ค่ารักษาผู้ป่วยโควิด 1 แสน-1ล้านบาทต่อคน

ค่ารักษาผู้ป่วยโควิด 1 แสน-1ล้านบาทต่อคน

สธ.ตั้ง "รพ.บุษราคัม"รองรับผู้ป่วยสีเหลือง ใช้พื้นที่อาคารอิมแพคชาเลนเจอร์ เบื้องต้น 1,200 เตียง หมุนเวียนบุคลากรจาก 60 จังหวัดเข้าดูแล ย้ำผู้ป่วยรักษาฟรี สปสช.เผยค่ารักษาอาการรุนแรงราว1 ล้านบาท กรณีไม่รุนแรง 1 แสนบาทต่อคน เบิกจ่ายเงินไปแล้ว7พันล้าน

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 5 พ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงสถานการณ์โควิด 19 นพ. สุนทร สุนทรชาติ ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า แผนการควบคุมโรคโควิด19ในเขตพื้นที่กทม. ได้มีการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 ระดับเขตทั้ง 50 เขต เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยผู้อำนวยการเขตเป็นผู้บัญชาการของแต่ละศูนย์เขต แบ่งการทำงานออกเป็น 5 ฝ่าย คือ 1.ฝ่ายอำนวยการ มีหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล การจัดสรรบุคลากร 2.ฝ่ายปฏิบัติการตรวจเชิงรุก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการตรวจหาเชื้อ มีผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ มีอัตรากำลังประมาณ 50 กว่านายในการบริหารจัดการโดยจากชุมชนในกทม.กว่า 2 พันแห่ง มี 15 ชุมชนที่ติดเชื้อค่อนข้างมาก เช่น เขตคลองเตย เขตปทุมวัน เป็นต้น
3.ฝ่ายบริหารจัดการผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง โดยจะเร่งดำเนินการส่งผู้ติดเชื้อจากศูนย์เอราวัณ ศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ โดยส่งไปยังรพ. รพ.สนาม หรือฮอสพิเท, แบ่งเป็นกลุ่มสีเขียว สีเหลือง และสีแดง ขณะที่กลุ่มเสี่ยงก็มีการช่วยเหลือกันในชุมชน ในพื้นที่ระบาดมากจะมีศูนย์พักคอยรอการส่งต่อ เพื่อเตรียมพร้อมนำส่ง รพ. ต่อไป 4.ฝ่ายบริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งเป็นการดูแลในส่วนสังคม และ5.ฝ่ายบริหารจัดการการฉีดวัคซีน สำหรับพื้นที่ที่มีการระบาดจำนวนมาก โดยเป็นการฉีดเฉพาะพื้นที่ไม่ใช่ฉีดทั้งเขต เช่น เขตคลองเตยมีการฉีด 2 แห่ง ทั้งห้างสรรพสินค้า และโรงเรียน ให้กับกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ ซึ่งเป็นการดำเนินการในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นร่วงด่วนในการควบคุมโรค

สธ.ตั้ง"รพ.บุษราคัม"ดูแลกลุ่มสีเหลือง
นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการประชุมและจัดตั้งรพ.บุษราคัม โดยใช้พื้นที่บริเวณอิมแพค ชาเลนเจอร์ สำหรับการดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง ในกลุ่มที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยมีจำนวนเตียงเบื้องต้น 1,200 เตียง เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่หาเตียงไม่ได้ โดยที่นี่จะเป็นศูนย์ประสานงานหาเตียงให้ ซึ่งมีนพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้อำนวยการของ รพ.บุษราคัม โดยรพ.พระนั่งเกล้าจะสนับสนุนทรัพยากร เจ้าหน้าที่ต่างๆ นอกจากนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ บุคลากรจาก 60 จังหวัดทั่วประเทศที่ควบคุมสถานการณ์ได้ระดับหนึ่งมาหมุนเวียนสลับการทำงานใน รพ.บุษราคัม

60จ.ผู้ติดเชื้อใหม่ต่ำกว่า 20 ราย
นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในสภาวะฉุกเฉิน กล่าวว่า ถ้าแบ่งกลุ่มจังหวัดตามผู้ติดเชื้อใหม่ในวันที่ 5 พ.ค. จะพบว่า กรุงเทพฯและปริมณฑล มีผู้ติดเชื้อ 1,314 ราย ส่วนจ.อื่นอีก 73 จังหวัด 793 รายในจำนวนนี้มี 13 จังหวัด ผู้ติดเชื้อมากกว่า20 ราย และ 60 จังหวัดที่ผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 20 ราย ซึ่งสถานการณ์ในจังหวัดนี้น่าจะลดลง แต่ยังต้องระมัดระวังการติดเชื้อโดยเฉพาะในครอบครัวต่อไป

