อธิปไตย 'ไม่ก้าวก่าย' เขย่า 'การเมืองไทย' สุจริต

อธิปไตย 'ไม่ก้าวก่าย' เขย่า 'การเมืองไทย' สุจริต

หลังคำวินิจฉัย 'ศาลรัฐธรรมนูญ' คดีคุณสมบัติ 'ธรรมนัส' สิ้นสุด และบทสรุปคือ อยู่รอดในตำแหน่งทางการเมือง แม้ต้องคดียาเสพติดและเคยถูกจำคุก มีเสียงวิพากษ์ ที่โยงไปถึงเจตนารมณ์ของ รัฐธรรมนูญ ที่ต้องการ 'สกัดคนไม่ดี' เข้าสู่ 'เวทีการเมือง'

       คำวินิจฉัย “ศาลรัฐธรรมนูญ” ต่อกรณีคุณสมบัติของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ และรมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่ชี้ชัดในคำกล่าวหา “เคยต้องโทษและถูกคุมขังโดยคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีว่าด้วยยาเสพติด ในศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ก่อนลงรับเลือกตั้งเป็นส.ส.” ไม่เข้าข่ายเป็นลักษณะต้องห้ามลงสมัคร ส.ส. และต้องพ้นไปจากความเป็นรัฐมนตรี

       เพราะ “ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลไทย”

       โดยโยงบทสรุปของคำวินิจฉัยดังกล่าว เข้ากับประเด็นอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ที่ไม่อยู่ใต้อาณัติ หรืออยู่ภายใต้อำนาจของรัฐอื่น ซึ่งหมายถึงการพิจารณาคดีตามอำนาจตุลาการที่เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย ย่อมไม่ตกอยู่ในอาณัติหรือภายใต้อำนาจของตุลาการรัฐอื่น

       บทสรุปชี้ชัด ตามคำวินิจฉัย “ธีรัจชัย พันธุมาศ” ส.ส.พรรคก้าวไกล ฐานะผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และผู้ร่วมลงนามยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ พูดได้เพียงว่า “คำวินิจฉัยนี้ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ของวงการการเมืองไทย”

162026790939

       และในคำวินิจฉัยนั้น อาจหมายถึงเป็นใบอนุญาต ให้คนที่มีความผิด ติดคุกในต่างประเทศ เช่น คดีฆ่าคนตาย คดีข่มขืน อาชญากรข้ามชาติ สามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หรือแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเพื่อใช้อำนาจทางบริหารของประเทศไทยได้

       อย่างไรก็ดี ในเชิงวิชาการต้องยอมรับว่า การนำประเด็นอำนาจอธิปไตยชี้ขาดคำร้องขาดคุณสมบัติของ “ร.อ.ธรรมนัส” สร้างความกังขาอย่างมาก เพราะตามคำร้องนั้น คือ “ลักษณะความผิด” ที่เข้าข่ายเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 (10) หรือไม่ หาใช่ขอบเขตของอำนาจการตัดสินอรรถคดี

       และกลายเป็นความท้าทายต่อแนวคิด "สร้างการเมืองที่สุจริต โปร่งใส และปราบโกง”

       ตามความมุ่งหมายและตั้งใจของ “กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.” ที่มี “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน กรธ. ที่แม้วันนี้ กรธ.จะกลายเป็นอดีต เพราะภารกิจยกร่างรัฐธรรมนูญ 2560 สิ้นสุดลง

       แต่ความมุ่งหมายและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ถูกบันทึกไว้ในเอกสาร “ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560” ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ เมื่อพฤษภาคม 2562 เพื่อแสดงถึงหลักคิดและความหมายโดยตรงของรัฐธรรมนูญ

       หน้าที่ 172-173 ซึ่งระบุความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) (11) ที่มีสาระสำคัญ ระบุว่า อนุมาตรา (10) บัญญัติเพิ่มใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลที่ขาดความน่าเชื่อถือในความสุจริต หรือผู้ที่เคยทำความผิดอันเป็นปฏิปักษ์ต่อประโยชน์สาธารณะได้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และอ้างถึงกฎหมายปกครองท้องที่ ที่ห้ามบุคคลซึ่งต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดที่กฎหมายกำหนดดำรงตำแหน่งเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

       ในเอกสาร ที่ชื่อว่า คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 10 เรื่องที่น่ารู้ ระบุไว้ชัดเจนในข้อ 6 ปราบโกงอย่างจริงจัง มีรายละเอียดว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่อาจพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าได้ เพราะงบประมาณแผ่นดินถูกโกงไปเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว ถ้าไม่สามารถขจัดปัญหาทุจริตประเทศจะไม่สามารถเดินหน้าได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงมีเป้าหมายขจัดทุจริต ทั้งทุจริตการเลือกตั้งและทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่

       พร้อมบอกสาระย่อยว่า “คัดกรองบุคคลอย่างเข้มงวด” ได้แก่ ไม่เคยทุจริต-ไม่เคยถูกไล่ออกจากหน่วยงานรัฐ และไม่เคยทำผิดคดีร้ายแรง ค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ ฟอกเงิน ฯลฯ

162026816192

       ที่ต่อไปนี้ เมื่อคำวิจิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งปรากฎในคำวินิจฉัยอย่างย่อ เมื่อ 5 พฤษภาคม 2564 ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.​และ ความเป็นรัฐมนตรี ของ “ร.อ.ธรรมนัส” ไม่สิ้นสุดลง ตามความเชื่อมโยงกับมาตรา 3 ว่าด้วยขอบเขตอำนาจอธิปไตย

       โดยไม่ได้มีเนื้อหาคำชี้ขาด ว่าด้วยการกระทำซึ่งถูกพิพากษาให้จำคุกในการกระทำความผิดกฎหมายยาเสพติด ซึ่งเป็นความผิดสากล

       ในอนาคตอาจมีนักการเมืองที่ไม่ประสงค์ดี ฉวยคำวินิจฉัยนี้ตีความเพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง ให้เข้าสู่อำนาจบริหาร-อำนาจนิติบัญญัติ

       และอาจกลายเป็นวังวน ที่ประเทศต้องติดหล่มการเมืองไม่สุจริต อย่างหาที่สิ้นสุดไม่ได้.