เกาะติด ‘อังกฤษ’ เจ้าภาพ G7 ย้ำความเท่าเทียมเข้าถึงวัคซีน

เกาะติด ‘อังกฤษ’ เจ้าภาพ G7 ย้ำความเท่าเทียมเข้าถึงวัคซีน

"อังกฤษ" เป็นเจ้าภาพ G7 จับมือประเทศสมาชิก ย้ำความสำคัญการเข้าถึงวัคซีนโควิดเท่าเทียม ร่วมตั้งเป้าหมายรับความท้าทายด้านการเงิน เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หนุนให้การศึกษาเด็กผู้หญิง และตกลงแนวทางจะยกระดับด้านสุขภาพอนามัยทั่วโลก

บรรดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี7) ทยอยเดินทางมาถึงกรุงลอนดอนในสัปดาห์นี้ เพื่อเข้าร่วมการประชุมจี7 แบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี 

การประชุมนี้ จัดขึ้นในสถานที่ใจกลางกรุงลอนดอน ตั้งแต่วันที่ 3 - 5 พฤษภาคม 2564 โดยมีมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มงวด นายโดมินิค ราบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาของอังกฤษ จะใช้โอกาสนี้ตั้งเป้าหมายที่ท้าทายด้านการเงิน เพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) และการศึกษาของเด็กผู้หญิง รวมทั้งตกลงแนวทางร่วมกันที่จะยกระดับด้านสุขภาพอนามัยทั่วโลก และหามาตรการใหม่ ๆ เพื่อป้องกันปัญหาความอดอยาก 

162013402432

นายราบ จะนำรัฐมนตรีจากประเทศประชาธิปไตยแถวหน้าของโลกหาข้อสรุปร่วมกัน รวมทั้งผู้แทนจากกลุ่มประเทศอาเซียนที่จะเข้าร่วมเป็นครั้งแรก

การประชุมกลุ่มจี7 ครั้งย่อยนี้ เป็นโอกาสให้อังกฤษใช้ทั้งแนวทางการทูต และการพัฒนา เพื่อพัฒนาคืบหน้าไปสู่เป้าหมายที่อังกฤษตั้งไว้ ในฐานะประธานกลุ่มจี7 นั่นคือ การร่วมฟื้นฟูโลกให้กลับมาดียิ่งขึ้น ภายหลังการระบาดของโควิด-19 โดยหวังให้เกิดความคืบหน้า ก่อนการประชุมผู้นำจี7 ที่คอร์นวอลล์ ประเทศอังกฤษ ในเดือนมิถุนายนนี้

นายราบ กล่าวว่า การประชุมจี7ในสัปดาห์นี้จะตอกย้ำให้เห็น “โกลบอลบริเทน” หรือสหราชอาณาจักรบนเวทีโลก ที่นำผู้นำโลกประชาธิปไตยมารวมตัวกันเพื่อจัดการกับปัญหาที่เรามีร่วมกัน

“เราจะลงมือดำเนินการเพื่อทำให้แน่ใจว่าทั่วโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียม ตั้งเป้าหมายเพิ่มการศึกษาของเด็กผู้หญิงทั่วโลก หาข้อตกลงในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและออกมาตรการใหม่ ๆ เพื่อป้องกันปัญหาความอดอยาก” รมว.ต่างประเทศอังกฤษ ระบุ

162013404641

มีรายงานว่า ตลอดทั้งการประชุมจะมีการใช้มาตรการการป้องกันการระบาดของโควิด-19 เพื่อสุขอนามัยของเจ้าหน้าที่ ผู้เข้าร่วมประชุม และสาธารณชน รวมไปถึงการตรวจหาเชื้อไวรัส ณ สถานที่จัดการประชุม การใช้มาตรการเว้นระยะห่าง และการใช้ฉากใสกั้นระหว่างผู้เข้าประชุม 

การประชุมครั้งนี้ ยังมีการจำกัดจำนวนคณะผู้แทนในการประชุมอย่างเคร่งครัดและผู้เข้าประชุมจะได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสอย่างสม่ำเสมอ การประชุมนี้จะเป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินกิจกรรมทางการทูตอย่างปลอดภัยใน ขณะที่เราฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19

นอกจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนํา 7 ประเทศ ประกอบด้วย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหรัฐ และสหราชอาณาจักร บวกกับสหภาพยุโรป (อียู) แล้ว ทางรมว.ต่างประเทศอังกฤษ ยังได้เชิญออสเตรเลีย อินเดีย เกาหลีใต้ แอฟริกาใต้ และประธานอาเซียนเข้าร่วม บางส่วนของการประชุมจี7 ในฐานะแขกรับเชิญอีกด้วย

การเข้าร่วมประชุมของแขกรับเชิญถือเป็นตัวแทนของประเทศต่าง ๆ ที่ขยายกว้างขึ้นทางภูมิศาสตร์ ซึ่งล้วนมุ่งมั่นจะปฏิรูปและปกป้องระเบียบโลกที่ส่งเสริมให้สังคมเปิดกว้างและเศรษฐกิจเฟื่องฟูทั้งยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในการปกปักษ์รักษาค่านิยมและบรรทัดฐานที่มีร่วมกัน

162013446918

ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ นายราบจะจัดการประชุมระดับทวิภาคีกับรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของประเทศกลุ่มจี7 และแขกรับเชิญแต่ละประเทศ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (3 พ.ค.) นายราบได้พบกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ นายแอนโทนี บลิงเคน ในลอนดอน เพื่อหารือด้านการค้า รวมทั้งประเด็นจีน อัฟกานิสถานและอิหร่าน

นายราบยังได้ประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น นายโทชิมิทสึ โมเทกิ ที่คฤหาสน์ชีฟนิ่ง (Chevening House) เพื่อหารือความร่วมมือด้านการค้าและความมั่นคงให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และหาข้อตกลงในด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

162013425056

นอกจากนี้ นายโดมินิค ราบจะพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย ดร.สุพรหมณยัม ชัยศังกร ที่คฤหาสชีฟนิ่งเช่นกัน เพื่อหารือความมุ่งมั่นของอังกฤษในการทำงานร่วมกับอินเดีย หลังจากที่นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษได้ให้คำมั่นว่าจะให้การสนับสนุนอินเดีย เพื่อต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19