รพ.เอกชนเร่งจัดหา ’วัคซีน’ คาดได้ล็อตแรกปลาย พ.ค.

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน น.พ. เฉลิม หาญพาณิชย์ ระบุ จากวัคซีนที่รัฐบาลต้องการจัดหา100 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ คิดเป็นประชากร 50 ล้านคน แต่เชื่อว่าต้องมีการจัดหาให้เป็น2เท่าเมื่อรวมกับวัคซีนทางเลือกของเอกชน

นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน น.พ. เฉลิม หาญพาณิชย์ ระบุ จากวัคซีนที่รัฐบาลต้องการจัดหา100 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ คิดเป็นประชากร 50 ล้านคน แต่เชื่อว่าต้องมีการจัดหาให้เป็น2เท่าเมื่อรวมกับวัคซีนทางเลือกของเอกชน เพราะยิ่งมีวัคซีนยิ่งมากถือว่ายิ่งดีกว่าไม่พอ

สำหรับในจำนวนดังกล่าวรัฐจะจัดหาคือ แอสตร้าฯ -ซิโนแวค -ไฟเซอร์สและสปุตนิก 5 เนื่องจากผู้ขายต้องการขายให้ภาครัฐ  ส่วนวัคซีนทางเลือกที่เอกชนนำเข้ามาเองได้มีโมเดอร์นาระบุขายให้ภาครัฐคือองค์การเภสัชก่อน แล้วเอกชนจึงซื้อต่อ และซิโนฟาร์มเอกชนสามารถติดต่อผู้ผลิตได้เองแต่ต้องมีหนังสือรับรองจากภาครัฐประกอบ

‘วัคซีนที่จัดก่อนหน้านี้น้อยไม่ถึง50 ล้านคนของประชากรแต่เมื่อมีการหารือกับรัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการวัคซีนทางเลือกเห็นควรจะจัดหาวัคซีนเป็น 2 เท่า’

ด้านกรรมการผู้จัดการ บมจ.โรงพยาบาลวิภาวดี พิจิตต์ วิริยะเมตตากุล ระบุ โรงพยาบาลวิภาวดีได้เจรจากับบริษัท ซิลลิค ฟาร์ม ที่จะมีการซื้อวัคซีนโมเดอร์นามาฉีดให้กับประชาชนที่เสียค่าใช้จ่ายเองในการฉีดเองกับโรงพยาบาลวิภาวดี

หากได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาในเดือนพ.ค.2564 คาดว่าจะนำเข้ามาได้ในเดือนก.ย หรือต.ค.2564 โดยกระบวนการซื้อวัคซีนโมเดอร์น่านั้น โรงพยาบาลวิภาวดีจะแจ้งยอดให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้สั่งซื้อในราคาที่องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้เจรจา

สำหรับเบื้องต้นเจรจาราว 1 ล้านโดส ซึ่งที่ผ่านมามีผู้สนใจที่ยอมเสียค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนเองกับโรงพยาบาลวิภาวดีเป็นหลักหมื่นคน ซึ่งขณะนี้ต้องมีการสรุปตัวเลขอีกครั้งหนึ่ง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำระบบแอปพลิเคชั่นให้ประชาชนเข้ามาลงทะเบียนว่าจะฉีดวัคซีนที่เรานำเข้ามา หรือ จะฉีดวัคซีนของภาครัฐ เพราะทางโรงพยาบาลวิภาวดีก็จะมีการช่วยภาครัฐในการฉีดวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามาฉีดให้กับประชาชนฟรีด้วย

ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาอยู่ที่กับทางโรงพยาบาลวิภาวดีเริ่มลดลง เพราะมีผู้ที่ติดโควิด-19ที่รักษาตัวหายแล้วก็มีทยอยออกไปบ้างแล้ว ขณะนี้เหลือผู้ป่วยที่รักษาโรงพยาบาลวิภาวดีและฮอสพิเทลประมาณ200 คน ซึ่งยังมีเตียงสามารถรองรับผู้ป่วยได้ ยังไม่ต้องขยายเพิ่ม

ด้านประธานกรรมการ บมจ. ธนบุรีเฮลท์แคร์ กรุ๊ป นายแพทย์บุญ วนาสิน ระบุ ได้ติดต่อขอซื้อวัคซีนโควิด-19 ของ“โมเดอร์นา” โดยให้โรงพยาบาลกรุงเทพเป็นตัวแทนจำนวน 5 ล้านโดส ซึ่งได้หารือกับองค์การเภสัชกรรมให้เป็นผู้นำเข้ามาให้เนื่องจากประเทศไทยยังติดในเรื่องที่ต้องให้ภาครัฐเป็นคนนำเข้ามาให้เอกชนไม่สามารถนำเข้าวัคซีนได้เอง

คาดว่าล็อตแรกจะได้รับการส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นาผ่านทางรพ.กรุงเทพนำเข้ามาประมาณ 1 ล้านโดสก่อนในช่วงปลายเดือนพ.ค.นี้ และธนบุรีจะได้รับการจัดสรรล็อตแรกก่อนสัดส่วนราว 50,000-100,000 โดส ในการฉีดให้กับประชาชนที่จองฉีดวัคซีน ซึ่งปัจจุบันมีผู้จองฉีดวัคซีนกับธนบุรีจำนวนมาก คาดว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะอนุมัติให้ก่อนวันที่ 10 พ.ค.นี้ หลังยื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ในไทยแล้ว

“เราคุยกับประธานของ บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา เองว่าขอแบ่งซื้อวัคซีนโควิด-19 โมเดอร์นามาก่อน จำนวน 5 ล้านโดส แต่ไม่ต้องส่งมอบให้เราทั้งหมดภายในครั้งเดียว แต่ให้ทยอยส่งมอบให้เราก่อน โดยคาดปลายเดือนนี้จะได้มา 1 ล้านโดส และเราจะได้รับการจัดสรรมาจากรพ.กรุงเทพประมาณ 50,000-100,000 โดส  โดยถือว่าได้เร็วเพราะปกติต้องจองคิววัคซีนประมาณ 4 เดือน โดยตั้งเป้าว่า 5 ล้านโดสที่นำเข้ามาจะฉีดได้ครบในเดือนส.ค.นี้”

ขณะที่เตียงรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ตอนนี้ใกล้เต็มแล้ว แม้ธนบุรีจะเป็นรพ.เอกชนรายแรกๆ ที่เตรียมความพร้อมรองรับการระบาดโควิด-19 มาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ต้องยอมรับว่าคนไข้เพิ่มขึ้นจำนวนมากโดยเฉพาะคนไข้อาการหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยปัจจุบันโรงพยาบาลในเครือทั้งหมดมีห้องไอซียูจำนวน 100 กว่าห้อง ทว่าตอนนี้อีกเรื่องที่ต้องบริหารจัดการให้ดีคือบุคลากรที่เหนื่อยล้ามาก