เงินเฟ้อ ปี64 ผวาโควิด-19 ระลอกใหม่ กดดันการบริโภค

เงินเฟ้อ ปี64 ผวาโควิด-19 ระลอกใหม่ กดดันการบริโภค

“พาณิชย์” ห่วงโควิด-19 ระลอกใหม่ กดดันภาคการบริโภคทำเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ต่อเนื่อง หวังมาตรการ ครม.อุ้มค่าครองชีพชะลอเงินเฟ้อ เผย เม.ย.64 เงินเฟ้อพุ่ง 3.41% สูงสุดรอบ 8 ปี 4 เดือน

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งภาคการผลิตและภาคการบริโภค ทำให้เกิดความกังวลที่อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ต่อเนื่อง ซึ่งต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดว่า จะสามารถควบคุมให้กลับมาสู่ภาวะใกล้เคียงปกติได้เมื่อไหร่ ทั้งนี้สนค.คาดว่า ว่าเงินเฟ้อในปี 2564 จะเคลื่อนไหวระหว่าง 0.7-1.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1.2% ภายใต้สมมติฐานที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) โต 2.5-3.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีที่ 55-65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปี 29-31 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเงินเฟ้อที่คาดการณ์ไว้เป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ สนค.จะมีการทบทวนอีกครั้ง

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อเดือนเม.ย.อยู่ที่ระดับ 100.48 กลับมาขยายตัว 3.41% จากเดือนมี.ค.ที่ติดลบ 0.08 % โดยกลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 14 เดือน และขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 ปี 14 เดือน ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักอาหารสดและพลังงานออกแล้วขยายตัว 0.30 %ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 0.09 % ขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) เพิ่มขึ้น 0.43%ซึ่งเงินเฟ้อของไทยที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นไปตามทิศทางเงินเฟ้อของประเทศต่างๆทั่วโลก

162021268527

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนเม.ย.กลับมาขยายตัวสูงขึ้นมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับฐานราคาน้ำมันที่ต่ำมากในปีก่อน โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด 36.38 % ประกอบกับมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล ทั้ง ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ได้สิ้นสุดลง รวมทั้งราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นตามผลผลิตที่ลดลงทั้งเนื้อสุกร ผักและผลไม้ เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง

162021269553

นอกจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันและการสิ้นสุดของมาตรการของรัฐดังกล่าวแล้ว ยังมีสัญญาณด้านสถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่สนับสนุนการใช้จ่ายของประชาชน และอุปสงค์ในตลาดโลกที่เริ่มฟื้นตัวตามลำดับ โดยด้านอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และมูลค่าการส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง

“เงินเฟ้อเดือนพ.ค.ประเมินว่ายังคงปรับตัวสูงขึ้นหากรัฐไม่มีมาตรการลดค่าครองชีพประชาชน แต่หากว่ามีมาตรการของรัฐจะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงเฉลี่ย 2 %”