มาตรการเยียวยา อย่าลืมแผนระยะยาว

มาตรการเยียวยา อย่าลืมแผนระยะยาว

ขณะที่ประเทศอื่นแก้ปัญหาโควิดจนผ่อนคลายและฉีดวัคซีนเกินครึ่งทาง สวนทางกับไทยที่ยังไม่พ้นวิกฤติ การก่อหนี้ด้วยการกู้เงินในกรณีจำเป็นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ เยียวยาประชาชน วันนี้ถึงทางสองแพร่งและท้าทาย เนื่องจากอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเพดานก่อหนี้ที่เหลือไม่มาก

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติม แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ มาตรการเร่งด่วน สามารถดำเนินการได้ทันที ได้แก่ มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิดวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ และเกษตรกร โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ให้สินเชื่อรายละ 10,000 บาท พักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ให้ขยายระยะเวลาพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ ออกไปจนถึงสิ้นปี ยังมีการลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้า และน้ำประปาช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย.64

รวมถึงโครงการต่อเนื่องวงเงินรวม 85,500 ล้านบาท ได้แก่ การเพิ่มวงเงินเราชนะ อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท 2 สัปดาห์ การเพิ่มเงินช่วยเหลือเรารักกัน อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท 2 สัปดาห์ ในระยะกลางหรือช่วงที่รัฐบาลคาดว่าโควิดผ่อนคลายช่วงเดือนก.ค.-ธ.ค.64 มีการจัดสรรวงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ด้วยการลดภาระค่าครองชีพ เพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เดือนละ 200 บาท 6 เดือน กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เดือนละ 200 บาท 6 เดือน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังจัดแพ็คเกจมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ สำหรับยิ่งใช้ยิ่งได้เป็นโครงการใหม่ รัฐจะให้บัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) เมื่อชำระเงินผ่านจี-วอลเล็ต บนแอพพลิเคชั่น เป๋าตัง แก่ร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและติดตั้งแอพพลิเคชั่นถุงเงิน การดำเนินการข้างต้น รัฐบาลหวังว่าช่วยเพิ่มกำลังซื้อสร้างสภาพคล่อง จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 473,000 ล้านบาท

เราเห็นด้วยกับมาตรการเร่งด่วนที่ทำได้ทันที รวมทั้งมาตรการหลังโควิดผ่อนคลาย ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าจะเริ่มตั้งแต่ครึ่งปีหลัง หากคาดการณ์แม่นยำคงไม่กระทบฐานะทางการเงินและงบประมาณ แต่หากไม่เป็นไปตามคาด โควิดยังแพร่ระบาดรุนแรง อาจก่อให้เกิดปัญหาในช่วงฟื้นฟูในวันข้างหน้า ด้วยงบประมาณที่จำกัดและรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังยังไม่มีแผนกู้ฉุกเฉิน เฉพาะ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน อาจจะยังเพียงพอในสิ้นปีงบประมาณ 30 ก.ย.64

ความสุ่มเสี่ยงในการกู้เงินในกรณีจำเป็น บนเงื่อนไขต้องมีที่มาและวัตถุประสงค์ของการกู้ที่ชัดเจน วันนี้ถึงทางสองแพร่ง ไม่กู้หรือกู้เพิ่มภายใต้เพดานก่อหนี้ที่เหลือไม่มากพอ เนื่องจากปัจจุบัน สัดส่วนหนี้สาธารณะสิ้นปีงบประมาณอยู่ที่ 57-58% ต่อจีดีพี ขณะที่กรอบวินัยการเงินการคลังกำหนดไว้ที่ 60% โจทย์ใหญ่จึงตกอยู่กับคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เราเห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดจะเป็นตัวแปรสำคัญ เช่นเดียวกับหนี้สาธารณะของทุกประเทศที่ปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งโควิดรุนแรง ประเด็นปัญหาที่น่าจับตามอง ในขณะที่ประเทศอื่นแก้ปัญหาโควิดจนผ่อนคลายและเข้าสู่โหมดฉีดวัคซีนเกินครึ่งทาง สวนทางกับประเทศไทยที่ยังไม่พ้นวิกฤตขาขึ้น การก่อหนี้ในวันข้างหน้าจึงถือเป็น ความท้าทายยิ่ง