ครม.ไฟเขียวข้อเสนอ 'กนศ.' ยืดเวลาศึกษา 'CPTPP' 50วัน

ครม.ไฟเขียวข้อเสนอ 'กนศ.'  ยืดเวลาศึกษา 'CPTPP' 50วัน

ครม.ไฟเขียว "กนศ." ยืดระยะเวลาศึกษา "CPTPP" ตามข้อเสนอของ กมธ.อีก 50 วัน ก่อนกลับมาให้ ครม.พิจารณา ชี้หากเดินหน้าเจรจาจะกำหนดท่าทีและข้อสงวนในการเจรจาให้เป็นประโยชน์กับประชาชนคนไทยสูงที่สุด

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ขอขยายระยะเวลาในการศึกษาการเข้าร่วมการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP ได้ส่งข้อเสนอมายังรัฐบาลออกไปอีก 50 วันจากเดิมที่สิ้นสุดกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ในวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้การขยายระยะเวลาในการศึกษาเนื่องจากคณะทำงาน 8 คณะที่รัฐบาลได้จัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับกรณีเข้าร่วม CPTPP ยังต้องการระยะเวลาในการศึกษารายละเอียดต่างๆให้ครอบคลุมรอบด้านในทุกประเด็นก่อนที่จะเสนอข้อมูลให้ครม.และนายกรัฐมนตรีรับทราบ 

นางสาวรัชดากล่าวว่าในขณะนี้ยังเป็นขั้นตอนที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลและผลกระทบเพื่อตัดสินใจว่าเราจะเข้าไปเจรจาเป็นสมาชิก CPTPP หรือไม่ ยังไม่ได้มีการตัดสินใจหรือมอบอำนาจให้นายกรัฐมนตรีไปเจรจาตามขั้นตอนหรือไม่ โดยข้อเสนอของคณะกรรมการวิสามัญของสภาฯที่เสนอมายังรัฐบาล หน่วยงานต่างๆที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ในคณะทำงานทั้ง 8 คณะก็ได้กลับไปทำงานโดยละเอียด แล้วภายหลังจากที่สิ้นสุดระยะเวลาที่ครม.ขยายให้ 50 วันก็จะมีการรายงานให้ ครม.และนายกรัฐมนตรีรับทราบเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจในการเข้าร่วมเจรจาในข้อตกลงดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร

“ขณะนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจหรือมอบหมายอำนาจให้นายกฯไปเจรจาในเรื่องCPTPPแต่อย่างไร แต่หากข้อเสนอมีทิศทางให้ไปเจรจา ก็ต้องมีการกำหนดท่าที และข้อสงวนในการเจรจาที่จะเกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนคนไทย เกษตรกรไทย ซึ่งรัฐบาลจะต้องพิจารณาเรื่องเหล่านี้โดยรอบครอบและคำนึงถึงเรืองนี้มากที่สุด” นางสาวรัชดากล่าว  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับข้อเสนอของกรรมาธิการวิสามัญ ที่ประเด็นสำคัญในการเข้าร่วม CPTPP ของไทยจะต้องเตรียมความพร้อม 4 ประเด็น ได้แก่1.การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 2.ความมั่นคงทางภาคเกษตรของไทย โดยกรรมาธิการฯระบุว่าความตกลง CPTPP มีข้อบทที่กำหนดให้ภาคีความตกลงต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991)ทำให้เกษตรกรรายย่อยได้รับผลกระทบ หรืออาจมีการแสวงหาประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของไทย 

3.ความมั่นคงทางระบบสาธารณสุขใยที่เกี่ยวข้อง และองค์การอาหารและยา (อย.) เนื่องจากในประเด็นนี้กรรมาธิการฯมีความเป็นห่วงว่าความตกลง CPTPP มีข้อกำหนดให้เปิดการนำเข้าสินค้าประเภท“remanufactured goods”ซึ่งอาจส่งผลให้มีการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ที่มีประสิทธิภาพและอายุการใช้งานน้อยกว่าเครื่องมือแพทย์สมัยใหม่ และการกำหนดไม่ให้รัฐวิสาหกิจที่มีพันธกิจในทางการแพทย์มีข้อได้เปรียบ 4.มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเขตการค้าเสรี (Free Zone)และการกำกับดูแลมาตรฐานสินค้านำเข้า 

ทั้งนี้ ข้อตกลง CPTPPมีการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เมื่อม.ค. 2563 สหรัฐเคยถอนตัวจากTPP และสมาชิกที่เหลือเปลี่ยนชื่อเป็น CPTPP  ในขณะนั้นไทยตั้งคณะกรรมการศึกษาและช่วงกลางปี 2563 ครม.เตรียมตัดสินใจกำหนดท่าที

แต่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์ให้ชะลอเรื่องออกไป รัฐบาลจึงส่งเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรตั้ง“คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP”

จากนั้น เมื่อ26ม.ค. 2564กมธ.ส่งผลการศึกษาและความเห็นของกรรมาธิการฯมาให้ ครม. และครม.ได้มอบหมายให้กนศ.เร่งจัดทำกรอบการทำงาน กำหนดเสนอกลับให้ครม.รับทราบใน 90 วัน หรือประมาณ มี.ค.-เม.ย.เพื่อให้การตัดสินใจมีขึ้นก่อนจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกCPTPPในเดือน ส.ค.ของทุกปี  ซึ่งจะมีวาระเปิดให้ประเทศอื่นสมัครเข้าร่วมการเจราเพื่อเป็นสมาชิก ดังนั้น หากเลื่อนกำหนดเวลาออกไปอีก 50 วัน หรือ ราว ก.ค. ไทยก็ยังมีโอกาสส่งใบสมัครขอเข้าเป็นสมาชิกได้ทันในปี 2564 นี้