เปิดแผน'อียู'ฟื้นท่องเที่ยว-รับผู้ฉีดวัคซีนครบโดสมิ.ย.นี้

เปิดแผน'อียู'ฟื้นท่องเที่ยว-รับผู้ฉีดวัคซีนครบโดสมิ.ย.นี้

เปิดแผน'อียู'ฟื้นท่องเที่ยว-รับผู้ฉีดวัคซีนครบโดสมิ.ย.นี้ ขณะเดนมาร์กเลิกใช้วัคซีนต้านโควิดของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันในโครงการฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วประเทศ

คณะกรรมาธิการของสหภาพยุโรป(อีซี)เสนอให้ชาติสมาชิกผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเดือนมิ.ย. เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าอียูได้มากขึ้น ด้วยความหวังว่าจะฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อนนี้ จากมาตรการการเดินทางในปัจจุบันที่อนุญาตให้ประชาชนจาก 7 ประเทศเท่านั้นที่เข้าเขตอียูได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 แล้วหรือยัง แต่ต้องรับการตรวจหาเชื้อหรือกักตัวก่อน ใน7ประเทศนี้ รวมออสเตรเลีย และสิงคโปร์ด้วย

"เออร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน" ประธานอีซี ส่งข้อความทางทวิตเตอร์ว่า “ถึงเวลาที่จะฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและทำให้มิตรภาพข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้นใหม่มีความปลอดภัย”

ภายใต้ข้อเสนอนี้ อียูจะเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดส โดยเป็นวัคซีนที่อียูรับรองเพื่อเดินทางเข้าเขตอียูและอียูอาจเพิ่มวัคซีนของบริษัทอื่นที่องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ)รับรองในอนาคต

นอกจากนี้ อียูยังเปิดรับบุคคลที่มาจากประเทศที่มีสถานการณ์การระบาดของโรคอยู่ในเกณฑ์ดีให้เข้าประเทศได้ แต่ข้อเสนอนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากชาติสมาชิกอียู โดยชาติสมาชิกอียูจะหารือกันในวันอังคารที่ 4 พ.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งบรรดาเจ้าหน้าอียูหวังว่าจะสามารถอนุมัติได้ภายในเดือนพ.ค.นี้

ที่ผ่านมา อียูประกาศมาตรการใหม่สำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้ามาในยุโรปทั้งเพื่อท่องเที่ยวหรือติดต่อธุรกิจต่าง ๆโดยให้สามารถใช้วัคซีนพาสปอร์ตได้ และผู้ที่จะได้รับวัคซีน พาสปอร์ตคือผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 มาแล้ว หรือเพิ่งผ่านการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาและมีผลเป็นลบ

แนวคิดเรื่องวัคซีน พาสปอร์ตถูกนำมาหารือในการประชุมของชาติสมาชิกอียูเมื่อไม่นานมานี้ และผ่านความเห็นชอบของประเทศสมาชิกทั้งหมดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนจะออกเป็นหนังสือเดินทางพิเศษภายในสามเดือนข้างหน้า

ชาติสมาชิกอียูทั้ง27 ประเทศต้องการรวมประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอียู อาทิ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ไว้ในโครงการวัคซีนพาสปอร์ตนี้ด้วย ส่วนคณะเจ้าหน้าที่อียู กล่าวเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่าผู้ที่เดินทางจากสหรัฐและได้รับการฉีดวัคซีนแล้วอาจจะได้รับอนุญาติให้เดินทางเข้ายุโรปได้ในฤดูร้อนนี้

ก่อนหน้านี้ อิสราเอล เป็นประเทศที่นำวัคซีนพาสปอร์ตออกมาใช้สำหรับประชาชนที่ผ่านการฉีดวัคซีนแล้ว โดยใช้ชื่อว่า“กรีนพาส” หากใครได้กรีนพาสจะสามารถเข้าชมการแข่งขันกีฬา คอนเสิร์ต หรือการแสดงต่าง ๆ รวมทั้งนั่งรับประทานอาหารตามร้านอาหารได้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นวัคซีนพาสปอร์ตยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างมากในกลุ่มประเทศสมาชิกอียู สมาชิกบางประเทศโต้แย้งว่า การออกวัคซีนพาสปอร์ตเป็นเรื่องเร็วเกินไป เนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดถึงประสิทธิภาพของวัคซีนต้านโควิด-19 ว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อในระยะยาวได้มากน้อยเพียงใด ขณะที่บางประเทศบอกว่าเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมที่คนฉีดวัคซีนแล้วสามารถเดินทางไปไหนก็ได้อย่างอิสระ ส่วนคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนต้องกักตัวภายใต้มาตรการควบคุมที่เข้มงวด

การฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของชาติสมาชิกอียู ทำไปพร้อมๆกับการฉีดวัคซีนให้ประชาชน ซึ่งวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ที่ผ่านการอนุมัติจากอียูในขณะนี้ มีด้วยกัน 4 ตัวคือ วัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค โมเดอร์นา อ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า และแจนส์เสน/เจแอนด์เจ วัคซีนทุกตัวกำหนดให้ฉีดสองเข็ม ยกเว้นวัคซีนที่ฉีดเข็มเดียวของเจแอนด์เจ

แต่ล่าสุด สำนักงานด้านสุขภาพของเดนมาร์ก ตัดสินใจยกเลิกการใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (เจแอนด์เจ) ในโครงการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศ

"เฮลีน พร็อบส์“ รองผู้อำนวยการสำนักงานด้านสุขภาพของเดนมาร์ก กล่าวว่า ”เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบันในเดนมาร์ก สิ่งที่เราสูญเสียไปในความพยายามที่จะป้องกันการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงจากโรคโควิด-19 เทียบไม่ได้กับความเสี่ยงของผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการอุดตันของลิ่มเลือดอย่างรุนแรงในผู้ที่เราฉีดวัคซีนให้ และท่ามกลางการแพร่ระบาด นี่เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่เราต้องยุติการใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าไปก่อนหน้านี้”

สำนักงานด้านสุขภาพเดนมาร์ก ตัดสินใจยกเลิกการใช้วัคซีนของเจแอนด์เจ เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า ประโยชน์ของวัคซีนนั้น ไม่ได้มากไปกว่าความเสี่ยง หลังจากที่สำนักงานยาแห่งยุโรป (อีเอ็มเอ) สรุปว่า มีความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ระหว่างกรณีลิ่มเลือดอุดตันที่รุนแรงแม้ไม่พบบ่อย กับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของเจแอนด์เจ

การตัดสินใจของสำนักงานด้านสุขภาพจะส่งผลกระทบกับกลุ่มประชาชนที่มีอายุ 20-39 ปี ซึ่งจะเจอปัญหาความล่าช้าในการฉีดวัคซีนประมาณ 4 สัปดาห์แต่สำนักงานด้านสุขภาพ ระบุว่า การตัดสินใจครั้งนี้ไม่ได้เป็นการปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ว่าวัคซีนของเจแอนด์เจอาจจะถูกนำกลับมาใช้ในภายหลัง

เมื่อวันที่ 14 เม.ย.เดนมาร์ก ตัดสินใจยุติการใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ทำให้ปัจจุบันโครงการฉีดวัคซีนอย่างเป็นทางการของเดนมาร์ก ใช้วัคซีนจากไฟเซอร์/ไบออนเทค และของโมเดอร์นา