“พลังงาน”เตรียมตัดสิทธิโรงไฟฟ้าขยะชุมชนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่ทันสิ้นปี

“พลังงาน”เตรียมตัดสิทธิโรงไฟฟ้าขยะชุมชนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่ทันสิ้นปี

“พลังงาน” เล็งตัดสิทธิโครงการขยะชุมชนนำร่อง (Quick Win)จำนวน 11 โรง กำลังผลิต 83.04 เมกะวัตต์ หากCODไม่ทันกำหนด ธ.ค.นี้ เร่งจัดทำหลักเกณฑ์เปิดรับซื้อไฟโควตาใหม่ 400 เมกะวัตต์ ชง กพช. มิ.ย.นี้ ก่อนเปิดยื่นเสนอโครงการครึ่งปีหลัง

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า โครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Quick Win Projects)จำนวน11 โรง กำลังผลิต 83.04 เมกะวัตต์ ที่มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) เดือน ธ.ค.2564 เบื้องต้นได้รับรายงานจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ว่ามีโครงการที่สามารถดำเนินการCODไปเรียบร้อยแล้ว ประมาณ 3 โครงการ คิดเป็นกำลังผลิตเสนอขายรวม อยู่ที่ 12.4 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 1.บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ตั้งอยู่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช กรุงเทพฯ มีกำลังผลิตติดตั้ง 3.3 เมกะวัตต์ และเสนอขายไฟฟ้า 3 เมกะวัตต์ ดำเนินการCODเมื่อ31 มี.ค.2563

2.บริษัท บุญ เอนเนอร์ซิส จำกัด ตั้งอยู่องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)นนทบุรี ต.คลองขวาง อ.ไทรน้อย มีกำลังผลิตติดตั้ง 6.24 เมกะวัตต์ เสนอขายไฟฟ้า 5 เมกะวัตต์ ดำเนินการCODเมื่อ 16 เม.ย.2563

3.บริษัท อัลไลแอนซ์ คลีนเพาเวอร์ จำกัด (จ.กระบี่) กำลังผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์ เสนอขายไฟฟ้า 4.4 เมกะวัตต์ ดำเนินการCODเมื่อ 28 ธ.ค.2563

คาดว่าQuick Win Projectsคงไม่สามารถCODได้ทันกำหนดครบ 11 โครงการในสิ้นปีนี้ และหากไม่มีเหตุผลเพียงพอก็คงจะต้องตัดสิทธิโครงการที่ไม่สามารถดำเนินการได้ทัน

ทั้งนี้ โครงการQuick Winสำนักงาน กกพ.ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้า ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค.2560-30 ก.ย.2561 และจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคัดเลือกภายในวันที่ 31 ต.ค.2561 โดยกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศข้อมูลพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเข้าร่วมโครงการQuick Winจำนวน 8 พื้นที่ ได้แก่ 1.องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาลตำบลนครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา,2.อบจ.นนทบุรี (2)-(3),3.อบจ.ระยอง,4.อบจ.หนองคาย,5.เทศบาลเมืองกระบี่ จ.กระบี่,6.เทศบาลนครแม่สอด จ.ตาก,7.เทศบาลนครอุดรธานี จ.อุดรธานี และ 8.ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม และศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช จ.กรุงเทพมหานคร

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า โครงการQuick Winเป็นการเปิดรับซื้อไฟฟ้าตามโควตาในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ(PDP) เดิม ที่กำหนดรับซื้อไฟฟ้า 500 เมกะวัตต์ ซึ่งยอมรับว่าโควตาในส่วนนี้ได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าไปหมดแล้ว แต่มีบางโครงการที่ไม่สามารถดำเนินการได้จริง คาดว่า จะมีโควตาเหลืออยู่ประมาณเกือบ 100 เมกะวัตต์ ซึ่งทางกระทรวงพลังงาน จะต้องสั่งการให้ กกพ.รวบรวมข้อมูลที่ชัดเจน ก่อนพิจารณาว่า จะนำโควตาเหล่านี้ มาเปิดรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมอย่างไร

รายงานข่าว ระบุว่า กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) อยู่ระหว่างกำหนดหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ในด้านราคาและปริมาณรับซื้อไฟฟ้า พร้อมประสานงานกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 (PDP 2018)ฉบับปรับปรุงครั้งที่1ที่กำหนดปริมาณไว้400เมกะวัตต์ คาดว่าหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้า จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้จากนั้น น่าจะเห็นกระบวนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าเกิดขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) ประมาณ 2-3 ปี เพราะโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน จะต้องดำเนินการขออนุญาตหลายขั้นตอน รวมถึงการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)ซึ่งจะใช้เวลากว่า 2 ปี

อย่างไรก็ตาม การเปิดรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชนนั้น กระทรวงพลังงานจะยึดตาม​ โครงการที่ผ่านการคัดกรองจากทางกระทรวงมหาดไทย ที่เสนอเรื่องเข้ามาเท่านั้น เบื้องต้นมี โครงการที่เสนอมายังกระทรวงมหาดไทยแล้วเกือบ 20 โครงการกำลังผลิตรวมกว่า 200 เมกะวัตต์ส่วนใหญ่เป็นการผลิตไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP)ที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์