ยอดบีโอไอไตรมาสแรกโต80% สกพอ.ชี้“อีวี-5จี”สนลงทุนเพิ่ม

ยอดบีโอไอไตรมาสแรกโต80%  สกพอ.ชี้“อีวี-5จี”สนลงทุนเพิ่ม

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยถึงการลงทุนในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.- มี.ค.) ปี 2564 มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 401 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 123,360 ล้านบาท

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยถึงการลงทุนในช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.- มี.ค.) ปี 2564 มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 401 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 123,360 ล้านบาท มีอัตราเติบโตทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุนเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 โดยจำนวนโครงการเติบโต 14% และมูลค่าเติบโต 80%

ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้นพบว่ามีมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 74,830 ล้านบาท ซีึ่งมี 2 อันดับแรกที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมการแพทย์ มูลค่า 18,430 ล้านบาท เติบโตขึ้นมากกว่า 100 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 2. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 17,410 ล้านบาท เติบโตขึ้น 64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

“ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์เติบโตอย่างต่อเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด นอกจากนี้ ยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นอุตสาหกรรมในกลุ่ม S-Curve ขยายตัวจากผลของ Work From Home และการย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมนี้”

ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 191 โครงการ มูลค่าลงทุน 61,979 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น 143% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมที่มีมูลค่ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน และสิงคโปร์ ซึ่งมีขนาดการลงทุนใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ การลงทุนของเกาหลีใต้ปรับสูงขึ้นในไตรมาสนี้เนื่องจากมีการร่วมทุนในโครงการขนาดใหญ่ด้านอุตสาหกรรมการแพทย์

สำหรับพื้นที่เป้าหมายที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมมูลค่า 64,410 ล้านบาท เติบโตขึ้น 39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็น จังหวัดระยอง มูลค่าลงทุน 29,430 ล้านบาท จังหวัดชลบุรี 24,970 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา 10,010 ล้านบาท

162022253620

ด้่านการขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมาก โดยมีจำนวน 39 โครงการ เงินลงทุน 8,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 6 เท่า แบ่งเป็นม ด้านประหยัดพลังงาน พลังงานทดแทน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน 21 โครงการ เงินลงทุน 5,630 ล้านบาท  ด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร จำนวน 16 โครงการ เงินลงทุน 2,470 ล้านบาท และมาตรการวิจัยและพัฒนาหรือออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ จำนวน 2 โครงการ เงินลงทุน 300 ล้านบาท

ลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) สายการลงทุนและการต่างประเทศ กล่าวว่า ยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมากในพื้นที่ อีอีซี เกิดจากการเจรจาดึงดูดการลงทุนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ในช่วงก่อนการเกิดโควิด-19 ซึ่งนักลงทุนเหล่านี้ต้องใช้เวลา 1-2 ปี ในการตัดสินใจและเตรียมแผนการลงทุนต่าง ๆ ก่อนที่จะขอรับการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งในช่วงต้นปีนี้มีข่าวการฉีดวัคซีนโควิด-19 และเศรษฐโลกขยายตัวสูง ส่งผลให้บริษัทเหล่านี้ตัดสินใจเข้ามาลงทุน

“เป็นที่น่ายินดีที่เมื่อโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย นักลงทุนเหล่านี้ที่มีเป้าหมายมาลงทุนในเอเชีย ยังคงไม่ทิ้งประเทศไทย และเดินหน้าเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ชี้ให้เห็นว่าต่างชาติยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย และยังใช้ไทยเป็นฐานการผลิตในเอเชีย ซึ่งหลังจากนี้ก็จะมีนักลงทุนทยอยเข้ามาเรื่อย ๆ และมั่นใจว่าจะถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่ายอดการลงทุนใน อีอีซี จะถึง 3 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน

สำหรับอุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนในอีอีซี คือ อุตสาหกรรมการแพทย์ , ชีวภาพ ,อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และดิจิทัล ซึ่งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และดิจิทัล ที่เติบโตสูง มาจากการขับเคลื่อนด้าน 5จี ที่เป็นรูปธรรมของไทย และการออกไปดึงดูดการลงทุนด้านอุปกรณ์ 5จี ที่ใช้ในเสาส่งสัญญาณในโรงงาน นิคมอุตสาหกรรม และแหล่งอุตสาหกรรม เพื่อเข้ามาลงทุนเพิ่มศักยภาพด้านภาคการผลิตของไทย ทำให้การลงทุนในอุปกรณ์ 5 จี เพิ่มขึ้นมาก เพราะความต้องการภาคอุตสาหกรรมด้าน 5จี เพิ่มขึ้นสูง และยังจะทยอยเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งกิจการซอฟต์แวร์ดิจิทัล ที่รองรับเทคโนโลยี 5จี ที่ใช้กับเครื่องจักรอัตโนมัติ และโทรคมนาคม

นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังจะเห็นการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ชิ้นส่วน และแบตเตอรี่ มากขึ้น เพราะหลังจากที่ไทยมีนโยบายรถยนต์อีวีที่ชัดเจน กำหนดเป้าหมายการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100% และบริษัทยักษ์ใหญ่หลายรายต่างก็เร่งขยายจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้า ก็ทำให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ มีความมั่นใจและขยายการลงทุนในเรื่องของชิ้นส่วน แบตเตอรี่ และสถานีชาร์จไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อผลิตรถยนต์อีวีเพิ่มขึ้นในอีก 1-2 ปีข้างหน้า และยังมีค่ายรถยนต์รายใหม่ที่ยังไม่ได้เข้ามาลงทุนในไทย เข้ามาหรือรือที่จะลงทุนอีกหลายราย เพิ่มจากเดิมที่ค่ายใหญ่ ๆ ทั่วโลกก็ได้เข้ามาลงทุนไปแล้ว

ด้านแนวโน้มการลงทุนในภาคบริการการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังก็มีเพิ่มขึ้น เนื่องจากโครงการเมืองการบินอู่ตะเภาเริ่มเดินหน้าในเรื่อง master plan design ทำให้เกิดแรงดึงดูดการลงทุนด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเมืองการบิน เพราะจำนวนผู้โดยสารเป็นส่วนสำคัญ จึงต้องเร่งหาผู้ร่วมทุนในกิจการเหล่านี้ และนักลงทุนต่างเชื่อมั่นว่าหลังจากโควิด-19 การท่องเที่ยวของไทยจะกลับมาฟื้นตัวอยางแน่นอน

ในขณะที่โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน ก็ยังคงเดินหน้า โดย อีอีซี ได้กันที่ดินสำหรับศูนย์ซ่อมอากาศยานของการบินไทยไว้เรียบร้อยแล้ว และยังเหลือพื้นที่สำหรับศูนย์ซ่อมอากาศยานได้อีก 3-4 ราย ซึ่ง อีอีซี ได้เดินหน้าหารืออย่างต่อเนื่อง และมีหลายสายการบินให้ความสนใจจะเข้ามาลงทุนในด้านนี้