ดอลล์แข็งค่าขานรับ'เยลเลน'หนุนขึ้นดอกเบี้ย

ดอลล์แข็งค่าขานรับ'เยลเลน'หนุนขึ้นดอกเบี้ย

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (4 พ.ค.) หลังจากนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวแสดงความเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยอาจจำเป็นต้องปรับตัวเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐร้อนแร

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.39% แตะที่ 91.3005 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.30 เยน จากระดับ 109.10 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9136 ฟรังก์ จากระดับ 0.9110 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2310 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2274 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2010 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2066 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3889 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3913 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7704 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7765 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์ได้รับแรงหนุนหลังจากนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เปิดเผยในงานสัมมนาของนิตยสารดิแอตแลนติกว่า อัตราดอกเบี้ยอาจจำเป็นต้องปรับเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐร้อนแรงเกินไป อันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ อย่างไรก็ดี นางเยลเลนมองว่า แม้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจทำให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป แต่สหรัฐจำเป็นต้องมีมาตรการเหล่านี้เพื่อให้แข่งขันกับประเทศอื่นๆได้

นับตั้งแต่ที่โรคโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในเดือนมี.ค.ปีที่แล้ว สภาคองเกรสสหรัฐได้จัดสรรงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วประมาณ 5.3 ล้านล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังพยายามผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินรวม 4 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อเยียวยาชาวสหรัฐที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมทั้งเพิ่มการจ้างงานและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้วย

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐเพิ่มขึ้น 5.8 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1.1% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน แตะที่ 5.129 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค. แต่น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.3%

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า สหรัฐขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 5.6% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7.44 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการในสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นจนทำให้ต้องนำเข้าเพิ่มขึ้น