โควิดรอบ 3 ทุบเศรษฐกิจสูญ 4.5 แสนล้าน

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินความเสียหายจากโควิดระลอก 3 อยู่ที่ 3-4 แสน 5 หมื่นล้านบาท ส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายนปรับตัวลดลงต่ำสุดรอบ 22 ปี จากความกังวลสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคจะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย


‘มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินความเสียหายจากโควิดระลอก 3 อยู่ที่ 3-4 แสน 5 หมื่นล้านบาท ส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายนปรับตัวลดลงต่ำสุดรอบ 22 ปี จากความกังวลสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคจะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย’


อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ธนวรรธน์ พลวิชัย ประเมินว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ในไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 3-4.5 แสนล้านบาท จากตัวเลขต่างๆ ที่บ่งชี้ว่าผู้บริโภคลดการใช้จ่ายลง และหากสถานการณ์มีความรุนแรงขึ้นมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อวันทำลายสถิติเดิมที่ 2,800 คน ก็อาจเห็นตัวเลยความเสียหายในระดับ 2-3 แสนล้านบาทภายในเดือนพฤษภาคม ดังนั้นช่วงที่สำคัญมากภายในเดือนนี้ที่จะต้องตรวจเชิงรุกและควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อให้อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2 พันคนต่อวันและมีสัญญาณที่ค่อยๆลดลง เชื่อว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจะน้อยลง

สำหรับมาตรการรัฐที่จะเยียวยารอบใหม่เม็ดเงิน 2.4 แสนล้านบาท โดยจะเป็นการใช้ใช้ไตรมาสที่ 2 ผ่านโครงการเราชนะ และเรารักกัน 8 หมื่นล้านบาท และมาตรการด้านสินเชื่ออีก 2 หมื่นล้านบาท และมาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ ค่าครองชีพรวมมีเม็ดเงินในไตรมาสที่ 2 ประมาณ 1 แสนล้านบาทในมุมมองของหอการค้าไทยมองว่าเป็นเม็ดเงินที่น้อยไม่สามารถจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ จากความเสียหายเบื้องต้นที่ประเมินไว้ 3-4.5 แสนล้านบาท การอัดฉีดเม็ดเงินกลับน่าจะพิจารณาเพิ่มเติมให้ได้อย่างน้อย 2-3 แสนล้านบาท เพื่อประคองสถานการณ์เศรษฐกิจ

โควิดทุบเชื่อมั่นผู้บริโภควูบต่ำสุดรอบ 22 ปี

สำหรับผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนเมษายน 2564 พบว่า ดัชนีปรับตัวลดลงอยู่ที่ 46 จากเดือนมีนาคมที่ 48.5 ปรับตัวลดลงต่ำสุดในประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 7 เดือน นับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนตุลาคม 2541 เนื่องจากมีความกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลงและการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้าส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนักและขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัว แม้ว่ามาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะโครงการ ‘เราชนะ’ และโครงการต่างๆ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม  

ผู้บริโภคยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและในโลกว่าจะส่งผละกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ผู้บริโภคจะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการแพร่กระจายของโควิดรอบใหม่ว่าจะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน และรัฐบาลจะมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างไร รวมถึงจะมีการ Lockdown ในจังหวัดต่างๆ มากน้อยเพียงใด จะคลี่คลายลงเมื่อไร และจะมีการฉีดวัคซีนได้รวดเร็วแค่ไหน จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้  และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัว 0-1.5% ได้หากไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