‘สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย’ ปลุกจุดยืนใหม่สื่อมวลชน

‘สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย’ ปลุกจุดยืนใหม่สื่อมวลชน

เปิดตัว “สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย” สายสื่อ-ศิลปวัฒนธรรม-งานสร้างสรรค์ทุกแขนงร่วมลงชื่อก่อตั้งกว่า 203 คน แถลงจุดยืนเชื่อมั่นในหลักสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค และประชาธิปไตย

เพราะสื่อคือสิทธิ เสรีภาพ และความถูกต้อง ท่ามกลางความท้าทายของวงการสื่อมวลชน จึงก่อเกิดเป็น สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย (DemAll) โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งรวม 203 คนจากวงการการเขียน ศิลปวัฒนธรรม งานข่าว งานสร้างสรรค์ และงานสื่อสารมวลชนทุกแขนง อาทิ สุชาติ สวัสดิ์ศรี (ศิลปินแห่งชาติ), ศรีดาวเรือง, อธึกกิต แสวงสุข (ใบตองแห้ง), นิธินันท์ ยอแสงรัตน์, เวียง - วชิระ บัวสนธ์, อธิคม คุณาวุฒิ, ปราบดา หยุ่น, ศรายุทธ ตั้งประเสริฐ, วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, อุทิศ เหมะมูล, อุรุพงศ์ รักษาสัตย์, นคร โพธิ์ไพโรจน์, นักรบ มูลมานัส, ธนชาติ ศิริภัทราชัย, ธิดา ผลิตผลการพิมพ์, ตะวัน วัตุยา, กฤช เหลือลมัย, วรรณแวว และ แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์, วิจักขณ์ พานิช, ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข และพวงสร้อย อักษรสว่าง เป็นต้น

นอกจากการรวมตัวกันด้วยวัตถุประสงค์เพื่อจุดประกายจุดยืนของสื่อมวลชนแล้ว "สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย" ยังเป็นการประกาศถึงข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ เสรีภาพด้วย

  • แถลงการณ์สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย

"สืบเนื่องจากสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองสั่งสมข้ามทศวรรษ กระทั่งมาถึงวันที่รัฐและสถาบันหลักของประเทศแสดงท่าทีชัดเจนว่า จงใจเลือกปฏิบัติคุกคามประชาชนผู้เห็นต่างกับอำนาจรัฐ โดยบิดเบือนทุกหลักการสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ ภายใต้สถานการณ์ต่อเนื่องยาวนานดังกล่าว องค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับบทบาทหน้าที่ในการส่งเสียงแสดงจุดยืน หลักการ และความคิดเห็น กลับวางตัวเงียบเฉย

ในนามของกลุ่มบุคคลผู้ทำงานด้านการเขียน ศิลปวัฒนธรรม งานข่าว งานสร้างสรรค์ และงานสื่อสารมวลชนทุกแขนง เราจึงรวมตัวก่อตั้ง สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย โดยมีวัตถุประสงค์เบื้องต้นดังนี้

หนึ่ง เพื่อใช้วิชาชีพร่วมผลักดันกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตย สอดคล้องกับหลักอารยะสากลให้คุณค่าหลักสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ไม่มีใครได้รับข้อยกเว้นอยู่เหนือกฎหมาย

สอง เพื่อยืนยันว่าอาชีพด้านการเขียน ศิลปวัฒนธรรม งานข่าว งานสร้างสรรค์และงานสื่อสารมวลชนทุกแขนง เป็นวิชาชีพจำเป็นต้องทำงานภายใต้บรรยากาศสังคมที่มีเสรีภาพ ทั้งนี้เพราะเสรีภาพเท่านั้นที่จะเปิดประตูให้เกิดผลงานความคิดสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางในการตรวจสอบซึ่งกันและกัน

สาม เพื่อให้เกิดการผนึกกำลังกันอย่างกว้างขวางและแข็งแรงในวิชาชีพ สนับสนุนช่วยเหลือและปกป้องความปลอดภัยในการทำหน้าที่ของสื่อทุกแขนง จากการลิดรอนคุกคามของทั้งรัฐและทุน ทั้งด้านสิทธิเสรีภาพและสวัสดิภาพในการดำรงชีวิตที่ดี

ทั้งนี้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่อำนาจรัฐเลือกใช้มาตรการเดินหน้าจับกุมคุมขังประชาชน ในคดีการชุมนุมแสดงออกทางการเมือง โดยใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 อันเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่มีปัญหาในตัวมันเอง เนื่องจากขัดแย้งกับหลักสิทธิพื้นฐานที่ทั่วโลกยอมรับเกือบทุกข้อ อีกทั้งยังมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาซึ่งขัดกับหลักพื้นฐานสำคัญในการดำเนินคดีทางอาญาที่ว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ยังไม่ต้องกล่าวว่า บทลงทัณฑ์ขั้นริบอิสรภาพนี้ เพียงเพราะจำเลยเอ่ยพูดต่อหน้าสาธารณะให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

เราขอยืนยันว่า กฎหมายและหลักนิติรัฐเป็นเครื่องมือสำคัญในการหาข้อตกลงเพื่ออยู่ร่วมกันภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย หากกฎหมายและหลักนิติรัฐไม่ถูกบังคับใช้อย่างยุติธรรมเสมอหน้า แต่กลับสำแดงท่าทีคุกคามข่มเหงประชาชน นั่นยิ่งเท่ากับเติมเชื้อไฟให้ความขัดแย้งปะทุรุนแรง

ในนามสมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย ข้อเรียกร้องแรกของเราคือ จงปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมด และหยุดข่มขู่คุกคามประชาชนผู้เห็นต่างกับรัฐบาล ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด

ด้วยความเชื่อมั่นในหลักสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค และประชาธิปไตย"

ติดตามรายละเอียด “สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย” (DemAll) ได้ทาง Facebook : DemAllDemocracyAlliance / Twitter : @demallalliance / IG : demallalliance