ภูเก็ตโมเดล คนรอด เศรษฐกิจรอด

ภูเก็ตโมเดล คนรอด เศรษฐกิจรอด

ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ยังอยู่ในช่วงวิกฤติ อัตราของผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังคงสูง สิ่งสำคัญรัฐต้องบริหารจัดการวัคซีนโควิดอย่างเป็นระบบ ที่อาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนและต่างประเทศ ก่อนที่จะนำร่องเปิดประเทศอย่างภูเก็ตโมเดลที่จะเกิดขึ้นในเดือน ก.ค.

การเปิดประเทศเต็มรูปแบบให้ได้ภายในวันที่ 1 ม.ค.2565 เป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาล ภาคเอกชนและคนไทย โดยเฉพาะผู้บริหารประเทศที่ต้องทำหน้าที่เป็นตัวหลักในการต่อสู้กับโควิด ในฐานะที่อาสาเข้ามาทำงาน ทำอย่างไรไม่ให้ระบบสาธารณสุขล่ม ชีวิตของประชาชนปลอดภัย ขณะเดียวกันเศรษฐกิจประเทศไม่ล่มสลาย แผนการเปิดประเทศที่วางไว้ เริ่มจากการนำร่องใน จ.ภูเก็ต ที่วันนี้อยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะเดินหน้ามากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของศูนย์บริหารเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 (ศบศ.) ที่กำลังประเมินสถานการณ์โควิดโดยรวม เกิดเป็น 2 แนวทางที่อาจปรับเปลี่ยนตามการแพร่ระบาดกับความคืบหน้าในการกระจายวัคซีน

เบื้องต้น 2 แนวทางการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ นำร่องแบ่งเป็น กรณีที่ 1 การระบาดของโควิดในประเทศลดลงเป็นที่น่าพอใจ จะเดินหน้าแผนการให้นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนและมีผลตรวจโควิดเป็นลบ สามารถท่องเที่ยวในเกาะภูเก็ตแบบไม่ต้องกักตัว ระยะเวลา 7-10 วัน ก่อนเดินทางไปจังหวัดอื่นได้ เงื่อนไขต้องควบคู่ไปกับการกระจายวัคซีนให้บุคลากรด้านท่องเที่ยวและประชากรในภูเก็ตครอบคลุม กรณีที่ 2 หากโควิดไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย การเปิดประเทศในพื้นที่ภูเก็ตช่วงเดือน ก.ค.นี้ จะทำได้แค่ให้นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่จำกัด และกำหนดมาตรการที่เหมาะสม

ความพร้อมในพื้นที่ขณะนี้ นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ยืนยันการเปิดเกาะในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ได้เริ่มดำเนินการเพื่อรองรับแผนดังกล่าวมาตั้งแต่เดือน เม.ย. มีการใช้มาตรการตรวจคัดกรองทั้งทางบกและทางอากาศ ขณะเดียวกันได้ทำงานเชิงรุก ตรวจค้นหาผู้เสี่ยงสัมผัสไปกักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดหาไว้ เพื่อให้การเป็นพื้นที่สีแดงกลับมาเป็นพื้นที่สีเขียวให้เร็วที่สุด ผู้ว่าฯ ยืนยันมีความคืบหน้าที่น่าพอใจ ส่วนการฉีดวัคซีนล่าสุดมากกว่า 1 แสนคน อยู่ระหว่างการรอวัคซีนรอบเดือน พ.ค.นี้ หากทางการจัดส่งมาตามเป้าหมาย การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับชาวภูเก็ตด้วยการฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ของประชากรจะใช้วัคซีนประมาณ 9 แสนโดส ก็จะทำให้มั่นใจว่าสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ตามกำหนด

เราเห็นว่าสถานการณ์ในขณะนี้ ถ้าดูอัตราการเสียชีวิตกับยอดติดเชื้อ ต้องยอมรับว่าโควิดยังอยู่ในช่วงวิกฤติ สิ่งสำคัญต้องปรับปรุงการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อให้แนวโน้มการเข้ามาของวัคซีน 100 ล้านโดสเป็นจริงตามที่รัฐบาลแถลงไว้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนและต่างประเทศ เมื่อเกิดความเชื่อมั่นในเรื่องดังกล่าวก็จะเกิดความร่วมมือจากประชาชนในการรับวัคซีน ระยะเวลาที่เหลือประมาณ 2 เดือน กว่าจะถึงเดือน ก.ค. ก็มีโอกาสที่โครงการนำร่องภูเก็ตคลอดได้ในวันที่ 1 ก.ค.2564 เราเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องนำบทเรียนความผิดพลาดในรอบปีกว่าที่ผ่านมา แก้ไขปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ หยุดวิ่งตามปัญหา อย่างวันนี้โควิดคลองเตยส่อแวววิกฤติ การระดมสรรพกำลังระหว่างรัฐ กทม. สาธารณสุข และเอกชน เป็นสิ่งจำเป็น อาจจะต้องทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้คลองเตยลามเป็นคลัสเตอร์ใหม่ ถ้าทำได้ ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ จะไม่แท้ง