ย้ำรพ.เรียกเก็บเงินผู้ป่วยโควิดมีโทษ

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรณีค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจหาเชื้อและการรักษาโควิด-19 มีประกาศออกมา 3 ฉบับเพื่อดูแลค่าใช้จ่าย ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข ได้แก่ 1.ค่ายา ค่าห้อง เครื่องมือแพทย์ที่ใช้ครอบคลุมการดูแลผู้ป่วย 2.ประกาศเพิ่มเติมในรายการยาให้ครอบคลุมมากขึ้น และ 3.ค่ารถรับส่งผู้ป่วยจากที่บ้าน ค่าทำความสะอาดรถ ค่ารักษาพยาบาลกรณีการเจ็บป่วยหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เนื่องจากเป็นกรณีต้องได้รับการรักษาทันท่วงที

นพ.ธเรศ กล่าวด้วยว่า สถานพยาบาลภาคเอกชน ดำเนินการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) แล้วทาง สปสช. ก็จะไปเรียกเก็บจากกองทุนต่างๆ ในภายหลัง ซึ่งค่าใช้จ่ายจะครอบคุม ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่ายา ค่าพาหนะรับส่ง ดังนั้น เมื่อมีประชาชนเข้าไปรักษาในโรงพยาบาล หน้าที่ของผู้ดำเนินการสถานพยาบาลต้องทำ 2 เรื่องคือ 1.ให้การดูแลผู้ป่วยให้ปลอดภัย 2.เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากสปสช. หากไม่ดำเนินการจะมีโทษตามมาตรา 66 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รพ.เรียกเก็บเงินผู้ป่วยต้องคืนเงิน

นพ.ธเรศ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบกรณีสถานพยาบาลที่ฝ่าฝืนเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลกับผู้ป่วย จำนวน 44 เรื่องใน 74 ราย เนื่องจากบางครอบครัวก็เข้าไปรักษาหลายคน ทั้งนี้ สถานพยาบาลได้คืนเงินผู้ป่วยครบทุกรายแล้ว และยังมีเรื่องคงค้างใน เดือนเม.ย. อยู่จำนวนหนึ่ง จะมีการสอบสวนต่อไป อย่างไรก็ตาม หากประชาชนมีข้อสงสัย สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่สายด่วนสปสช. 1330 และ สายด่วนสบส. 1426

ค่ารักษาโควิด 1 แสน-1ล้านบาทต่อราย

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า สปสช. มีหน้าที่จัดสรรงบประมาณให้โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ขอยืนยันว่า คนไทยทุกคนมีสิทธิได้รับการตรวจคัดกรองฟรีในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน ทั้งในผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อ ผู้ที่มีความเสี่ยง เข้าไปในสถานที่เสี่ยง หรือสัมผัสผู้ติดเชื้อ ไปจนถึงการตรวจตามดุลยพินิจของแพทย์ และหากติดเชื้อก็จะต้องรักษาฟรีในโรงพยาบาลทุกสังกัด โดยทางโรงพยาบาลจะมาเรียกเก็บกับสปสช. ตามอัตราที่มีการตกลงกับสถานพยาบาลทุกสังกัด และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งสปสช. ได้เตรียมงบประมาณไว้หมดแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะต้องเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากประชาชน

"สปสช. มีการปรับระบบจ่ายเงินให้กับสถานพยาบาลเอกชนให้เร็วขึ้น โดยตัดรอบบิลทุก 2 สัปดาห์ และรอบล่าสุดจะจ่ายในวันที่ 7 พ.ค. อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงบางราย มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 1 ล้านบาท ขณะที่บางรายอาการไม่รุนแรง ก็เฉลี่ยรายละ 1 แสนบาท โดยสปสช. ได้สำรองงบประมาณไว้สำหรับกรณีโควิด-19 ราว 1.1 หมื่นล้าน และได้เบิกจ่ายไปแล้ว 7 พันล้านบาท ครึ่งหนึ่งเป็นค่าตรวจคัดกรอง และอีกครึ่งเป็นค่าตรวจรักษา"นพ.จเด็จ กล่าว

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ขอให้ประชาชนทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ที่จัดเป็นโรคระบาดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ขอให้เข้าใจระบบการรักษาอาจไม่สะดวกสบายเหมือนกับโรคอื่นตามปกติ ที่สามารถเลือกบริการเสริม เช่น ห้องพิเศษ ห้องพักเดี่ยว ห้องที่ญาติเข้าเยี่ยมได้ ซึ่งกรณีนี้สำหรับโควิด-19 อาจทำไม่ได้ เพราะญาติที่มาเฝ้า อาจมีการติดเชื้อ และผู้ป่วยบางรายต้องอยู่ในห้องความดันลบเท่านั้น