก่อนหน้า

- ในเดือน เม.ย. หลายอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2563 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

- ในเดือน เม.ย. มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 93,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.0% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยใน 4 เดือนแรกปี 2564 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 96,115 ล้านบาท

- ในเดือนนี้ผู้ลงทุนในประเทศยังคงมีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดที่ 51.6% ของมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งตลาด โดยผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยในเดือน เม.ย. ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 3,446 ล้านบาท ทั้งนี้ในช่วง 4 เดือนแรกปี 2564 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 32,816 ล้านบาท

- ในเดือน เม.ย. มีบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ใน SET 1 บริษัท และใน mai 2 บริษัท โดยใน 4 เดือนแรกปี 2564 SET มีมูลค่าระดมทุน IPO สูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ใน ASEAN ทั้งนี้สาเหตุหลักมาจากการเข้าจดทะเบียนของหุ้น OR

- Forward และ Historical P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือน เม.ย. อยู่ที่ระดับ 19.5 เท่า และ 39.3 เท่าตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.8 เท่า และ 22.6 เท่าตามลำดับ

- อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือน เม.ย. อยู่ที่ระดับ 2.39% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 2.34%

ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

- ในเดือน เม.ย. ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) มีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 473,676 สัญญา ลดลง 23.80% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจากการลดลงของ SET50 Index Futures, Single Stock Futures และ Gold Online Futures